ย่านใจกลางเมือง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ข้างโรงพยาบาลพระมงกุฎ อาคารรูปทรงตะวันตกมียอดโดมแหลมเด่นท่ามกลางหมู่แมกไม้ ดึงดูดสายตาทุกครั้งเมื่อยามนั่งรถผ่านถนนราชวิถีช่วงบริเวณนี้ นั่นคือ "พระราชวังพญาไท" เดิมทีพื้นที่ตรงนี้คือโรงนาหลวง ใช้ทดลองทำนาทำสวน หรือประกอบพระราชพิธีจรดำระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดฯให้หาที่ประทับสำหรับพักผ่อนอืริยาบถ สถานที่นี้คือที่ที่ถูกเลือก ก่อนกลายเป็นพระราชวังที่ประทับในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเปลี่ยนเป็น "โฮเต็ลชั้นหนึ่ง" ให้บริการชาวต่างชาติ สุดท้ายถูกกองทัพบกใช้เป็นที่ทำการด้านรักษาพยาบาล อันเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า การเข้าชมไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่มีให้บริจาคหลังเข้าชมตามศรัทธา ซึ่งเท่าที่ดู พระราชวังมีชำรุดทรุดโทรมหลายแห่ง ต้องซ่อมแซมบูรณะอยู่ไม่น้อย ก็อยากให้ช่วยบริจาคคนละเล็กน้อย หรือซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือสักชิ้นสองชิ้นก็ยังดี เมื่อมาถึงให้ลงชื่อที่จุดบริการด้านหน้า มีเจ้าหน้าที่คอยบริการดูแลอย่างดี หลังจากนั้นรอเวลาเรียกเข้าชมตามรอบ ซึ่งระหว่างนั้นอาจเดินเล่นอยู่รอบๆ หรือนั่งจิบกาแฟรอในร้านกาแฟนรสิงห์ก็ไม่ผิดกติกา แต่รักษาเวลากันด้วยนะครับ เพราะถึงเวลาปุ๊บ เจ้าหน้าที่จะพาออกรอบเลยจ้า ไม่มีการรอ การนำชมเริ่มจากบรรยายประวัติความเป็นมาของวังแบบคร่าวๆ พร้อมพาชมนิทรรศการแสดงพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 9 พื้นหินอ่อนแต่เป็นเกรดรอง ลูกศรเขียวคือฟอสซิลที่ติดมาแต่เดิมอยู่ในหินอ่อน ไม่แน่ใจแต่คิดว่าน่าจะเป็นปลาหมึก ฟังประวัติวังไปแล้ว จุดแรกที่เรามาชมคือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ สถาปัตยกรรมเป็นแบบโรมัน มีหลังคาโดมกลม พระที่นั่งนี้สร้างขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถเสด็จมาประทับ ณ พระราชวังพญาไทแห่งนี้ อาคารนี้ใช้เป็นที่รับแขกส่วนพระองค์ และจัดแสดงการละครต่างๆ พระที่นั่งแห่งนี้มีพระปรมาภิไธยย่อ ส.ผ. ทำให้บางครั้งก็ถูกเรียกว่า "ท้องพระโรง ส.ผ." ย่อมาจาก เสาวภาผ่องศรี พระนามในสมเด็จพระราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ ออกจากพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เราวนกลับมาทางเข้าแรกตอนเข้าชม นี่คือพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งในพระราชวังพญาไท "พระที่นั่งพิมานจักรี" ตัวอาคารเป้นสถาปัตยกรรมแบบโรมันเนสก์ จุดเด่นของอาคารคือยอดโดมสีแดง ใช้สำหรับชักธงมหาราชขึ้นในขณะเสด็จมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้ เจ้าหน้าที่พาไปด้านหลังก่อน ตรงส่วนที่เรียกว่า "สวนโรมัน" ซึ่งสร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ที่อยากให้มีสวนในวังตามแบบพระราชวังของประเทศทางตะวันตก ในสวนมีศาลาโรมัน ศาลาทรงกลม หลังคาโดมรองรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน หน้าศาลามีสระน้ำขนาดใหญ่ ออกจากสวนโรมันเข้าสู่ "ห้องธารกำนัล" นี่คือห้องสำหรับรอเข้าเฝ้า ในห้องมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าในฉลองพระองค์มหาพิชัยยุทธ ผนังห้องอีกด้านหนึ่งประดับด้วยโคลงสยามมานุสสติ เมื่อพระราชวังพญาไทกลายเป็นโฮเต็ล ห้องนี้ก็ถูกใช้เป็นห้องอาหาร ห้องถัดมาคือห้องเสวย พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้า แม้จะโปรดเสวยเครื่องฝรั่ง แต่ก็ต้องตั้งเครื่องไทยเป็นประจำเสมอ ที่ขาดไม่ได้คือ น้ำพริก ผักดิบ ปลาทู ปลาดุกทอด ยำไข่ปลาดุก กระเพาะปลาทอดจิ้มน้ำพริกเผา ฝั่งตรงข้ามเป็นห้องพระโอสถมวน สำหรับเมื่อเสวยเสร็จแล้ว จะเสด็จมาทรงพระโอสถมวนที่ห้องนี้ เราออกเดินต่อไปทางปีกขวาของพระราชวัง ระหว่างรอการก่อสร้างพระที่นั่งเสร็จสิ้น นี่เป็นเหมือนเป็นที่ประทับชั่วคราวสำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พระตำหนักเมขลารูจี ตัวอาคารสร้างตามแบบกระท่อมอังกฤษ เป็นไม้ทั้งสองชั้น ข้างๆกันเป็นเรือนสำหรับเจ้าพนักงานคอยดูแลรับใช้ ภายในพระตำหนัก พระตำหนักเมขลารูจีมองจากด้านข้าง เราย้อนกลับมายัง พระที่นั่งศรีสุทธานิวาส องค์นี้เป็นที่ประทับเจ้านายฝ่ายใน หลังคามีโดมแดงอย่างเช่นพระที่นั่งพิมานจักรี เพียงแต่เป็นโดมทรงกลม ไม่ใช่ทรงเหลี่ยม ห้องเหล่านี้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นห้องพักในสมัยหนึ่ง โดยห้องที่แพงสุดนั้น ราคาคืนละ 10 บาท อยากรู้ว่าเป็นเงินเท่าไร ให้ลองเทียบกับราคาทองคำในยุคนั้นคงพอได้ เราเดินผ่านสะพานเชื่อมกลับไปยังพระที่นั่งพิมานจักรี ห้องแรกที่เจอเป็นห้องพระบรรทมพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดง เมืองดุสิตธานีจำลอง เรือนมหิธร เรือนที่พักของสกุลไกรฤกษ์ ในดุสิตธานี ต่อมาเป็นท้องพระโรงชั้นสอง สำหรับผู้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ภายในห้องมีเตาผิงแต่คาดว่าคงไม่มีใครได้ใช้ ห้องนี้มีปัญหาเรื่องความชื้นบนเพดานห้องค่อนข้างเยอะ เพราะอยู่ใต้โดมพอดี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็กำลังหาวิธีบูรณะซ่อมแซมอยู่ ออกจากท้องพระโรงชั้นสอง เรามาที่ห้องทรงพระอักษร ภายในมีตู้หนังสือ จัดแสดงหนังสือที่ทรงพระราชนิพนธ์ โดยทำจำลองฉบับบที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ห้องต่อมา นี่คือห้องเดอลุกซ์ของโฮเต็ลพญาไท ซึ่งเคยเป็นห้องพระบรรทมเก่า สนนราคาค่าห้องอยู่ที่คืนละ 100 บาท ถ้วนๆ มีห้องน้ำส่วนตัวพร้อม ซึ่งอ่างอาบน้ำในห้องนั้น ใหญ่พอเป็นสระน้ำย่อมๆได้สระหนึ่ง เดินต่อไปตามทางเชื่อม เข้าสู่ส่วนของพระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถาน แต่เดิมเป็นอาคารสองชั้น ก่อนต่อเติมเป็นสามชั้น ที่นึ่มักใช้เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ประกอบไปด้วยห้องพระบรรทม ห้องทรงพระอักษร และห้องสมุด จากระเบียงพระที่นั่งไวกูณฑเทพยสถาน มองไปเห็นพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ ซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้าชม เนื่องจากใช้เป็นที่ตั้งศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แต่สาเหตุที่สำคัญจริงๆ ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากความชื้น เพราะพระที่นั่งองค์นี้ไม่มีหลังคา เวลาฝนตกน้ำจะไหลลงจากดาดฟ้าผ่านปากสิงโตที่อยู่โดยรอบดาดฟ้า ความชื้นที่สะสมมาเกือบร้อยปีอาจทำให้เจ้าหน้าที่ต้องคอยดูแลพิเศษ จนไม่สะดวกต่อการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชม ห้องพระบรรทมครั้งหนึ่งเคยถูกใช้เป็นทึ่ตั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียง ข้างกำแพงยังมีแผ่นซับเสียงติดอยู่ให้เห็นเป็นหลักฐาน จากหน้าต่างห้องพระบรรทมมองไปเห็นสวนโรมัน พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และยอดโดมแดง เมื่อมองจากชั้นสองพระที่นังไวกูณฑเทพยสถาน เจ้าหน้าที่พาเราวนกลับลงมาชั้นล่าง ระยะเวลาเดินชมร่วมๆสองชั่วโมง ถือว่าคุ้มค่ากับการได้ชมสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบใกล้ชิด นี่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของช่างไทยไม่ว่าจะทั้งด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอยในพื้นที่ต่างๆ ล้วนผ่านการคิดการวางแผนมาเป็นอย่างดี ชั้นล่างมีร้านขายสินค้าที่ระลึก และจุดรับบริจาค สามารถอุดหนุนและบริจาคได้ตามศรัทธา ร้านกาแฟนรสิงห์ เดิมคืออาคารเทียบรถพระที่นั่ง ใช้เป็นลานเทียบรถพระที่นั่ง ปละห้องพักระหว่างรอเฝ้า เนื่องจากวันที่ไปติดภารกิจสำคัญจึงยังไม่ได้แวะไปเยี่ยมเยือน แต่เดี๋ยวจะพาไปชิมแล้วมาเขียนให้ได้อ่านในบทความต่อๆไปครับ ทิ้งท้ายด้วยภารกิจลับอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่บอกว่า ในพระราชวังนี้มีพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าถึง 8 แบบ แต่ผมหาเจอแค่ 3 แบบ ใครเจอครบ หรือเจอมากกว่าแบ่งปันกันได้นะครับ ทางเข้าดุสิตธานี ปัจจุบันเหลือเพียงซุ้มประตู ทิ้งท้ายจริงๆ ด้วยภาพพระราชวังยามบ่ายแก่ๆครับ