รีเซต

ทำไมจึงไม่ควร ให้อาหารปลาในทะเล?

ทำไมจึงไม่ควร ให้อาหารปลาในทะเล?
aichan
20 กรกฎาคม 2558 ( 07:48 )
19.9K

 

แม้ว่าการให้อาหารปลาในทะเลดูเหมือนจะเป็นการสร้างความเพลิดเพลินให้กับนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำ และยังดูเหมือนว่าจะเป็นการช่วยให้ปลาได้มีอาหารกินอย่างสะดวกสบาย รวมทั้งยังเป็นความเชื่อว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของนักดำน้ำ ที่จะได้ให้อาหารปลาและเข้าใกล้ปลาอย่างใกล้ชิด แต่แท้ที่จริงแล้ว การให้อาหารปลานั้นกลับส่งผลเสียในทุกๆ ด้าน ทั้งต่อตัวนักดำน้ำเอง ต่อปลาที่เราให้อาหาร และต่อระบบนิเวศโดยรวม จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ระบุถึงผลเสียของการให้อาหารปลาในทะเลไว้ดังนี้

1.ทำลายกระบวนการทางธรรมชาติของระบบนิเวศ

การให้อาหารปลาจะทำให้ปลาเปลี่ยนพฤติกรรม โดยพวกมันจะเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงนักดำน้ำและเรือเข้ากับเวลาหากิน ทำให้มันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากที่โดยปกติแล้วจะระมัดระวังภัยไม่เข้าใกล้มนุษย์ ก็เข้าหามนุษย์ที่เป็นผู้ให้อาหาร ซึ่งพฤติกรรมนี้นอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อสัตว์เหล่านั้นแล้ว ยังส่งผลให้ความสัมพันธ์รัหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเสียสมดุลและทำลายระบบนิเวศอีกด้วย

 

2.ทำร้ายสุขภาพปลา

เมื่อให้อาหารปลา ปลาจะหยุดวัฏจักรการหาอาหารกินตามธรรมชาติของมัน ซึ่งจะส่งผลให้ปลาขาดสารอาหารที่เหมาะสมตามธรรมชาติในการดำรงชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปปลาที่ได้รับอาหารจากมนุษย์ ก็จะขาดสารอาหารและเกิดความเครียด จนตายในที่สุด

 

3.ทำอันตรายต่อมนุษย์

จากข่าวการจู่โจมและกัดผู้ที่ให้อาหารปลาหรือผู้คนต่างๆ เกิดขึ้นเนื่องจากสัตว์ทะเลเข้าใจผิด คิดว่ากิริยาบางอย่างเป็นการยื่นอาหารให้พวกมันกิน จึงทำให้มันไม่กลัวมนุษย์ รวมทั้งการให้อาหารสัตว์เหล่านั้น ทำให้พวกมันไม่ตื่นกลัวมนุษย์อีกต่อไป จนทำให้ทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ ตัวอย่างเช่นปลาไหลมอร์เรย์ ที่ได้รับไส้กรอกเป็นอาหารจากนักดำน้ำจนเคยชิน จนกระทั่งวันหนึ่ง มันเกิดเข้าใจผิดคิดว่านิ้วของนักดำน้ำเป็นไส้กรอก จึงงับนิ้วของนักดำน้ำเข้าไปทั้งนิ้ว น่ากลัวไหมล่ะ!

 

4.ทำลายสิ่งแวดล้อม

การให้อาหารกับสัตว์ทะเลบางชนิดที่เป็นผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร เช่น ปลากะพง ฉลามขนาดเล็ก เป็นการทำลายกระบวนการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ นอกจากนี้การให้อาหารสัตว์ทะเลส่งผลให้ดาวมงกุฎหนามเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งดาวมงกุฏหนามนี่เองที่กินปะการังเป็นอาหาร ปกติแล้วไข่หรือตัวอ่อนของดาวมงกุฏหนามจะถูกผู้ล่ากินเข้าไป เมื่อผู้ล่าถูกให้อาหารทางอื่น ก็จะเป็นการเพิ่มอัตราการอดตายของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของดาวมงกุฏหนาม ซึ่งนำไปสู่การที่ปะการังถูกทำลายมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนักวิชาการทางทะเล ได้โพสต์ข้อความบนเฟสบุ้กส่วนตัวถึงประเด็นการให้อาหารปลาในทะเลว่า กรมอุทยานแห่งชาติได้ประกาศห้ามให้อาหารปลาในเขตอุทยานฯ อย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วย ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2555 มีโทษจับและปรับ 500 – 1,000 บาท รวมทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็ได้ประกาศห้ามให้อาหารปลาด้วยเช่นกัน

การให้อาหารปลาในแนวปะการังนั้น จะทำให้เกิดผลเสียตามมาหลายด้าน เนื่องจากแนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่อ่อนไหว มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงที่สุดในโลก ปลาเป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อระบบนิเวศ บางชนิดกินสาหร่าย ช่วยควบคุมให้ปริมาณสาหร่ายไม่มากเกินไป และทำให้แนวปะการังรักษาสมดุลอยู่ได้ ปลาในแนวปะการังเป็นสัตว์ที่มีที่อยู่อาศัยชัดเจน ปลาจะมีปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมีวิถีธรรมชาติเป็นสิ่งควบคุมจำนวนปลา นอกจากนี้ปลาบางชนิดกินอาหารไม่เลือกและสามารถกินอาหารที่มนุษย์ให้ได้

อาหารที่มนุษย์ให้ปลาถือเป็นสิ่งแปลกปลอมในแนวปะการัง ปลาบางกลุ่มที่กินได้ จะได้เปรียบปลากลุ่มอื่นเพราะมีอาหาร ปลาที่กินอาหารมนุษย์จะมารวมตัวกันและมีปริมาณเพิ่มขึ้นเพราะมีอาหารกินไม่จำกัด จากนั้นจะยึดพื้นที่และขับไล่ปลาอื่นๆ ออกไป ปลาที่ถูกไข่ไล่ออกไป จะไม่มีที่อยู่ ไม่สามารถดำรงชีวิตในบริเวณอื่นได้ จึงค่อยๆ มีปริมาณลดน้อยลงจนหมดไป

เมื่อปลาส่วนใหญ่ที่คอยกินสาหร่ายหรือกินอาหารอื่นๆ ที่ควบคุมสมดุลในแนวปะการังหายไป เหลือแต่ปลากินขนมปัง ระบบนิเวศย่อมไม่เหมือนเดิม รวมทั้งปลาที่กินอาหารหลากหลาย เมื่อมีอาหารจากมนุษย์ที่เยอะและหาง่ายกว่า ปลาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปะการังฟอกขาว และมีจำนวนลดน้อยลง หากขาดปลาที่คอยควบคุมสาหร่ายหรือระบบนิเวศ แนวปะการังยิ่งเสื่อมโทรม ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราอาจะไม่มีปะการังเหลืออยู่อีกเลย

จะเห็นแล้วว่ามีเหตุผลมากมาย ที่เราไม่ควรให้อาหารปลา รวมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำร้ายสุขภาพปลา และทำลายสิ่งแวดล้อม ยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกด้วย เมื่อการให้อาหารปลา = ทำร้ายปลาและธรรมชาติ เราจึงควรหยุดให้อาหารปลา เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติและระบบนิเวศให้ยั่งยืนต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, Thon Thamrongnawasawat

ภาพ: ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock

ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับงานบทความใน “ทรูไลฟ์” และ “H Travel” เท่านั้น ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด

 

ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่

FB : Travel Truelife

ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่http://travel.truelife.com