ความเชื่อ ถือเป็นสิ่งที่คนไทยหลายคนให้ความสำคัญ และยังถือได้ว่า เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ คนสมัยก่อนกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอให้มีบุตร ขอให้พบรักแท้ ขอให้สำเร็จด้านหน้าที่การงาน แต่ในปัจจุบันนี้ นอกจากจะกราบไหว้เพื่อขอพรสิ่งต่างๆแล้ว ยังมีผู้กราบไหว้ เพื่อแสวงหาตัวเลขกันอย่างมากมาย ซึ่งในประเทศไทย ก็มีสถานที่ที่นักแสวงโชคไปกันหลายแห่ง จักราฟ้าวรวิหาร คือสถานที่ที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อดำ ตั้งอยู่ที่ ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพสาลี จังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่อดำเป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงสุโขทัย มีอายุราว700 ปี ถูกค้นพบอยู่กลางป่าช้า วัดสระทะเล เดิมทีมีองค์พระทั้งหมดสามองค์ แต่ในปัจจุบันคงเหลืออยู่แค่องค์เดียว ชาวบ้านไพสาลีจึงอัญเชิญท่านไว้ในศาลาที่ยกมุงด้วยสังกะสี ต่อมาชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อ ได้จัดสร้างวรวิหารจักราฟ้าแห่งนี้ขึ้นใหม่แทนศาลาหลังเก่า มาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อดำ คือองค์พระพุทธรูปปรางสมาธิ เนื้อองค์พระเป็นสีดำถูกปิดด้วยทองเปลวรอบองค์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในละแวกนี้รู้กันดี ถึงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เรื่องการให้โชค ครั้งหนึ่งมีครูในหมู่บ้านละแวกนั้น เข้ามาบนบานท่านแล้วเสี่ยงโชคไป ปรากฎว่าถูกรางวัลใหญ่ ร่ำรวยด้วยบารมีท่าน บางคนบนบานเรื่องสุขภาพโรคภัย ไม่นานนักก็หายเป็นปกติ ขอเกี่ยวกับเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ขายได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ชาวบ้านแถวนี้ยังมีความเชื่อกันว่า ถ้าบนบานสิ่งที่หลวงพ่อดำท่านชอบก็จะสมหวังรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลิเก มหรสพต่างๆ ซึ่งเป็นที่โปรดปราณของหลวงพ่อ จึงพบเห็นการแก้บนด้วยวิธีรำรอบองค์พระอยู่เสมอ โดยจะมีรถแห่แตรวงมาคอยสร้างเสียงเพลงและความสนุกสนาน ให้แก่ผู้ที่มาแก้บนได้รำวงกันอยู่เกือบทุกวัน วิหารแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนไพสาลี นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาจากต่างจังหวัด จำเป็นต้องแต่งกายให้เหมาะสม ก่อนจะเข้าไปในวิหารเสมอ แต่สำหรับท่านใดที่ไม่ได้เตรียมตัวมา หรือแต่งกายไม่เหมาะสม ทางวัดก็ได้จัดเตรียมผ้าถุงไว้ให้เปลี่ยนอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ก่อนเข้าไปในวิหารเสมอ หลังจากที่เข้าไปกราบสักการะองค์หลวงพ่อดำเพื่อขอโชคขอลาภกันแล้ว ทางวัดยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหนึ่งจุดก็คือ ศาลาริมสระน้ำขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่มายืนชมบรรยากาศลมพัดเย็นสบาย และยังสามารถทำบุญให้อาหารปลาได้อีกด้วย ถึงแม้ผู้คนจะหลั่งไหลมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อดำสักเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เคยจางหายไป คือการร่วมแรงร่วมใจของคนไพสาลี ที่ช่วยกันจัดสร้างวิหารแห่งนี้จนสำเร็จ และช่วยกันดูแลทำนุบำรุงพระศาสนาของไทย ให้สืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลานสาธุ ภาพจากผู้เขียน: ยุทธพงศ์ / ภาพปก /ภาพที่1 /ภาพที่2/ภาพที่3/ภาพที่4/ภาพที่5 อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !