หากจะพูดถึงแหล่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางด้านพระพุทธศาสนาของเชียงใหม่ วัดสวนดอกเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และมีจุดให้ได้ศึกษาหลายจุดด้วยกัน วันนี้จะพาไปเยี่ยมชมส่วนต่างๆ ของ วัดสวนดอก กันครับ วัดสวนดอก ตั้งอยู่เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (อยู่บนถนนห้วยแก้ว บริเวณโรงพยาบาลสวนดอก) วัดนี้เป็นวัดที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นผู้ทรงสร้าง ถือเป็นวัดที่สำคัญและได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ พระบรมธาตุเจดีย์ สร้างสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อปี พ.ศ.1916 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมมีทางขึ้น 4 ด้าน ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำแบบเจดีย์ลังกา พระบรมเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา มีความยิ่งใหญ่และสวยงามมากครับ พระเจ้าเก้าตื้อ พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งมีน้ำหนัก 9 ตื้อ หากคำนวณเป็นน้ำหนักสากลก็จะประมาณ 126,000 กิโลกรัม (1 ตื้อ เท่ากับ 1,400 กิโลกรัม) สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ.2047 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก นับตั้งแต่ลงมือหล่อพระพุทธรูป จนตกแต่งให้เป็นเงางามเรียบร้อยทุกประการ เป็นเวลานานถึง 5 ปี พ.ศ.2052 โดยหากใครแวะเวียนมาเชียงใหม่ นอกจากขึ้นไปพระธาตุดอยสุเทพแล้ว อย่าลืมมาไหว้บูชาพระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอกแห่งนี้ด้วยนะครับ มาชื่นชมพระพุทธรูปศักดิ์ของเมืองเชียงใหม่ที่ได้ชื่อว่างดงามที่สุดในล้านนา และมีตำนานว่า ผู้มาอธิษฐานขอบุตรและปรารถนาสิ่งต่างๆ มักจะประสบความสำเร็จครับ พระวิหารหลวง มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วา จำนวนเสา 56 เสา โดยมีลักษณะพิเศษ คือเป็นวิหารโถงแต่ไม่มีฝาผนัง จะมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้าน และมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงาม กู่ครูบาเจ้าศรีวิชัย สถานที่บรรจุอัฐิครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์และเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ ในบริเวณวัดจะมีกู่เจ้านายฝ่ายเหนือ (สุสานราชตระกูล ณ เชียงใหม่) จัดตั้งอยู่ด้วย จะเห็นเป็นกู่สีขาว ประกอบไปด้วยกู่ที่ภายในบรรจุอัฐิเชื้อพระวงศ์ที่สำคัญ ไล่เรียงอดีต ลำดับตั้งแต่กู่พระเจ้ากาวิละ จนถึงกู่เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ โดยกู่เจ้าหลวงแห่งนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติด้วย ซึ่งจุดนี้มักจะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาถ่ายภาพเนื่องจากอาจจะดูแล้วสวยงาม แต่ถ้าหากเห็นนักท่องเที่ยวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต้องรีบแจ้งทางวัดนะครับ ทั้งนี้ในบริเวณวัดจะมีการให้ข้อมูลความรู้ประกอบและอยู่ในตัวเมือง เดินทางได้สะดวก จึงเหมาะสมกับแวะมาท่องเที่ยวและไหว้พระเสริมศิริมงคลให้ชีวิตครับ