ก่อนอื่นผู้เขียนขอเล่าประวัติความเป็นมาของ "เขาชีจรรย์" แห่งนี้ เพื่อให้ท่านได้ทราบข้อมูลพื้นฐานก่อนมีใจความว่า “พุทธศักราช 2539 กาลมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร มหาราช ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐสุดของชาวไทย ทรงดำรงสิริราชสมบัติครบ 50 ปี สถิดเสถียรเป็นพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ปกครองสยามรัฐสีมาอาณาจักรยาวนานที่สุด สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฝ่ายพุทธจักร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และทวยราษฎร์ มีจิตเกษมโสมนัสสมานสโมสรสนองพระมหากรุณาธิคุณอันไพศาล ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ หน้าผาหินเขาชีจรรย์ แห่งนี้ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม เป็นพระพุทธมหามิ่งมงคลประจำรัชกาลที่ 9 ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนสืบสนองพระราชดำริ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามว่า “พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา” หมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาที่รุ่งเรือง สว่าง ประเสริฐ ดุจดังมหาวชิระ” มีพระพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธนวราชบพิตร สูง 109 เมตร หน้าตักกว้าง 70 เมตร ฐานพุทธบัลลังก์ สูง 21 เมตร รวมได้ 130 เมตร เมื่อ ณ วันศุกร์ ที่ 23 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ มหาราช ทรงเกษมพระราชศรัทธาถวายพระรัตนะบรมสารีริกธาตุอันประเสริฐรุ่งเรือง อัญเชิญสรรพสิริสวัสดิ์บริสุทธิ์แห่งคุณพระศรีรัตนตรัย เพื่อสถาปกไว้ ณ พระอุระพระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดาให้โชติช่วงเรืองรองประดุจดั่งพระอาทิตย์ทอแสงชัชวาลเป็นนิรันดร์ เมื่อ ณ วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2544 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับสนองพระมหากรุณาธิคุณ อัญเชิญพระรัตนะบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานขึ้นแล้วทรงเบิกพระเนตร บังเกิดสรรพพุทธานุภาพสมบูรณ์จิรัง แผ่ความชุ่มชื่น สราญ ร่มเย็น ทั่วผืนแผ่นดินแห่งพระบวรพุทธศาสนาในดิถีอันเป็นมงคล” ประวัติเรื่องราวทั้งหมดเป็นข้อมูลพื้นฐานของสถานที่แห่งนี้ ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้และศึกษาจนสามารถนำมาบอกต่อเรื่องราวได้ เมื่อท่านได้ทราบประวัติความเป็นมาของ "เขาชีจรรย์" แห่งนี้แล้ว ผู้เขียนจะขอเล่าประสบการณ์การเดินทางและความประทับใจที่ได้มาท่องเที่ยว "เขาชีจรรย์" แห่งนี้ เมื่อท่านเดินทางมาถึง "เขาชีจรรย์" จะมีสถานที่สำคัญอยู่ทั้งหมด 2 แห่ง สถานที่แรก ศาลาบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และปิดทององค์พระ ซึ่งภายในศาลาแห่งนี้ได้อธิบายความหมายของการปิดทององค์พระต่าง ๆ ว่าปิดทองตรงส่วนไหนถึงจะได้อนิสงฆ์อย่างไร โดยผู้เขียนขออธิบายความหมายคร่าว ๆ ดังนี้ 1. ปิดทองในส่วนของพระเศียร (ศีรษะ) มีความหมายว่า สติปัญญาดี ฉลากหลักแหลม 2. ปิดทองในส่วนของพระพักตร์ (ใบหน้า) มีความหมายว่า หน้าที่การงาน เจริญรุ่งเรือง 3. ปิดทองในส่วนของพระอุทร (ท้อง) มีความหมายว่า อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง 4. ปิดทองในส่วนของพระอุระ (หน้าอก) มีความหมายว่า มีสง่าราศี เป็นที่ถูกอกถูกใจ 5. ปิดทองในส่วนของพระหัถต์ (มือ) มีความหมายว่า มีอำนาจ บารมี ลูกน้องรักใคร่ 6. ปิดทองในส่วนของพระนาภี (สะดือ) มีความหมายว่า ตลอดทั้งชีวิตจะมีกินมีใช้ 7. ปิดทองในส่วนของพระบาท (เท้า) มีความหมายว่า สมบูรณ์ด้วยที่พักอาศัย และยานพาหนะ นอกจากนี้ยังมีสถานที่จำลอง "เขาชีจรรย์" ให้ท่านได้ศึกษาและเรียนรู้บริเวณรอบ ๆ ของ "เขาชีจรรย์" แห่งนี้อีกด้วย สถานที่ 2 พระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ นามว่า "พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา" ซึ่งสถานที่แห่งนี้ มีประวัติเรื่องราวดังนี้ “รัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมกันสร้าง พระพุทธมหาวชิรอุตตโมภาสศาสดา พระพุทธมหามิ่งมงคลประจำรัชกาลที่ 9 ณ หน้าผาเขาชีจรรย์แห่งนี้ น้อมเกล้า น้อมกระหม่อมเฉลิมพระเกียรติ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในมหามงคลสมัยแห่งปีกาญจนาภิเษก เมื่อทรงครองสิริราชสมบัติยาวนาน 50 ปี พุทธศักราช 2539 ทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงรับการน้อมเกล้า น้อมกระหม่อมถวาย เมื่อ ณ วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2544” การเดินทางมาครั้งนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้ประวัติเรื่องราวเยอะแยะมากมาย จึงขอเผยแพร่ประวัติความเป็นมาผ่านบทความนี้ นอกจากนี้บริเวณ สวนสาธารณะภายใน "เขาชีจรรย์" มีกล้องส่องทางไกลให้บริการนักท่องเที่ยวได้ส่องกล้องกันชัด ๆ เพื่อชมความงดงามของพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ แห่งนี้ ระหว่างเดินสำรวจในบริเวณรอบ ๆ จะพบต้นศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปลูก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2544 และบรรยากาศบริเวณรอบ ๆ "เขาชีจรรย์" ดูสงบร่มเย็น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องมาให้ได้ซักครั้งหนึ่งในชีวิต สถานที่ตั้ง "เขาชีจรรย์" ซอย เขาชีจรรย์ ตำบล นาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี สำหรับการเดินทางมา "เขาชีจรรย์" ใช้ระยะเวลาเดินทางจากอำเภอเมืองประมาณ 1 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร