แวะมาอัปเดตเกี่ยวการ e-visa อินเดียสำหรับคนที่อยากเที่ยวอินเดียแต่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มตรงไหน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเริ่มที่การขอ Visa หรือ e-Visa ก่อน แต่ก่อนจะพาไปดูวิธีกรอกเราไปดูเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ e-Visa กันก่อนเลย 1. เข้าอินเดียต้องขอ Visa หรือ E-visa และทั้ง 2 ประเภทแยกกันอย่างชัดเจน ปัจจุบันนี้ยังมีคนอินบล็อกมาถามอยู่นะว่าเข้าอินเดียต้องขอวีซ่าไหม หรือไปแค่ 4-5 วันต้องขอไหม ซึ่งไม่ว่าจะไปกี่วันก็ต้องขอ Visa หรือ E-visa เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง Visa และ E-visa ต่างกันที่ Visa จะมาในรูปแบบเล่ม ใช้เอกสารเยอะกว่า และต้องไปติดต่อด้วยตัวเอง ราคาสูงกว่า E-visa รูปแบบออนไลน์ ไม่ใช้เอกสารอะไรแค่รูปถ่ายโดยต้องมีพื้นหลังสีขาว และหน้าพาสปอร์ต ทำออนไลน์ ราคาเบากว่าวีซ่า ได้มาในรูปแบบกระดาษ 2. ไม่ใช่ฟรีวีซ่า แต่เป็นฟรีค่าธรรมเนียมการของ e-Visa ( ประเภท double entry 30 วัน ) ตอนที่ประกาศฟรีวีซ่าใหม่ๆ ก็มีหลายคยเข้าใจว่าฟรีแบบไม่ต้องทำอะไรไปได้เลย ซึ่งมันไม่ใช่ ซึ่งเราก็เคยได้เขียนบทความอธิบายไปแล้วและหลังจากบทความปล่อยออกไป มีคนอินบล็อกมาบ้างและคอมเมนต์ในทวิตบ้างว่า เพิ่งเห็นบทความกำลังจะเดินทางอีก 3 วันบ้าง 5 วันบ้าง 1 อาทิตย์บ้างยังไม่ขออีวีซ่าเพราะคิดว่าหิ้วกระเป๋าไปได้เลย ดังนั้นชี้แจงกันอีกรอบคือ ไม่ได้ฟรีวีซ่าแบบมาเลเซีย เวียดนามฟรีให้ไทย แต่เป็นการฟรีค่าธรรมเนียมการขออีวีซ่า ซึ่งฟรีค่าธรรมเนียมแค่ประเภท double entry พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน 3. ได้รับฟรีค่าธรรมเนียมการของ e-Visa ไปแล้ว ขออีกจะฟรีไหม หลายคนคิดว่าฟรีได้แค่คนละครั้งนั่นแหละ แต่ไม่ใช่... เนื่องจากปีนี้งานเรารัดตัวมากๆ ทำให้เที่ยวเล่นในอินเดียได้แค่ครั้งล่ะไม่เกิน 30 วันเลยขอแบบ 30 วันไปเมื่อสิงหาคมซึ่งเป็นฟรีค่าธรรมเนียม และธันวานี้ก็ต้องไปอีกรอบ จึงได้ทำการขออีวีซ่าในเดือนธันวาคมนี้ พออัปโหลดรูปและพาสปอร์ตเสร็จแทนที่จะไปหน้าจ่ายเงินแต่มันไปหน้าการกรอกเสร็จสิ้นแล้ว ขึ้นสถานะรอ พร้อมเลขแอปพลิเคชันไอดีการกรอก เราเลยอึ้งปนงงเล็กน้อยว่าไม่ต้องจ่ายเงินหรอ ใช่ค่ะ ได้ฟรีไปแล้วก็ยังสามารถได้รับการฟรีค่าธรรมเนียมครั้งต่อมาอยู่ เจ๋งไปเลย ( แต่ไม่แน่ใจว่ามีลิมิตฟรีค่าธรรมเนียมได้กี่ครั้งนะ ต้องลองดู ) ** ณ วันที่เขียนบทความนี้คือ 23 ธันวาคม ยังคงฟรีค่าธรรมเนียมการของ e-Visa อยู่ แต่หมดเขต 31 ธันวาคม 2567 ส่วนจะขยายเวลาต่อไหมต้องติดตามกันอีกที 4. ประเภทของ e-Visa อีวีซ่าของอินเดียนั้นไม่ได้มีแค่ double entry แต่ยังมี multiple entry อีก โดยทั้งสองมีความต่างกันในเรื่องของเงื่อนไขและระยะเวลาการพำนัก แบ่งเป็น Double entry เข้าออกได้ 2 ครั้ง สามารถกลับเข้าอีกครั้งได้โดยไม่ต้องเว้นระยะการเข้า พำนักได้ไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องเข้าอินเดียภายในระยะเวลาของอีวีซ่า เช่น เข้าวันที่ 1 ธันวาคม ออก 10 ธันวาคม อีวีซ่าหมดอายุ 31 ธันวาคมและอยากกลับเข้าอีกสามารถกลับเข้าได้ก่อน 31 หรือ มาอินเดียแล้วออกไปเนปาลแล้วกลับเข้าอินเดียอีกรอบจึงกลับไทย อีวีซ่าประเภทนี้จะตอบโจทย์ทริปคุณค่ะ multiple entry เข้าออกได้หลายครั้ง พำนักได้ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง โดย 1 ปีปฏิทินต้องรวมกันไม่เกิน 180 วัน และหากออกจากอินเดียแล้วต้องเว้นระยะ 2 เดือนก่อนถึงจะกลับเข้าไปใหม่ได้ 5. การขอล่วงหน้า ควรขอก่อนกี่วัน Double entry ขอล่วงหน้าไม่เกิน 30 วัน แต่เราแนะนำว่าขอก่อน 1-2 อาทิตย์ เพราะทันทีที่อีวีซ่าอนุมัติมันจะนับอายุเลย ถ้าคุณขอล่วงหน้า 30 วัน ส่วนมากมันจะไปหมดอายุในวันเดินทางของคุณ หลายเคสเลยค่ะที่อินบล็อกมาถามเราว่า วันหมดอายุเป็นวันเดินทางจะเดินทางได้ไหม เพราะฉะนั้นกะวันล่วงหน้าเป็นสัปดาห์จะดีกว่า Multiple entry ขอล่วงหน้าหลายเดือนได้ แต่ก็เช่นเดียนกันคือนับอายุเลยเมื่ออนุมัติ ถ้าขอล่วงหน้า 2 เดือนก็อาจจะหมดอายุไวขึ้น ถ้าไม่ซีเรียสก็ขอได้เลยค่ะ 6. รูปแบบเอกสาร e-Visa รูปแบบใหม่ ปัจจุบันเปลี่ยนเอกสารมาเป็นเอกสารที่มีแทบสีน้ำเงินด้านบนสุด รายละเอียดแยกเป็นตาราง ส่วนที่เราชอบคือ มันมีการอธิบายเงื่อนไขการนับวันพำนัก เมื่อก่อนมันมีเคสที่คนไทยเข้าไปเที่ยวโดยเข้าก่อนวันหมดอายุ แต่ช่วงที่อยู่มันไม่ได้อยู่ในกรอบอายุ เพราะการนำวันพำนักของ double entry จะนับวันที่ 1 ในวันที่เราถึงอินเดีย นับไป 30 วัน ขอแค่เขาก่อนวันหมดอายุก็คือไม่ผิด แต่เวลาที่พักเขารับอีวีซ่าไปมันจะเห็นแค่วันหมดอายุกับเงื่อนไขยาวเหยียดแต่ไม่มีอธิบายว่าสามารถเข้าอยู่ได้นะ นักเดินทางต้องอธิบายหนักมากเพื่อให้เขายอมฟังหรือยอมดูตราประทับในพาสปอร์ต ( มันมีระบุว่าต้องออกก่อนเมื่อไร ) ซึ่งพอรูปแบบใหม่มีระบุแบบชัดเจน