จ้ำ บึด ...บุญซ่วงเฮือ การเดินทางไปหลวงพระบางคราวนี้ เพราะยังคงหลงมนตร์เสน่ห์ของเมืองหลวงพระบางอยู่ รวมทั้งอีกหลากหลายความรู้สึกที่ทำให้ต้องมาเมืองหลวงพระบาง ทั้งน้ำใจไมตรีที่เคยได้รับในการเดินทางครั้งก่อนๆ ที่ยังคงเป็นความรู้สึกค้างคาและซาบซึ้งอยู่ในใจ ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้อาจจะไม่สะดวกนักเพราะเป็นฤดูฝน ถนนหมายเลข 13 ถูกน้ำเซาะพังไปบ้าง ดินถล่มปิดทางหรือไม้ล้มกีดขวาง แต่สุดท้ายบรรยากาศบนรถก็ยังเป็นไปด้วยมิตรภาพทั้งจากชาวลาวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เวลา 1 ทุ่มกว่าๆ ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงสถานีขนส่งหลวงพระบาง ต่อรถไปยังที่พักหลังเดิมที่ได้โทรไปจองเมื่อ 15 วันที่แล้ว เมื่อรถจอดหน้าที่พักข้าพเจ้ามีความรู้สึกเหมือนกับได้กลับมาหาญาติพี่น้องอีกครั้ง เพราะคราวก่อนนั้นทางเรือนพักนี้ได้ผูกบายสีและไม่คิดค่าห้องในคืนสุดท้าย ...สำคัญที่ตรงนี้แหละ หลังจากเช็คอินและเก็บกระเป๋าแล้วก็ออกไปเดินตลาดหาอะไรรองท้องแวะเดินดูสินค้าที่ตลาดมืด...เหมือนเดิม ข้าพเจ้ากลับมานั่งดื่มที่ระเบียงของเรือนพัก คุณลุงกับคุณป้าเจ้าของเรือนพักก็เดินมาคุยเรื่องสารทุกข์ สุก ดิบ สักพัก ...เอาอีกแล้วครับ ไฟดับ…คุณป้าไปหาเทียนไขมาจุดให้ ผมนั่งมองเงาลางๆ ของแม่น้ำโขงที่กำลังเชี่ยวในความมืดและสอบถามเรื่องการแข่งเรือและงานบุญข้าวประดับดินที่จะมีขึ้นใน 2 วันข้างหน้า วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้าขอพักจากความเมื่อยขบจน 8 โมงเช้าจึงออกไปจิบกาแฟที่ร้านเดิม วันนี้ดูจะมีผู้คนมากมาย ทั้งนักท่องเที่ยวไทย ชาวต่างชาติ และชาวหลวงพระบางหรือเมืองใกล้ๆ เดินทางมาหลวงพระบางเพราะอีกวันจะเป็นวันแข่งเรือ ข้าพเจ้านั่งอยู่มุมสุดของร้านพอดีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางมาจากลำปางมานั่งใกล้ๆ เลยมีโอกาสได้คุยกับชาวไทยและมัคคุเทศก์สาวชาวเวียงจันทน์ ซึ่งแรกข้าพเจ้าคิดว่าเป็นคนไทยเพราะสามารถพูดภาษาไทยกลางได้ชัดเจน จึงสอบถามราคาเหมาเป็นหมู่คณะโดยสารมาทางรถตู้ มีโปรแกรมพักที่วังเวียง 1 คืนและหลวงพระบาง 2 คืน พร้อมมัคคุเทศก์ เนื่องจากวันนี้เป็นวันเลาะตลาด โดยตลอดถนนเจ้าฟ้างุ้มตั้งแต่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ วงเวียนน้ำพุ ถนนโพทิสะลาดจนถึงสนามหน้าวัดทาดหลวง ข้าพเจ้าเดินดูจนเมื่อยขาก็เห็นแต่สินค้าสมัยใหม่จากไทย จีน ส่วนสินค้าพื้นเมืองมีน้อยและก็ไม่ต่างจากสินค้าที่ตลาดมืดในยามเย็น...หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนสถานที่และเวลาในการขาย เพราะผู้ขายยังเป็นเจ้าเดียวกัน จากคำบอกเล่าของคุณวิไลวัน...มัคคุเทศก์เจ้าเดิม ได้ความว่า อาหารและขนมที่จะทำไปวัดรวมทั้งใบตองที่จะห่อข้าวประดับดินในวันพรุ่งนี้ต้องไปซื้อที่ตลาดสด หลังจากเดินเลาะตลาดอยู่นานก็ได้ไอศกรีมมากิน 1 ถ้วยเท่านั้น วันนี้ตอนบ่ายข้าพเจ้ามีเวลาว่างเลยได้ไปเที่ยวน้ำตกตาดเซ ซึ่งอยู่ห่างตัวเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 10 ก.ม. การไปน้ำตกแห่งนี้ไม่ธรรมดาเพราะต้องล่องเรือไปตามแม่น้ำคานเพื่อไปยังน้ำตก แต่เมื่อไปถึงท่าล่องเรือฝนได้เทลงมาต้องหลบอยู่ในเพิงใกล้ๆ ท่าเรือ รอฝนซา เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลจึงมีชาวลาวและนักท่องเที่ยวมากเป็นพิเศษ ทำให้ต้องรอคิวเรือถึง 4 ลำ เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ล่องเรือในน้ำคาน แม่น้ำคานสีแดงโคลนจากดินภูเขาที่ถูกสายฝนเซาะไหลรวมหล่อหลอมกลายเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของชาวหลวงพระบาง ไม่นานนักก็ถึงบริเวณน้ำตก นักท่องเที่ยวลาวไทยและเทศจำนวนมากต่างลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน มีช้างไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ประสงค์ขี่ช้างลุยน้ำตก สะพานแขวนทำจากไม้พาดขวางน้ำตกไปยังอีกฝั่ง นักท่องเที่ยวต่างหามุมเก็บภาพในฉากหลังที่เป็นน้ำตก ข้าพเจ้านั่งเรือทวนน้ำกลับเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ใหญ่ นักท่องเที่ยวขี่ช้างลุยน้ำตก ถึงแม้ว่าเป็นฤดูฝนแต่ในตัวเมืองหลวงพระบางเวลาบ่ายแก่ๆ ก็ร้อนเอาการ ข้าพเจ้าจึงแวะเข้าไปที่ตลาดดารา2 โดยตั้งใจว่าจะไปหาพี่วอน...ชาวบ้านผานมที่รู้จักกันเมื่อคราวมางานบุญสงกรานต์ แรกที่พี่วอนเห็นข้าพเจ้าก็ร้องทักอย่างเสียงดังและชวนกินขนมและพร้อมเดินแนะนำลายผ้าทอภายในร้าน ถึงแม้ราคาค่อนข้างสูงแต่ก็คุ้มค่าเพราะผีมือประณีตและลายสวยงามแบบหลวงพระบางแท้สมกับเป็นลูกหลานช่างทอผ้าประจำราชสำนักในอดีต พี่วอนแจ้งว่าได้รับรูปจากข้าพเจ้าครั้งถ่ายเมื่อตอนงานสงกรานต์ที่ผ่านมาแล้วอัดส่งมาให้ พี่วอนเล่าว่าพี่ขาวก็เดินทางมาจากเวียงจันทน์แต่คลาดกันเพราะพี่ขาวไปหาเพื่อนที่ตาดกวางสี นั่งคุยกันสักพักผมก็ขอตัวกลับเรือนพักเพราะยังเพลียอยู่ ตั้งใจว่าจะงีบสักหน่อยแต่ระหว่างทางเจอสหายพอนไซ...พ่อค้าเครื่องที่เคยล่องเรือมาจากห้วยทรายด้วยกัน จึงแวะนั่งคุยกันที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวหน้าห้องการแขวงหลวงพระบาง พอนไซสั่งจิ้นงัว...ไส้กรอกลาว ...ทำจากเนื้อวัวและเครื่องในผสมเครื่องเทศอ่อนๆ เวลากินมีแจ่วพริกป่นเคียงผักสด ข้าพเจ้าไม่เคยลองมาก่อนพอกินเข้าไปก็รู้สึกว่ารสชาติจะคล้ายๆ หม่ำวัว...อาหารอีสาน เป็นที่พอทราบกันว่าคนที่เดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเมื่อเจอคนรู้จักก็ย่อมสรวลเสกันเป็นธรรมดาและยิ่งเป็นสหายที่มีมิตรไมตรีแล้วเรื่องราวต่างๆ ในการสนทนาย่อมพรั่งพรูออกมามากมายเป็นพิเศษ สุดท้ายข้าพเจ้าก็ไม่ได้งีบ อาทิตย์ลับหล่นจมแม่น้ำโขงไปนานแล้ว เบียร์ลาวหมดไปหลายแก้ว...ขวด พอนไซชวนข้าพเจ้าไปดื่มสุรากลั่นที่ร้านและข้าวเย็นที่บ้านของเขาเพราะอยากแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักบ้านจะได้แนะนำภรรยาและลูกของเขาให้ข้าพเจ้ารู้จัก แต่ข้าพเจ้าต้องขออนุญาตปลีกตัวโดยสัญญาที่ว่า หากได้มาหลวงพระบางอีกจะโทรศัพท์มาบอกก่อนล่วงหน้าและจะไปหาที่บ้านเป็นอย่างแน่นอน ที่ปฏิเสธไม่ไปกับพอนไซนั้นเพราะข้าพเจ้าตั้งใจตั้งแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ว่าอยากได้ภาพสิมวัดเซียงทองในเวลาค่ำ แต่พอไปถึงทางวัดไม่ได้เปิดไฟสปอตไลท์ จึงเดินดูฝีพายที่กำลังเก็บตัวเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ สักพักสามเณรรูปหนึ่งเดินมาสนทนากับข้าพเจ้าด้วยคำถามแรกว่า “มาจากประเทศไทยหรือ” และตามมาด้วย “ทราบไหมว่าวัดนี้มีสร้างมานานเท่าไร” นั่นเป็นประโยคที่ทำให้ข้าพเจ้าได้รู้เรื่องในประวัติศาสตร์เมืองหลวงพระบางอีกมากมาย เนื่องจากสามเณรรูปนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับพุทธประวัติในลาว และแนะนำให้ข้าพเจ้าไปดูภาพและตำราเกี่ยวกับหลวงพระบางที่ห้องสมุดหลวงพระบางและที่ห้องสมุดสงฆ์ที่วัดสีบุญเฮือน เมื่อเห็นเวลาสมควรข้าพเจ้าก็นมัสการลากลับเรือนพัก ระหว่างทางได้เก็บบรรยากาศยามราตรีที่ดูจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากกระแสนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางมาสัมผัสวิถีเงียบสงบ ความงดงามในเงาอดีตแต่กลับกลายเป็นผู้ก่อเกิดเมืองหลวงพระบางให้ศิวิไลซ์ ร้านอิเทอร์เน็ต บาร์เบียร์ ร้านอาหารสไตล์ยุโรป ผับที่อยู่ไกลไปจากบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ ลานโบว์ลิ่ง นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้รับคำแนะนำจากรถตุ๊กตุ๊กว่าหากต้องการหญิงบริการก็จะพาไปพร้อมทั้งบอกราคาและสถานที่เสร็จสรรพ... รวมทั้งเสียงรถจักรยานยนต์ที่ปรับแต่งจนแสบหูตามค่านิยมเสื่อมจากประเทศศิวิไลซ์ คุณป้าที่เรือนพักอธิบายว่า ส่วนใหญ่ชาวหลวงพระบางเองจะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขาไว้อย่างดี ส่วนร้านอาหาร บาร์ อิเทอร์เนตนั้นส่วนมากจะเป็นของนายทุนต่างชาติโดยเฉพาะชาวไทย..! วันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าตื่นเช้าไปรอใส่บาตรตามวิถีหลวงพระบาง คราวนี้ข้าพเจ้าไปรอใส่บาตรที่หัวมุมตลาด นักท่องเที่ยวและชาวลาวจำนวนหนึ่งนั่งรอใสบาตรในบุญข้าวประดับดินโดยนอกจากข้าวเหนียวแล้ว จะมีขนมต้ม...ข้าวต้มผัดห่อใบตอง บ้างก็ใส่ถั่วเหลืองคลุกผสมไปด้วย ซึ่งข้าพเจ้าได้ลองชิมที่ร้านขายผ้าของพี่วอนเมื่อวาน ตามปรกติแล้วชาวหลวงพระบางจะนิยมใส่แต่ข้าวเหนียวแต่เนื่องจากวันนี้เป็นวันสำคัญคือบุญข้าวประดับดินจึงใส่ขนมต้มหรือขนมต่างๆ หากไม่มีเวลาทำก็ใส่ขนมหลากหลายที่บรรจุสำเร็จแล้วก็ได้ หลังจากเสร็จสิ้นการใส่บาตรที่หัวถนนแล้วข้าพเจ้าก็รีบสาวเท้ามุ่งตรงไปที่หอพิพิธภัณฑ์พระราชวังเดิม เพื่อร่วมการใส่บาตรโบราณ ซึ่งได้ยึดปฏิบัติมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีในงานบุญข้าวประดับดิน โดยจะมีจำนวนพระสงฆ์ 200 รูปมาบิณฑบาต ข้าราชการและชาวบ้านก็จะแต่งกายตามแบบประเพณี คือ ผู้ชายสวมกางเกงขายาว...ไม่ใช่ยีนส์ เสื้อเชิ้ต มีผ้าเบี่ยง ส่วนผู้หญิงก็เสื้อแขนยาว นุ่งซิ่นมีผ้าเบี่ยง งานนี้หญิงวัยกลางคนหรือวัยผู้ใหญ่จะสวมเสื้อผ้าไหมสวยงาม ปูเสื่อกกบ้างผ้ายางบ้างนั่งรอใส่บาตรอย่างเนืองแน่นตั้งแต่บันใดพระราชวังจนถึงหน้าประตูทางเข้า ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกงานบุญสำคัญของชาวหลวงพระบาง เมื่อถึงเวลา 8.00 น. พระก็จะสวดมนต์ ให้ศีล ให้พรแก่พุทธศาสนิกชน ต่อจากนั้นจึงเริ่มทำพิธีใส่บาตรบุญข้าวประดับดินอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากเจ้าแขวงหลวงพระบางและตามลำดับชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ ทหาร ชาวบ้าน เมื่อพระสงฆ์เดินมาได้สักระยะหนึ่งบาตรเต็ม พระก็จะหย่อนอาหารในบาตรที่เต็มแล้วนั้นตามพื้นเพื่อเป็นทานแก่ผู้ที่ยากไร้รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ทำอย่างนี้เรื่อยไปตลอดทางจนกว่าจะหมดพุทธศาสนิกชนที่รอใส่บาตร เป็นอีกหนึ่งภาพประทับใจในขนบประเพณีวัฒนธรรมของชาวหลวงพระบาง หลังจากเสร็จพิธีใส่บาตรข้าพเจ้าเดินผ่านวัดใหม่ ซึ่งกำลังทำพิธีบวงสรวงนางเรือ ...แม่ย่านางเรือ เสียงดังคึกคัก ฉาบกลองประโคมอย่างสนุกสนาน ฝีพายก็ดูท่าทีขมีขมันส่งเสียงโห่ร้องเอาฤกษ์ เอาชัย จึงแวะเข้าไปชมสักครู่ หลังจากดื่มกาแฟลาวที่ร้านเดิมแล้วต่อด้วยเฝอเหมือนทุกครั้ง ตั้งใจจะเดินไปห้องสมุดที่อยู่ด้านข้างตลาดม้งก่อนถึงตลาดดาราแห่งใหม่เพื่อสืบประวัติตามที่สามเณรที่วัดเซียงทองแนะนำเมื่อคืนวาน ระหว่างทางข้าพเจ้าเดินผ่านวัดหัวเซียงและวัดมหาทาด เห็นชาวบ้านได้นำข้าวห่อด้วยใบตอง ขนม ดอกไม้ ธูป เทียนวางตามกำแพงวัด และถนน แวะเข้าไปดู ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าชาวบ้านมักจะนำอาหารมาถวายพระและเณรและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งวิญญาณเร่ร่อนต่างๆ ในวันนี้ด้วย ชาวบ้านจะเข้าไปในสิมและถวายจังหัน ทั้งที่เป็นวัดติดกันแต่ทั้งสองวัดคราครั่งไปด้วยพุทธศาสนิกชนจนนั่งพ้นประตูสิมออกมาด้านนอก แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาของชาวหลวงพระบาง ข้าพเจ้าเดินวนรอบสิมไปมาหลายรอบเห็นว่าแสงตอนสายๆ ที่วัดมหาทาดสวยดีจึงนั่งรอดูว่าเมื่อจบพิธีกรรมในสิมแล้วจะมีกิจกรรมอย่างอื่นต่อไปหรือไม่อย่างไร...เพราะมีชาวบ้านสิบกว่าคนนั่งจับกลุ่มนั่งบ้าง ยืนบ้างทางบันใดทางทิศเหนือของวัด ข้าพเจ้าจึงไปยืนใกล้ๆ ...เหมือนเดิมครับ... มีคุณลุงชาวลาวท่านหนึ่งเดินมาทักข้าพเจ้า และก็เหมือนเดิมที่จะต้องทักข้าพเจ้าว่า “สบายดี” และสอบถามว่าข้าพเจ้ามาจากมาจากกรุงเทพฯ เหรอ? คุณลุงบอกว่าเป็นชาวแขวงไซยะบุรี ...