หลังจากเก็บของแบกเป้เตรียมโบกมือลาเมืองสวรรค์อย่างเมือง โภคารา ผู้เขียนและผองเพื่อนทั้ง 4 ก็ได้ไปสถานีรถบัสที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบ เฟวา มากนักเพื่อต่อรถจาก โพคารา ไปยังเมืองหลวงของเนปาล คือ กาฐมาณฑุ กาฐมาณฑุ กาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาลตั้งอยู่ในหุบเขาที่เต็มไปด้วยสถานที่ตั้งอันเป็นประวัติศาสตร์ วัดและศาลเจ้าโบราณ เจดีย์ทองและหมู่บ้านที่น่าไปเที่ยวชม โรงแรม บาร์และร้านอาหารมีให้เลือกลิ้มลองตามงบประมาณในกระเป๋า ร้านค้าจำหน่ายงานหัตถกรรม พรม และกระดาษพิมพ์ของเนปาล บริการรถประจำทาง รถแท็กซี่ และรถจักรยานวิ่งชมทิวทัศน์รอบเมือง หรืออาจเลือกไปยังวัดลิง ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของหุบเขาแห่งนี้ หรือไปยังอนุสาวรีย์จตุรัสเดอร์บาอันคลาคล่ำไปด้วยชาวท้องถิ่นและสัตว์ และวัดหรือปีนเขาในย่านอำเภอทมิฬ การเดินทาง การเดินทางของเราใช้รถ local bus ซึ่งเป็นการเดินทางที่ประหยัดที่สุด เพียง 600 รูปีเนปาล ด้วยระยะทาง 200 กิโลเมตร ถ้าเป็นบ้านเราก็ประมาณ กรุงเทพ ปากช่อง ขับรถ 2 ชั่วโมงนิดๆก็คงถึงแต่ด้วยระยะทางจาก โภคารา ไป กาฐมาณฑุ นั้น รถต้องวิ่งขึ้นเขาสูงชันตลอดทางประกอบกับทางบางช่วงนั้นก็ไม่สู้จะดีนักรถเคลื่อนที่ได้ช้าบางระยะรถก็ติดนานจนผู้โดยสารสามารถลงจากรถมาเดินเล่นยืดเส้นยืดสายได้ตามสบาย จึงใช้เวลาเดินทางประมาณ เกือบ 10 ชั่วโมง ช่วงหนึ่งของการเดินทาง ผู้เขียนรู้สึกเบื่อและอึดอัดในการนั่งในรถบัส ซึ่งค่อนข้างที่จะแออัดมากๆ ผู้เขียนจึงขอขึ้นไปนั่งบนหลังคารถบัสเพื่อสูดอากาศของเนปาลให้เต็มปอด ซึ่งอากาศในช่วงนั้นค่อนข้างที่จะเย็นสบายเป็นอย่างมาก อาหาร ที่พัก ผ่านไปเกือบ 10 ชั่วโมงหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางเราก็รีบหาโรงแรมเพื่อพักผ่อน เนื่องจากเราเที่ยวกันแบบ ไม่ได้จองที่พัก จองตั๋ว กันก่อนเลยเราจึงต้อง walk in เข้ากันแทบทุกๆที่ที่เราไป แต่ที่ กาฐมาณฑุ นี่หาโรงแรมไม่ยากเลยครับ มีอยู่แทบทุกตรอก ทุกซอย ร้านค้า ร้าอาหาร ผับ บาร์ก็มีให้เลือกใช้บริการตามงบประมาณในกระเป๋าของท่านได้เลยที่พักในกาฐมาณฑุนั้นแล้วแต่ประเภท ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายแบบ โดยราคาอยู่ระหว่าง 200-9,500 บาทต่อคืน ส่วนการเข้าพักของผู้เขียนและเพื่อนนั้นจะพักห้องใหญ่ที่นอนกองๆกันได้ 4 คน ค่าที่พักราคา 1,375 รูปีเนปาล ประมาณ 350 บาท จัดว่าถูกมาก ส่วนอาหารนั้นก็แล้วแต่เลือกว่าจะไปรับประทานแบบธรรมดาหรือร้านอาหารดีๆ ซึ่งมีราคาประมาณ 150-800 รูปีต่อมื้อ ถ้าเป็นอาหารพื้นถิ่นของเนปาลราคาก็จะถูกลงมาหน่อยรสชาติของอาหารเนปาลก็จะคล้ายๆกับอาหารอินเดียที่อาหารคาวจะหนักไปทางเครื่องเทศ และของหวานก็จะหวานมากๆ เมนูอาหารข้างทางที่ผู้เขียนแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ก็คือ Momo โมโม่ รสชติของโม่โม่ก็จะคล้ายกับเกี๊ยวซ่า มีทั้งไส้ผัก ไส้เนื้อแพะ เนื้อไก่ ให้ท่านเลือกรับประทานตามชอบเลย สถานที่ท่องเที่ยว จัตุรัสดูร์บาร์ – กาฐมาณฑุ Kathmandu Durbar Square จัตุรัสกาฐมาณฑุ ดูร์บาร์ ประกอบไปด้วยวัด และปราสาทที่เก่าแก่ ซึ่งแสดงภาพความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมของชาวเนปาล ยังเป็นสถานที่ราชาภิเษกขึ้นครองราชย์อีกด้วย จัตุรัสกาฐดูร์บาร์ มีสถาปัตยกรรมและงานฝีมือของช่างชาวเนวาร์อายุหลายร้อยปีค่าเข้าชม 1000 รูปี ใช้เวลาเดินเที่ยวประมาณ 3-4 ชม. เพื่อชมอาคารสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้ด้วยความทึ่งในงานออกแบบและไม้แกะสลักที่สวยงาม สถูปโพธานาฑ Boudhanath Stupa สถูปเจดีย์แห่ง นี้เป็นหนึ่งในสี่แห่ง ของเนปาล ที่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเนปาลและนักท่องเที่ยวตามมาเยือนด้วยความศรัทธา และ ชื่นชมความสวยงาม บริเวณรอบๆของเจดีย์ เป็นอาคารเก่า เต็มไปด้วยร้านจำหน่ายของที่ระลึกร้านอาหารร้านกาแฟ บรรยากาศ ดี สามารถขึ้นไปนั่ง สารอาหารและ ชมทัศนียภาพ จากชั้นดาดฟ้า ได้ วัดสวะยัมภูนาถ Swayambhunath Temple วัดศักดิ์สิทธิ์ มีสถูปเจดีย์อยู่บนยอดเขา จดลานเจดีย์สามารถมองเห็นวิวเมืองกาฐมาณฑุได้ จากย่านThamel ถ้าไม่่อยากเดินไปก็เรียกแทกซี่เหมาไปกลับ(ให้เวลาเดินเที่ยวประมาณ1ชั่วโมง)ราคา1000รูปีนั่งไป4คนก็จะคุ้ม ค่าเข้าคนละ200รูปี เป็นวัดที่อยู่บนเนินเขาฝั่งตะวันตกของกาฐมาณฑุ มีลิงเยอะแต่ลิงสุภาพกว่าเมืองไทยมาก มีอาคารร้านขายภาพวาด ของที่ระลึกที่เปิดให้ขึ้นไปบนดาดฟ้าดูวิวมุมสูงมองลงมาเห็นทั้งเมือง เท่าที่เห็นมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเยอะที่สุด การได้เดินทางท่องเที่ยวเมืองกาฐมาณฑุของพวกเราก็ได้สิ้นสุดลงพร้อมความประทับใจ อิ่มใจ ได้ทำบุญ ดูวัด ศิลปะ สถาปัตยกรรมเก่าของเมือง พร้อมได้สัมผัสถึงวิถีชิวิตของชาวเมืองซึ่งมีความเป็นมิตรที่ดี หากท่านผู้อ่านสนใจที่จะมาเมืองแ่ห่งนี้ท่านสามารถแบกเป้มาคนเดียวก็ทำได้ หรืออาจะมาเป็นกลุ่มเพื่อนก็เหมาะ ค่าใช้จ่ายสบายกระเป๋า เนื่องจากค่าอาหาร เดินทาง และที่พักราคาไม่แพงมากนัก ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งหากผู้อ่านได้เดินทางมาที่กาฐมาณฑุจะได้รับความประทับใจเหมือนที่ผู้เขียนได้สัมผัสและถ่ายทอดออกมา ภาพทั้งหมดโดยผู้เขียน