นักท่องเที่ยวไม่ว่าใครต่อใครเมื่อมาเยือนอิสตันบูล ประเทศตุรกีล้วนมากองหล่นรวมกันที่ จัตุรัสสุลต่านอะห์เมต (Sultanahmet Square) กันทั้งนั้น นั่นให้พื้นที่รอบ ๆ จัตุรัสสุลต่านอะห์เมตวันหนึ่ง ๆ มีเวลาหลับไหลเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพราะตั้งแต่เช้าไปยันเวลาดึกดื่นล้วนเต็มล้นไปด้วยนักท่องเที่ยว... ฉันประจักษ์ภาพนั้นตั้งแต่ค่ำคืนของวันแรกที่เดินทางมาถึงเมืองอิสตันบูล และตรงดิ่งไปยังจัตรัสสุลต่านอะห์เมตเมื่อเข้าที่พัก ความกังวลที่คิดว่าจะต้องเดินหาที่พักในสถานที่ที่ไม่เคยคุ้นในตอนกลางคืนมลายไปทันทีที่เห็นผู้คนมากมายยังเดินกันขวักไขว่ ทั้งยังมีรถเข็นขายของกินให้ลิ้มชิมเต็มเกลื่อน สมกับสถิติการเป็นเมืองลำดับต้น ๆ ที่มีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก ว่าไปแล้วตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน อิสตันบูลเป็นเมืองที่ไม่เคยหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โลก เป็นเมืองที่มีความเป็นพิเศษ ตั้งแต่ทำเลที่ตั้งที่คร่อมอยู่ระหว่างสองทวีป ได้แก่ยุโรป และเอเชีย มหาสมุทรสองฟากที่โอบล้อมส่งเสริมให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งด้านวัฒนธรรมและการค้าขาย เมื่อเป็นเช่นนั้น ไม่แปลกที่อิสตันบูลเคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออกในชื่อกรุงคอนสแตนติเนเปิล เคียงคู่กับกรุงโรมที่เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย กรุงคอนสแตนติเนเปิลในฐานะเมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ยังคงเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อมาอีกนับพันปี เป็นศูนย์กลางของคริสตจักรนิกายออโธด็อกซ์ และต่อมาแม้จะถูกยึดครองโดยอาณาจักรออตโตมัน อีสตันบูลก็ยังคงความเป็นเมืองแมวเก้าชีวิต ผันตัวเองจากการเป็นศูนย์กลางคริสตจักร กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมมุสลิม เปลี่ยนชื่อจากคอนสแตนติเนเปิลเป็นอิสลามบูล และกลายเป็นอิสตันบูลมาจนถึงปัจจุบัน แล้วเหตุไฉน.... นักท่องเที่ยวถึงมากองรวมกันที่จัตุรัสสุลต่านอะห์เมต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะตัวจัตุรัสสุลต่านอะห์เมต เป็นประหนึ่งศูนย์กลางของตัวเมืองอีสตันบลูมาตั้งแต่อดีต ในยุคจักรวรรดิโรมันที่นี่เคยเป็นสนามกีฬาแข่งม้าที่เรียกว่า ฮิปโปโดม(Hippodrome) จึงเป็นสถานที่พบปะของผู้คนที่มาชมเกมกีฬา ก่อนจะเขยิบ ขยายสร้างสิ่งก่อสร้างสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิหารฮาเจียโซเฟีย (Hagia Sophia) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สวยงามที่สุดในสมัยจัรรวรรดิโรมันก็สร้างขึ้นที่นี่ มัสยิดสีฟ้า (Blue Mosgue) ที่สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรออตโตมันก็อยู่บริเวณนี้ รวมไปถึงเสาโอเบลิสค์ที่นำมาจากอียิปต์ก็ตั้งอยู่ที่นี่ ฉะนั้น... จัตุรัสแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางกลางเมือง ศาสนา และกีฬา ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน มัสยิดสีฟ้า เสาโอเบลิสค์จากอียิปต์ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมผู้คนที่หลั่งไหลมาเยือนอิสตันบูล จึงพากันมาหล่นกองที่นี่ รวมถึงพวกเราด้วย เช้าของวันแรกในอิสตันบูล ฉันกับเพื่อนร่วมทางตื่นกันก่อนรุ่งสาง ตื่นเต้นที่จะได้สำรวจหน้าตาเมืองที่ไม่เคยหล่นหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โลก เราเดินหมุนเวียนวนอยู่รอบตัวจัตุรัสได้เห็นสิ่งก่อสร้างต่างยุคต่างสมัยกลมกลืนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สิ่งก่อสร้างที่ดึงดูดความสนใจแรกเห็นได้มากที่สุดคงเป็นมัสยิดสีฟ้า ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและรูปทรงภายนอกที่โอ่อ่า ทว่า...