“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมี ต้นศรีมหาโพธิ หน้าโบสถ์หกวิหาร เจ็ดทวาร แปดเจดีย์” นี่คือคำกลอนบอกเล่าซึ่งเปรียบเสมือนลายแทงปริศนาเกี่ยวชุมชนโมคลานที่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชหลายท่านคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พื้นที่ของโบราณสถานโมคลานได้มีการขุดพบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซากวิหาร เจดีย์ อาคาร กำแพงแก้ว หลักหิน จารึกแผ่นดินเผา สระน้ำโบราณ ฐานโยนี พระพุทธรูปปูนปั้น และเศษภาชนะดินเผาหลากหลายรูปแบบ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของโมคลานถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อนจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัดพุทธในลำดับต่อมา และคาดว่าคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบ และรัฐภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐทวารวดี เวียดนาม ขอม จีน อินเดีย เปอร์เซีย ฯ เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก อีกทั้งยังมีเส้นทางคมนาคมผ่านลำน้ำสายใน และการค้นพบหลักฐานประเภทเงินตราต่างประเทศต่างดินแดนจำนวนหนึ่ง ผมกับเพื่อนเดินชมซากปรักหักพังของโบราณสถาน ซึ่งบางส่วนได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร จนพอเห็นเค้าโครงลักษณะที่ตั้งของศาสนสถานชัดเจนมากยิ่งขึ้น เดินถัดมาจนถึงทางด้านทิศตะวันออก โอ้แม่เจ้า ! กองหลักหินอะไรจะมากมายขนาดนั้น สมกับชื่อที่เรียกกันว่า “โมคลานดินแดนแห่งหลักหิน” เพราะมันมีเยอะเสียจนผู้พบเห็นต้องตะลึง หลักหินที่พบเดิมคงเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน แต่เมื่ออาคารพังทลายลงมาชาวบ้านจึงนำมากองรวมกันไว้ ซึ่งบางหลักอาจมีอายุเก่าลงไปถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ทำให้ผมนึกถึงภาพในหนังสือเล่มหนึ่งที่ปรากฏภาพหลักหินที่สลักลวดลายอันวิจิตรงดงามมาก แต่ทว่ากลับกลายเป็นเสาบ้านของคนในพื้นที่ไปเสียแล้ว และไม่ทราบว่าหลักหินเหล่านี้กระจัดกระจายไป ณ ที่ใดอีกบ้าง ? ปัจจุบันโบราณสถานโมคลานตั้งอยู่ภายในวัดโมคลาน และใกล้กับโรงเรียนโมคลานประชาสรรค์ อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นท่านใดที่สนใจสามารถเดินทางมาเที่ยวชมได้นะครับ เพราะเส้นทางสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก จากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่