รีเซต

ประวัติ จังหวัดน่าน ที่เที่ยว วิวทุ่งนาสวยๆ เมืองปัว นครโบราณ ที่มีชีวิต

ประวัติ จังหวัดน่าน ที่เที่ยว วิวทุ่งนาสวยๆ เมืองปัว นครโบราณ ที่มีชีวิต
เอิงเอย
21 มิถุนายน 2564 ( 16:58 )
7.7K

      สำหรับ จังหวัดน่าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่นึกถึงที่นี่ วิวสวยๆ ของทุ่งนาสีเขียว บรรยากาศดีๆ ที่สงบเงียบลอยเข้าในความคิดทุกครั้ง ยิ่งช่วงหน้าฝนแบบนี้ความคิดถึง “น่าน” ก็ยิ่งทำให้เราอยากออกเดินทางไปพบปะ นอกจากธรรมชาติสวยๆ แล้ว เรื่องราวทางวัฒนธรรม ศิลปกรรมล้านนาต่างๆ ของน่าน ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลยค่ะ เราจึงจะพาทุกคนไปรู้จัก ที่มาจังหวัดน่าน ประวัติจังหวัดน่าน ที่มีมากว่าหลายร้อยปี น่านในสมัยก่อน กับ น่านในสมัยนี้ แตกต่างกันขนาดไหน มารู้เรื่องราวของที่นี่ไปพร้อมกันเลยค่ะ

ประวัติ จังหวัดน่าน ที่เที่ยวสวย วิวทุ่งนา

      ก่อนที่จะเป็น จังหวัดน่าน เหมือนในปัจจุบัน เมืองน่าน นั้นในสมัยอดีต เคยเป็นเมืองเล็กๆ ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านค่ะ โดยแต่เดิมนั้นมีการเรียกชื่อใหม่ว่า นันทบุรี แต่ก็มีหลายพยางค์และเรียกยาก ชาวบ้านจึงกลับมานิยมเรียกตามเดิมว่า "เมืองน่าน" มาจนถึงทุกวันนี้

 

ประวัติ จังหวัดน่าน ที่มาจังหวัดน่าน

Kaiskynet Studio / Shutterstock.com

 

   ที่มาของชื่อเมืองน่าน

     ที่มาของชื่อ "เมืองน่าน" มาจากชื่อ แม่น้ำน่าน อันเป็นที่ตั้งของเมืองที่อยู่บนสองฟากฝั่งแม่น้ำน่าน ชื่อของเมืองน่าน ได้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า เมืองน่าน คือ ตั้งแต่แรกตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านนั่นเองค่ะ

 

 

     โดยประวัติศาสตร์เมืองน่านเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงปี พ.ศ.1825 เป็นตำนานเกี่ยวกับกษัตริย์น่าน คือ พระยาภูคา ซึ่งมีศูนย์การปกครองอยู่ที่ เมืองย่าง คือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม นั่นเอง

 

เมืองปัว นครโบราณที่สำคัญของน่าน

 

Kittima05 / Shutterstock.com

 

     ตามพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า เมืองน่านได้มีกําเนิดเป็นหลักฐานครั้งแรกที่ เมืองวรนคร หรือ เมืองปัว โดยพระยาภูคา เจ้าเมืองย่าง มีราชบุตร 2 องค์ คือ ขุนนุ่น และ ขุนฟอง เมื่อเจริญวัยขึ้น พระมหาเถรแตงได้สร้างเมืองทางฝั่งตะวันออกแม่นํ้าโขงชื่อว่า จันทบุรี (หลวงพระบาง) ให้แก่ขุนนุ่นผู้พี่ แล้วสร้างเมืองริมฝั่งแม่นํ้าน่านชื่อว่า วรนคร (เมืองปัว) ให้แก่ขุนฟองผู้น้อง

      ภายหลังขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อน ราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานาน และมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้เป็นหลานมาครองเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปเมืองย่าง และมอบให้ชายา คือ นางพญาแม่ท้าวคำปิน ดูแลรักษาเมืองปัวแทน

 

 

      บริเวณเมืองปัวในปัจจุบัน ยังพบร่องรอยของ คูน้ำคันดิน อันเป็นหลักฐานแสดงถึงความเป็นชุมชน หรือเมืองโบราณ โดยพบว่ามีการขยายของเมืองปัวหลายครั้ง ทำให้เมืองปัว ถือว่าเป็นเมืองใหญ่และสำคัญของน่านอย่างมากค่ะ

 

ที่มา พระธาตุแช่แห้ง แห่งเมืองน่าน
ยุคสุโขทัย

 

ที่เที่ยวน่าน วัดพระธาตุแช่แห่ง ประวัติ จังหวัดน่าน

 

      ในสมัยของ พญาการเมือง (กรานเมือง) เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับ เมืองสุโขทัย อย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านได้กล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไท ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) แล้วเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวอีกด้วย

 

 