หากอยากเห็นความรุ่งเรืองที่แท้ของอิสตันบูลที่เคยเป็นเมืองหลวงของทั้งจักรวรรดิโรมัน และจักรวรรดิออตโตมันแล้ว ควรเริ่มต้นที่วิหารฮาเจีย โซเฟีย ทำไมน่ะหรือ ? มองจากภายนอก วิหารฮาเจียโซเฟียอาจมีขนาดเล็กกว่า และโอ่อ่าไม่เท่ามัสยิดสีฟ้า แต่นั่นเป็นเพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่มาก่อนมัสยิดสีฟ้า จึงเป็นเหมือนงานต้นแบบที่ลองผิดลองถูก ให้กับการก่อสร้างในยุคหลังได้ปรับนำไปใช้ ทว่าหากได้เข้าไปด้านในแล้ว แนวความคิดการอออกแบบที่น่าจะนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในยุคนั้นชวนตื่นตาและคุ้มค่ากับการเข้าไปชม วิหารฮาเจีย โซเฟีย วิหารฮาเจียโซเฟีย สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน เพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่โดนเผาทำลายขณะเกิดจลาจลในตัวเมือง วิหารแห่งนี้หากสร้างทดแทนของเก่าด้วยรูปลักษณ์และแนวคิดแบบเดิม ๆ คงไม่มีอะไรพิเศษ หาก จักรพรรดิจัสติเนียน ต้องการให้วิหารที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ เป็นสัญลักษณ์และศูนย์กลางของอาณาจักรพระองค์ เพื่อเร่งฟื้นฟูศรัทธาจากประชาชน พระองค์จึงได้ว่าจ้างนักคณิตศาสตร์สองนายที่มีความชำนาญด้านรูปทรงเรขาคณิตทำการออกแบบวิหารแห่งใหม่ โดยตั้งโจทย์ไว้ว่า วิหารแห่งนี้จะต้องสร้างให้เสร็จเร็วที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด สวยงามที่สุด และต้องสร้างด้วยวิทยาการการก่อสร้างที่ก้าวหน้าที่สุด เรียกได้ว่าจะต้องรวมสิ่งที่เป็นที่สุดไว้เพื่อเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นศูนย์กลางของตัวอาณาจักร ด้วยโจทย์ดังกล่าว วิหารฮาเจีย โซเฟียจึงสร้างเสร็จภายในระยะเวลาเพียง ๕ ปี เท่านั้น นับว่าน้อยทีเดียวหากเทียบกับวิหารใหญ่ ๆ ในยุคสมัยใกล้ ๆ กัน และเมื่อสร้างเสร็จวิหารฮาเจีย โซเฟียได้กลายเป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดตามที่จักรพรรดิจัสตีเนียนต้องการ ตัววิหารได้รับการออกแบบเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีส่วนแบ่งแคบ ๆ ตามด้านยาวที่แยกจากโถงหลักด้วยเสาที่คั่นอยู่เป็นทางเดินแบบที่เรียกว่าบาซิลิกา (Basilica) ซึ่งเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมคริสเตียนตอนต้น ที่ยึดถือแกนตามยาวเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันเหนือพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงใจกลางตัววิหาร มีการสร้างหลังคาทรงโดมขนาดมหึมาปกคลุม หลังคาทรงโคมนั้นตั้งอยู่บนโค้งใหญ่สี่อันที่ถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาฐานรับตรงมุมของผังรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งด้านบนของโค้งใหญ่ทั้งสี่นั้นเชื่อมต่อกันด้วยสามเหลี่ยมโค้งที่เรียกว่า Pendentives ด้วยวิธีการการก่อสร้างแบบนี้ ช่วยให้ยกตัวอาคารได้สูงขึ้น เพิ่มพื้นที่ว่างในแนวตั้งของตัววิหารได้มากขึ้น เรียกวิธีการก่อสร้างแบบนี้ว่า “Dome on Pendentives” ซึ่งวิหารฮาเจีย โซเฟียเป็นมหาวิหารแรกที่ก่อสร้างด้วยระบบนี้ และกลายเป็นต้นแบบของการก่อสร้างในยุคไบเซนไทน์ในเวลาต่อมา วิหารฮาเจียโซเฟีย เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของเมืองอิสตันบูลมาอย่างยาวนาน ในยุคจักรวรรดิโรมัน ที่นี่เป็นโบสถ์คริสต์นิกายออโธด็อกซ์ ครั้นอาณาจักรออตโตมันเข้ายึดครองตัวเมือง ตัววิหารถูกเปลี่ยนกลายเป็นสุเหร่าของศาสนาอิสลาม มีการสร้างหอคอยเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Mineret ที่มียอดสูงแหลมเพิ่มเติมขึ้น 4 หอ อันเป็นลักษณะสถาปัตย์แบบวัฒนธรรมอิสลาม และเมื่อดินแดนแห่งนี้ผันเปลี่ยนกลายมาเป็นสาธารณรัฐตุรกี วิหารฮาเจียโซเฟียที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาอย่างมากมายก็ได้เปลี่ยนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้งานสถาปัตย์แบบไบเซนไทน์ที่ผสมผสมกับการตกแต่งแบบวัฒนธรรมมุสลิม ความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ใช่สถานที่สำหรับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เปิดทางให้มีการบูรณะวิหารแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ภาพโมเสกประดับแบบศิลปะไบเซนไทน์ที่เล่าเรื่องราวสำคัญทางคริสต์ศาสนาที่ถูกพวกออตโตมันทาปูนปลาสเตอร์ปิดทับไว้เพื่อเปลี่ยนโบสถ์ให้กลายเป็นสุเหร่า ถูกกระเทาะออก ภาพโมเสกรูปพระเยซูคริสต์ และภาพพระแม่มาเรียจึงได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เคียงข้างกับงานอักษรวิจิตร (Calligrahy) ที่เป็นงานศิลปะในวัฒนธรรมมุสลิม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นั่นคือ ศาสนาคริสต์ใช้การวาด ขณะที่ศาสนาอิสลามใช้การเขียน ภายในวิหารฮาเจีย โซเฟีย ขณะที่ยืนอยู่ภายในวิหารฮาเจีย โซเฟีย หลังคาโดมที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิค “Dome on Pendentives” นั้นดึงดูดให้ทุกสายตามองไปยังยอดโดมที่มีการเจาะช่องหน้าต่างขนาดเล็กไว้เป็นจำนวนมาก กลายเป็นช่องให้แสงส่องลอดเข้ามาภายในอาคาร คล้ายผืนผ้าลูกไม้ที่กรองแสง เมื่อมองระเรื่อยลงมาจะเห็นงานอักษรวิจิตรเขียนสลักบนแผ่นวงกลมติดบนเสาหินแปดด้าน ตัวอักษรขนาดใหญ่นั้นเขียนสลักตัวอักษรเป็นชื่อบุคคลสำคัญทางศาสนา เราเดินชมวิหารฮาเจีย โซเฟียด้านล่างจนทั่วก่อนขึ้นไปยังชั้นสอง ทางขึ้นไปยังชั้นสองนั้นแปลก... เป็นครั้งแรกที่เจอะเจอกับทางเดินลาดภายในวิหารที่ค่อย ๆ ลาดเอียงสูงขึ้น พื้นที่ปูด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ และแทบจะไม่มีช่องแสง ทำให้บรรยากาศทางเดินนั้นดูลี้ลับ... ชวนให้จินตนาการถึงบรรยากาศในสมัยก่อน ทางเดินที่กว้าง และพื้นที่ปูด้วยก้อนหินแข็งแรงนั้น เพื่อรองรับองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินีที่จะเสด็จขึ้นไปยังชั้นสองของตัววิหารด้วยการทรงม้า เมื่อขึ้นไปถึงชั้นสอง เดินไปตามทางเดินไปเรื่อย ๆ จะได้เห็นภาพวาดโมเสกในยุคไบเซนไทน์ที่ยังหลงเหลืออยู่ นอกจากภาพวาดโมเสกแล้ว บนชั้นสองในฐานะพิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงงานภาพอักษรวิจิตร และศิลปะวัตถุทางวัฒนธรรมอิสลามให้ได้ชม งานที่จัดวางแสดงอาจไม่มากนัก แต่แค่ได้เข้ามาเยี่ยมชมตัววิหารที่เป็นงานสถาปัตย์ชั้นยอดของยุคไบเซนไทน์ก็คุ้มนักหนาแล้ว งานแสดงภาพอักษรวิจิตร เราเดินวนชมทั้งตัวอาคาร และงานที่วางจัดแสดงจนเต็มอิ่ม ถึงเวลาที่น่าจะออกไปสำรวจชมสิ่งก่อสร้างอื่นในเมืองอิสตันบูลต่อไป หลังจากหันมองหาทางออกอยู่ครู่ เราก็เดินไหลตามนักท่องเที่ยวจำนวนมากไปตามเส้นทางที่ชี้ว่าเป็นทางออก ระหว่างทางนั้นเองสังเกตุเห็นเสาต้นหนึ่งที่แปลกจากเสาต้นอื่นมีการนำแผ่นทองเหลืองมาปิดกรุตรงฐานตัวเสา เว้นช่องวงกลมไว้ด้านหนึ่ง มีรูอยู่ตรงกลาง มีนักท่องเที่ยวยืนต่อคิวจำนวนมาก เราหยุดยืนมอง ถึงรู้ว่าเสาดังกล่าวเชื่อกันว่าเป็นเสาที่ช่วยรักษาอาการโรคไมเกรนของจักรพรรดิจัสติเนียน เมื่อใดที่องค์จักรพรรดิมีอาการปวดไมเกรน พระองค์จะบรรเทาด้วยการลูบเสาและใส่นิ้วไปในรูเสาดังกล่าว ไม่น่าเชื่อว่าความเชื่ออายุนับพันปีนี้จะถูกส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงเข้าไปยืนต่อคิวตามนักท่องเที่ยวคนอื่น ทดสอบความเชื่อนับพันปี เสาที่เชื่อกันว่าช่วยรักษาอาการโรคไมเกรนของจักรพรรดิ ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดย "วันอาทิตย์" อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !