เมืองรถม้าลำปาง มีวัดพม่าหลายวัด ซึ่งก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่าเท่าไร พอเริ่มสนใจเที่ยววัด โดยเริ่มจากในลำปางบ้านเราก่อน ก็พบว่าวัดพม่ามีเยอะพอสมควร ทั้งที่มีชื่อเสียงมานาน เช่น วัดศรีชุม วัดไชยมงคล และแน่นอนว่า หนึ่งในนั้นมีชื่อ “วัดศรีรองเมือง” ด้วย และวันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ ไปเที่ยวกันค่ะ “วัดศรีรองเมือง ถ.ท่าคราวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง” คือพิกัดของวัดแห่งนี้ คนพื้นที่มักจะคุ้นเคยว่าตั้งอยู่แถวแยกโรงน้ำแข็ง หรือแถววิทยาลัยเทคนิค ด้านหน้าวัด ไม่มีจุดสังเกตใด ๆ มากนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้หายากแต่อย่างใด โดยมีลักษณะดังภาพ มีป้ายสีแดงแผ่นเล็ก เขียนชื่อวัดไว้ชัดเจน ด้านบนขอบสีทอง เป็นชื่อของผู้มอบที่ดินเพื่อสร้างวัดแห่งนี้ เราได้ถ่ายภาพมาด้วยนะ ไปชมพร้อม ๆ กันเลย หันหน้าเข้าหน้าวัดทางซ้ายมือ จะมีลานจอดรถไว้บริการ ไม่ต้องจอดไว้หน้าวัด เพราะแถวนี้รถเยอะตลอดทั้งวัน เนื่องจากอยู่ในตัวเมือง จะได้ลดอันตรายไปในตัว สำหรับการชมวัดหลัก ๆ คือวิหารหลังนี้ ทางขึ้นเป็นบันไดซีเมนต์ ไม่ได้ตกแต่งใด ๆ แต่จุดเด่นคือส่วนของเพดานสีแดงเข้ม ทาขอบด้วยสีดำ ไม้สักฉลุลายสวยงามตลอดสองทางเดิน พ้นจากบันได เราจะพบกับ “เทพทันใจ” เป็นลำดับแรกสุด ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางพม่าอย่างหนึ่ง จะเห็นว่าพื้นเป็นไม้สักขัดมันอย่างดี มีการประดับด้วยโคม และตุงล้านนา เกือบทั่วบริเวณ รวมถึงมีประวัติของวัดให้เราให้ศึกษาด้วย ประตูที่เห็นด้านหลัง ไม่ได้มีเฉพาะช่วงนี้เท่านั้น แต่จะมีประตูลักษณะนี้ทั้งแถบเลย จะเลือกเข้าทางไหนก็ได้... ไปคะ!! ไปกราบพระด้านในกัน สิ่งที่สร้างความตื่นตาปนความประทับใจก็คือ ลวดลายแกะสลักตกแต่ง ที่เพดาน เสา บัวหัวเสา ผนังห้อง มณฑปพระพุทธรูป ทั้งหมดนี้ มีการลงรักปิดทองในส่วนต่าง ๆ เอาไว้อย่างประณีตบรรจง จึงสร้างความวิจิตรงดงามอย่างมาก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะวัดพม่าเท่านั้น และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ต้องอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างดี เพราะวัดไทย จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างออกไป หมายความว่า งามไปคนละแบบ ทางวัดมีส่วนที่เก็บของโบราณไว้ทางด้านซ้าย โดยส่วนใหญ่จะบอกถึงความเกี่ยวเนื่อง ของบุคคลสำคัญที่มีคุณูประการต่อวัด นับแต่อดีตกาล และในภาพนี้ คือ “จองตะก่าอินต๊ะ-แม่จองตะก่าคำออน ศรีสอง” ซึ่งเป็นชาวพม่า ท่านได้มอบที่ดินเพื่อสร้างวัดศรรองเมือง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยความเลื่อมใสในพุทธศาสนา และชื่อของทั้ง 2 ท่าน ได้ถูกสลักไว้ที่ประตูทางเข้าวัด ที่เราได้เกริ่นไว้ข้างต้นด้วย บริเวณด้านบนวิหาร ไม่ได้กว้างขวางมากเท่าไร แต่มีจุดให้เราได้เที่ยวชม และศึกษาประวัติความเป็นมาพอสมควร จึงใช้เวลาราว ๆ ครึ่งชั่วโมงในการเก็บภาพ และอยากบอกว่าประทับใจกับลวดลายด้านในวิหารมาก ๆ เลยทีเดียว ในช่วงที่เดินลงบันไดมา บังเอิญมองขึ้นไปบนเพดาน ไม่รู้ใครเห็นว่ายังไง แต่เรามองเข้าไปแล้ว เหมือนภาพ 3 มิติยังไงยังงั้น ด้านบนมีภาพ “พระศรีรองเมืองทัศนมงคล” วาดประดับเอาไว้ และเพื่อความเป็นสิริมงคล เรายกมือท่วมหัว พร้อมกล่าวคำสาธุ 3 ครั้ง ... ก่อนเดินทางไปจุดหมายอื่นต่อไป เอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่าง ของวิหารที่เป็นศิลปะพม่าคือ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ สร้างลดหลั่นกันเป็นชั้น ๆ มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ขนาดใหญ่ ซ้อนสลับกันไป ส่วนตัววิหาร ก่อสร้างแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะของพม่าโดยแท้ และที่ลำปางมีให้ชมอีกหลายวัด ซึ่งแต่ละวัดจะอยู่ในอำเภอเมือง ไม่ไกลกันมากด้วย หากเพื่อน ๆ ชอบศิลปะพม่า หาเวลามาเที่ยวชมกันนะ เที่ยววัดลำปาง ประทับใจแน่นอน วัดพม่าในจังหวัดลำปางอีกหนึ่งแห่ง คลิ๊กเลย!>> เช็คอินลำปาง เที่ยววัดป่าฝาง ศิลปะพม่ากลางเมือง