เนื่องด้วยวันอนุรักษ์มรดกไทย ทางกรมศิลปากรจึงได้จัดแสดงนิทรรศการพิเศษภายใต้ชื่อ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกเราตั้งใจจะไปงาน “มรดกสยาม 3” แต่ไหนๆก็ได้มีโอกาสแวะมาเที่ยวที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็เลยถือโอกาสนี้แวะเข้าไปเยี่ยมชมงานนิทรรศการนี้สักนิดนึงเมื่อเราเข้ามาในงาน ยื่นตั๋วให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียบร้อย อย่าลืมแวะตรงเคาเตอร์ก่อนนะคะ ตรงจุดนั้นมีเอกสาร หรือ สูจิบัตรประกอบนิทรรศการ กับโปสการ์ดแจกให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกภายในงานนิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” แบ่งออกเป็น 7 โซนด้วยกัน ดังนี้โซนที่ 1 : อารัมภบทในส่วนของโซนนี้จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของภาษา เอกสาร และวรรณกรรม ซึ่งวันที่เราไปมีพี่เจ้าหน้าที่คอยบรรยายข้อมูลต่างๆให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมโซนที่ 2 : จารจารึก บันทึกสยามสำหรับโซนนี้จะเป็นการจัดแสดงเอกสารโบราณ ไม่ว่าจะเป็นนันโทปนันทสูตรคำหลวง (หมวดตำราภาพเลขที่ 120) วรรณคดีทางพระพุทธศาสนา พระราชนิพนธ์โดยเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐสุริยวงษ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อปี พ.ศ. 2279หนังสือ “ไตรภูมิกถา” หนังสือ”จินดามณี” แบบเรียนหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 และ หนัง “ตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม” เป็นต้นโซนที่ 3 : แผนภูมิของแผ่นดินโซนนี้จะจัดแสดงแผนที่ในสมัยต่างๆ อาทิ แผนที่แสดงขอบเขตที่ชาวต่างชาติจะซื้อที่ดินได้ แผนที่กัลปนาวัดบนคาบสมุทรสทิงสมันอยุธยา และแผนที่ตำบลสามเพ็ง เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้นในโซนนี้ยังจัดแสดงเอกสารการริเริ่มการสร้างตราประจำจังหวัดอีกด้วยโซนที่ 4 : นิติสารเมื่อเพรงกาล เล่าขานประวัติศาสตร์ไทยในส่วนของโซนที่ 4 จะจัดแสดงเอกสารสำคัญในด้านของกฏหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีการพาณิชย์ และการเดินเรือระหว่างจักรวรรณออสเตรีย-ฮังการีและสยาม กฏหมายตราสามดวง และ สนธิสัญญาเบาว์ริง เป็นต้นโซนที่ 5 : เมื่อแรกมีการพิมพ์หลังจากที่เราเดินชมมาแล้ว 4 โซน จะสังเกตได้ว่าเอกสารที่นำมาจัดแสดงของทั้ง 4 โซนถูกเขียนและถูกบันทึกด้วยวิธีแบบดังเดิม แต่พอมาถึงโซนที่ 5 เอกสารที่นำมาจัดแสดงจะเป็นเอกสารที่ถูกบันทึกด้วยวิธีและเทคนิคการพิมพ์แบบชาวตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น สัพะ พะจะนะ พาสาไท พจนานุกรม 4 ภาษาเล่มแรกของไทย ซ้องกั๋ง และพระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลกโซนที่ 6 : ต้นร่างสร้างเมือง เรืองรองศิลปกรรมเอกสารที่นำมาจัดแสดงในโซนนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแผนผังการออกแบบอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาทิ พระราชวัง สะพาน อนุสาวรีย์ รวมถึงแบบร่างเครื่องเรือนที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่างๆในพระราชวัง ซึ่งแต่ละแบบละเอียดและสวยงามมากโซนที่ 7 : ด้วยความทรงจำอันงดงามและความคิดถึงสำหรับโซนสุดท้ายของงานนิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” เป็นการจัดแสดงไปรษณียบัตร (Postcard) ซองจดหมาย สาสน์สมเด็จซึ่งเป็นเอกสารลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ทรงพระนิพนธ์ถึงกัน นอกจากนี้แล้วยังจัดแสดงฉลากน้ำหอม และอัลบั้มภาพจากซองบุหรี่อีกด้วยโดยนิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม” จะจัดถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ถ้าหากใครสนใจเรื่องของประวัติศาสตร์ ของโบราณ หรือกำลังมองหาที่เที่ยวสั้นๆวันหยุด เราแนะนำให้มางานนี้ เพราะคุ้มค่ามาก เราได้เห็นเอกสาร หนังสือโบราณที่หาชมได้ยาก และไม่รู้ว่าจะมีโอกาสไหนที่จะได้ชมเอกสารเก่าๆได้เยอะแบบในงานนี้ ข้อมูล นิทรรศการ “เอกสารล้ำค่าจารึกสยาม”เว็บไซต์ : National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครเปิดให้เข้าชม : วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา เวลา 09:00 น. - 16:00 น.ค่าเข้าชม :คนไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาทยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM ICOMOS (แสดงบัตร)พิกัด : พิกัดสถานที่จัดแสดงนิทรรศการสถานที่จอดรถ : สามารถจอดรถได้ที่ ลานท้องสนามหลวงภาพถ่ายและปรับแต่งภาพโดย SasisDiary ผู้เขียน อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !