รีเซต

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สักการะองค์เทพศักดิ์สิทธิ์คู่กรุงเทพมหานคร

เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ เสาชิงช้า สักการะองค์เทพศักดิ์สิทธิ์คู่กรุงเทพมหานคร
Muzika
17 สิงหาคม 2563 ( 15:33 )
69.8K
2

     ในบริเวณใกล้ๆ กันกับเสาชิงช้านั้น นอกเหนือจากวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญมากๆ ที่อยู่คู่เมืองกรุงเทพมหานครมาช้านาน และมีความเกี่ยวข้องในเชิงประวัติศาสตร์ นั่นคือ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ นั่นเองครับ

 

 

ประวัติเทวสถานโบสถ์พราหมณ์

 

     เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ หรือสำนักพราหมณ์พระราชครูในสำนักพระราชวัง เรียกกันโดยทั่วไปว่า โบสถ์พราหมณ์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2327 โดยรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ เช่นพิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย และพิธีโกนจุก เป็นต้น

 

 

     ด้านหน้าเทวสถานทั้ง 3 มีซุ้มอันเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปพระพรหมตั้งอยู่กลางบ่อน้ำ ด้านหลังนั้นเป็นอาคารทรงไทย 3 หลังที่ปัจจุบันมีอายุอานามมากว่า 200 ปีแล้ว แบ่งเป็น

 

  1. เทวสถานพระอิศวร เป็นโบสถ์หลังใหญ่ของที่แห่งนี้ ภายในมีเทวรูปพระอิศวร ประทับเป็นพระประธานอยู่ตรงกลางแท่น แท่นรองลงมาเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปของ พระอุมาเทวี พระพรหม และพระอิศวร รวมทั้งมีรูปปั้น โคนนทิ กระหนาบอยู่ทั้ง 2 ข้างของแท่น ถัดไปด้านข้างของอาคารหลังนี้ยังมีเทวาลัยพระศิวลึงค์อยู่ด้วย

  2. เทวสถานพระมหาวิฆเณศวร (พระคเณศ) โบสถ์หลังกลาง ภายในมีเทวรูปพระพิฆเนศวรห้าองค์ ทั้งหมดทำด้วยหิน คือ หินเกรนิต 1 องค์ หินทราย 1 องค์ หินเขียว 2 องค์ และสำริด 1 องค์

  3. เทวสถานพระนารายณ์ ภายในประดิษฐานบุษบกสามองค์เคียงกัน ประกอบด้วยเทวรูปพระลักษมี (บุษบกองค์ซ้ายมือ) พระนารายณ์ (บุษบกองค์กลาง) และพระภูมิเทวี (บุษบกองค์ขวามือ) ตรงกลางโบสถ์มีเสาลักษณะคล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม สำหรับใช้ประกอบพิธีช้าหงส์

 

     นับว่าที่เทวสถานนั้นเป็นที่ที่แสดงให้เห็นถึงลัทธิศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย ซึ่งพิธีหลายอย่างได้เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตของคนไทยทั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ลำดับการสักการะบูชาโบสถ์พราหมณ์

 

 

  • ลำดับที่ 1 เริ่มจากการสักการะพระพิฆเนศวร ภายในเทวสถานพระมหาวิฆเณศวร เพราะพระคเณศนับเป็นองค์ประธานของหมู่เทพ ซึ่งเทพทุกองค์ให้พรไว้ว่า หากผู้ใดไม่ได้นมัสการพระพิฆเนศวรก่อนเทพองค์อื่นๆ ก็จะไม่รับฟังคำอธิษฐานของผู้นั้น

  • ลำดับที่ 2 สักการะพระพรหม ที่เทวาลัยพระพรหม

  • ลำดับที่ 3 สักการะพระนารายณ์ ที่เทวสถานพระนารายณ์

  • ลำดับที่ 4 สักการะพระศิวลึงค์ ที่เทวาลัยพระศิวลึงค์

  • ลำดับที่ 5 สักการะพระอิศวร ที่เทวสถานพระอิศวร

 

ข้อปฎิบัติเมื่อเข้าสักการะ

 

 

     เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อสถานที่ และแก่ตนเอง ขอให้ทุกท่านที่เดินทางมาสักการะภายในเทวสถาน ปฎิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้

  • ห้ามจุดธูป และเทียนภายในอาคาร
  • ห้ามบันทึกภาพ และวิดีโอภายในโบสถ์ทั้งสาม
  • ห้ามเข้าทรง
  • ห้ามใช้โทรศัพท์
  • ห้ามสวมหมวก
  • ห้ามสวมรองเท้า
  • ห้ามรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม

 

ภายในโบสถ์พราหมณ์

 

     นอกจากนี้ยังมี หอเวทวิทยาคม อยู่ภายในโบสถ์พราหมณ์อีกด้วย ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมสรรพวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับวรรณคดี พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ทางศาสนาพราหมณ์ โหราศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ใครที่สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาฮินดูได้เลย

 

  • ที่อยู่ : 268 ถนนบ้านดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/dMmB1X7aa5cKD43T6
  • โทร : 0-2222-6951
  • เว็บไซต์ : www.devasthan.org

====================