      ทำให้จึงได้ก่อสร้าง พระธาตุแช่แห้ง ขึ้นที่ ภูเพียงแช่แห้ง พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า เมืองภูเพียงแช่แห้ง หรือ เวียงแช่แห้ง ในปี พ.ศ. 1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

 

      หลังจากนั้นพญาการเมืองครองเมืองได้ 5 ปีก็ถึงแก่พิราลัย พญาผากอง จึงสืบต่อครองเมืองแทน และ 6 ปีให้หลัง เกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณบ้านห้วยไค้ ในปี พ.ศ.1911 คือบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบันนั่นเอง

 

น่านในยุคอาณาจักรล้านนา

 

 

      มาถึงในยุคที่ อาณาจักรล้านนา รุ่งเรือง โดยมี เชียงใหม่ เป็นราชธานีในช่วงราวๆ ปี พ.ศ.2004 เมืองน่านก็ขึ้นต่อเชียงใหม่ และได้รวมเป็น 1 ในอาณาจักรล้านนาเป็นระยะเวลาเกือบ 100 ปี ทำให้วัฒนธรรมของล้านนา มีอิทธิพลในวิถีชีวิตของชาวน่าน

      เช่น ศิลปกรรมต่างๆ ทางด้านศาสนา ปรากฏเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัยอย่างชัดเจน อย่างที่ เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดก็เปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนา

 

 

      ต่อมาอาณาจักรล้านนา ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า และน่านก็ด้วยเช่นกัน แต่ต่อมาเมืองเชียงใหม่ก็สามารถเอาชนะพม่าได้ และรวมเมืองต่างๆ รวมถึงเมืองน่านเป็นอาณาจักรล้านนาได้อีกครั้ง

 

น่านในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

 

 

      พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนา กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าฟ้าอัทธวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ซ่อมสร้างเมืองน่านหลังจากที่ถูกทิ้งร้างยาวนานถึง 23 ปีทำให้เมืองน่านหลังจากนั้นมาจึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นเอง

 

 

      ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สถาปนา พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ขึ้นเป็นพระเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 นับเป็นเจ้านครน่านองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้านครน่าน มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศา ธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์" เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน

 

 

     จนถึง เจ้าครองนครน่านคนสุดท้าย มหาอำมาตย์โทเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 64 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 6 ต่อถึง รัชกาลที่ 7 นับเป็นเจ้าผู้ครองนครน่านคนสุดท้าย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 รัฐบาลประกาศให้ ยกเลิกตำแหน่งผู้ปกครองเมืองต่างๆ และในพ.ศ. 2433 ได้มี พระยาพิชัยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก

      สำหรับ หอคำ ได้ใช้เป็น ศาลากลางจังหวัดน่าน จนเมื่อปี พ.ศ. 2511 จังหวัดน่าน ได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนถึงปัจจุบันนั่นเองค่ะ


คำขวัญจังหวัดน่าน

แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง

 

สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญจังหวัดน่าน

 

 

      น่าน เป็นเมืองเล็กๆ ที่น่ารัก และสงบเงียบ เหมาะกับการไปเที่ยวชมธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน และสโลว์ไลฟ์นั่งมอง ทุ่งนาสวยๆ ค่ะ ทำให้ที่นี่เป็นที่เที่ยวที่หลายคนอยากไปเยือนสักครั้ง สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดน่านนั้นมีมากมายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วัดวาอาราม ธรรมชาติ วัฒนธรรม และโฮมสเตย์ นั่นเอง

 

 

      สำหรับใครที่เป็นสายบุญแล้วล่ะก็ เราชวนไปเที่ยวชม วัดสวยๆ เมืองน่าน และสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามอย่าง วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดมิ่งเมือง วัดภูมินทร์ วัดศรีพันต้น วัดพระธาตุช้างค้ำ วัดหนองบัว หรือ วัดพระธาตุเขาน้อย ค่ะ

 

 

      แต่สำหรับ สายชิล อยากมาสโลว์ไลฟ์ ใกล้ชิดธรรมชาติ ลองแวะมาเช็คอินที่ สะปัน หรือ ปัว กันดู เพราะที่นี่จะเต็มไปด้วย ทุ่งนา สีเขียวที่วิวสวยงามสุดๆ อีกทั้งยังมีโฮมสเตย์ต่างๆ ไว้ให้บริการอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้ยังมีที่เที่ยวธรรมชาติที่น่าสนใจอีกมากมายทั้ง จุดชมวิว 1715 วังศิลาแลง เสาดินนาน้อย ดอยภูแว ดอยเสมอดาว สวนยาหลวง และอื่นๆ อีกมากมายเลยค่ะ

 

       ว่าแล้ว ช่วงหน้าฝน อากาศดีๆ ต้องไม่พลาดแวะไปเที่ยวน่าน ชมทุ่งนาสีเขียวให้ชุ่ม่ำใจกันสักครั้งนะคะ

 

อ้างอิง : 

 

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<