มีพรมแดนประเทศติดกับจังหวัดเลยและน่านของไทย คุณลุงเคยเข้ามาประเทศไทยแต่เป็นที่จังหวัดน่านเมื่อคราวมีการปฏิรูปทางการเมืองในลาว เคยเดินทางมาติดต่อกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพาสหายจากไทยเข้าไปหลบซ่อนรวมทั้งเดินทางต่อไปยังทางตอนใต้ของจีนเมื่อปี 2519-2522 ข้าพเจ้าสนใจความในอดีตของคุณลุงท่านนี้ แต่เนื่องด้วยข้าพเจ้าไม่อาจสนทนาเรื่องทางการเมืองได้ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ คุณลุงได้นำหลานชายมาบวชเรียนที่วัดมหาทาดนี้ เมื่อถึงวันสำคัญจึงเดินทางมาเยี่ยมและในอดีตคุณลุงเองก็มาบวชที่วัดนี้ สักครู่ใหญ่พิธีในสิมก็เสร็จ คุณลุงจึงแยกกับข้าพเจ้า ขาวบ้านต่างถือโตก ถาดจังหัน ออกมาจากสิม เดินกลับเรือน มีผู้เฒ่า ผู้แก่ หนุ่ม สาว เด็กเล็กเดินตามออกมา ก่อนหน้าภิกษุและสามเณร ข้าพเจ้าลองแวะเข้าไปที่วัดป่ารวกตรงข้ามหอพิพิธภัณฑ์ ได้พบกับคุณลุงท่านหนึ่ง สนทนาถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบรัตนโกสินทร์ที่ผนังของสิม ได้ความว่าได้มีการส่งช่างจากหลวงพระบางไปทำการศึกษาเรื่องการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่จังหวัดเชียงใหม่ใหม่เพื่อฝึกฝนฝีมือก่อนกลับมาซ่อมจิตรกรรมฝาผนังที่ชำรุด ถ่ายภาพสักพักจึงไปห้องสมุดหลวงพระบาง เป็นที่น่าเสียดายที่วันนี้ห้องสมุดปิด จึงต้องย้อนไปที่ห้องสมุดสงฆ์ที่วัดสีบุญเฮืองตามที่สามเณรบอกเมื่อคืนวาน เมื่อไปถึงสอบถามกับพระทางวัดท่านก็พาไปที่ห้องเล็กๆ ซึ่งจัดเป็นห้องสมุดมีตำราและหนังสือถูกจัดเก็บเป็นระบบภายในตู้ ซึ่งดิวอี้มาเห็นก็ต้องทึ่งในวิธีการจัดเก็บ เพราะไม่ได้แยกตามหมวดหมู่ประเภทแต่เรียงตาม ยุคสมัย... ข้าพเจ้าหยิบออกมาอ่านได้เพียงเล็กน้อยเพราะบางส่วนล็อคกุญแจ และบางเล่มเก่ากรอบและชำรุดเกินที่จะเปิดอ่านได้ ประมาณ 1 ชั่วโมงที่พยายามรื้อค้นคว้าตำราทำให้ทราบเรื่องราวของประเทศลาวอีกมากมาย แต่เสียดายที่ตำราส่วนใหญ่เป็นภาษาลาวทำให้ต้องใช้เวลาอ่านนาน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องนั่งมองดูภาพเป็นส่วนใหญ่ ดูภาพเพลินนานจนเกือบลืมเวลาไปชมขนวนแห่นางเรือ... แดดร้อนมากเวลากลางวัน... ข้าพเจ้าเดินอ้อมไปตามถนนกิ่งกิดสะลาด ด้านหลังพระธาตุพูสีติดน้ำคาน...สถานที่จัดการแข่งเรือ มีการออก ร้านขายเครื่องมากมายโดยส่วนมากจะเป็นเจ้าของเรือนในบริเวณนั้น บ้างเปิดร้านขายเบียร์ บ้างขายขนม ขายเฝอ ขายข้าวเหนียวไก่ปิ้ง ขบวนแห่เรือไปยังท่าน้ำ มีนางเรือหรือแม่ย่านางเรือเดินนำ มีกลอง ฆ้อง ฉาบ ประโคมอย่างสนุกสนาน ครึกครื้น สร้างความตื่นตาและกำลังใจให้กับฝีพายโดยแต่ละคุ้งน้ำหรือวัดจะแห่กันตามแต่ฤกษ์ของตนเอง ขณะเดินจับจองที่ริมน้ำคานก็เงี่ยหูฟังโฆษกประกาศไปด้วย ได้ความบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่พอจับใจความได้ว่าการแข่งเรือจะเริ่มเวลาประมาณ 13.00 น. ทำให้มีเวลาพอที่จะหาอะไรรองท้อง แล้วพบกันใน ตอนหน้า ขอขอบพระคุณที่ติดตาม ภาพถ่ายโดยผู้เขียน