เราว่าส่วนนี้น่าจะช่วยนักท่องเที่ยวอธิบายให้ที่พักเข้าใจได้ง่ายขึ้น 7. เงื่อนไขการพำนัก 180/1 ปี ในอินเดีย คนที่เข้าบ่อยอยู่นานส่วนใหญ่ก็จะถือ e-Visa 1 หรือ 5 ปีกันเพราะมันสามารถพักได้ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง แต่ใดๆ ก็ตามมันจะมีข้อกำหนดชัดเจนว่าต้องไม่เกิน 180 วันต่อ 1 ปี ถ้าครบแล้วก็คือครบ จะเปลี่ยนอีวีซ่าเลขใหม่มาก็ไม่สามารถเข้าได้นะคะ ครบ 180 แล้วในปีนั้นก็คือครบ มันเป็นข้อง่ายๆ ที่มีคนไม่รู้และเข้าใจผิดไปว่าถ้าเปลี่ยนเป็นอีวีซ่าเลขใหม่ก็จะนับใหม่ ซึ่งมันไม่ใช่ ในส่วนนี้เงื่อนไขข้างใต้ของอีวีซ่าระบุไว้ชัดเจนมากๆ ว่า 1 ปีอยู่ได้ไม่เกิน 180 วัน ในรูปแบบใหม่ก็ยังมีระบุเช่นเดิม 8. ขอ Evisa แล้วกี่วันจึงจะรู้ผล ตามระบบก็คือ 72 ชม. แต่บางช่วงหน่วยงานทำงานเร็ว เช้าวันถัดมาก็ได้แล้ว และช่วงนี้เรารู้สึกว่าอีเมลมาช้า สถานะมันอนุมัติในระบบแล้วแต่อีเมลไม่มา โดยปกติการขออีวีซ่าแต่ละครั้งของเรา เราจะได้รับอีวีซ่าในเช้าวันถัดไปเสมอ มีรอนานแค่ครั้งเดียวคือช่วงแรกของการไปอินเดีย แต่ครั้งล่าสุดนี้ไม่มีเมลมา ด้วยความรู้สึกว่าทำไมครั้งนี้ช้ากว่าทุกครั้ง ด้วยความคิดมากคิดไปเองจึงกังวล เลยลองเอาเลขไปเช็กในระบบ ปรากฏว่ามันอนุมัติแล้วแบบที่ผ่านมา ขอวันพฤหัส วันศุกร์ได้รับ หลังจากนั้นวันถัดมาเมลถึงตามมา เอาเป็นว่าลองเอาเลขแอปพลิเคชันไอดีไปเช็กกันด้วย สถานะมันอาจจะขึ้นแล้วแต่บางทีเมลมันอาจจะเดินทางมาช้าไปหน่อย และนี่ก็คือเรื่องเกี่ยวกับ e-Visa อินเดีย เรามุ่งเน้นไปที่ e-Visa มากกว่า Visa เพราะส่วนมากหลายๆ คนจะเลือกทำ e-Visa มากกว่านั่นเอง และสำหรับใครอยากดูวิธีการกรอกอีวีซ่าสามารถเข้าไปดูได้ที่ วิธีขอ e-Visa อินเดีย แม้เป็นบทความปี 2023 แต่รายละเอียดกรอกส่วนใหญ่เหมือนเดิม มีปรับเปลี่ยนแค่อย่างเดียวคือสำหรับฟรีแลนซ์หรือสายอาชีพที่ทำอยู่บ้านทั้งหลาย ปัจจุบันนี้จะมีตัวเลือกอาชีพ Freelancer ซึ่งไปอยู่ต่อท้ายกับ Self Employed ในหมวดอาชีพเพิ่มเข้ามาให้ ไม่ต้องเลือก Other แล้ว แต่ยังต้องเขียนระบุเช่นเดิมว่าลักษณะงานคืออะไร สุดท้ายนี้ใครชอบบทความนี้ก็สามารถแชร์ออกไปได้เลย หรือแวะมาติดตามเรื่องราวอื่นๆ ของเราได้ที่ twitter ที่ Artinime หรือ Facebook เพจ แบกกล้องชิวเที่ยวไปเรื่อย ได้เลยค่ะ https://x.com/supamas_kpr/status/1836232424138903655 ถ่ายภาพและเรียบเรียงเนื้อหาโดย หญิงเถื่อน เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !