วัดพู จำปาสัก บุญมาฆบูชา การเดินทางในครั้งนี้จุดหมายปลายทางคือแหล่งอารยธรรมโบราณ ปราสาทวัดพู จำปาสัก ...ข้าพเจ้าเริ่มออกเดินทางจากห้วยซาย แขวงบ่อแก้ว ของสปป.ลาว จุดเริ่มต้นแห่งการเดินทางเลาะริมแม่น้ำโขงของข้าพเจ้า แวะไปสถานที่ต่างๆ หลายแห่งของประเทศลาว และนี่คือหมุดหมายสุดท้ายของการเดินทาง สิ้นสุดการสนทนาจากโทรศัพท์มือถือข้าพเจ้ายังคงงงทิศเพราะตามเวลาที่กำหนดนั้นข้าพเจ้าจะต้องถึงพระธาตุพนม จ. นครพนมแล้ว แต่เนื่องจากการเดินทางที่ล่าช้าเพราะการจราจรคับคั่งที่สถานีขนส่งหมอชิตในช่วงวันหยุดยาว ...รถติด!...ข้ออ้างประจำ…….. กว่ารถโดยสารจะเคลื่อนตัวพ้นนครราชสีมาก็เกือบเที่ยงคืน ทำให้เดินทางช้ากว่าเวลาที่นัดหมายกับคุณสุพรรณีเพื่อนชาวสกลนคร 2 ชั่วโมง……….. แต่ในขณะเดียวกัน ทางจากสกลนครมานครพนมรถก็มากเหลือเพราะมีประชาชนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยเดินทางมานมัสการพระธาตุพนมเหมือนกันจึงทำให้คุณสุพรรณีเดินทางมาล่าช้าเหมือนกัน ...ถือว่าเจ๊ากันไป... ข้าพเจ้าล้างหน้าล้างตาที่สถานีขนส่งอำเภอพระธาตุพนมตามประสาแบ็คแพ็ค ข้ามถนนไปยังวัดพระธาตุพนมซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เดินตุหรัดตุเหร่เรื่อยเปื่อยรอคุณสุพรรณีผู้อาสาทำหน้าที่มัคคุเทศก์จำเป็นสำหรับการเดินทางมานมัสการพระธาตุพนมของข้าพเจ้าในครั้งนี้ เดินไปเดินมาก็ออกมาทางประตูวัดด้านท่าเรือข้ามโขงจุดผ่อนปรนไทยลาว เห็นร้านข้าวเปียกเส้น ...อาหารร้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากเวียดนาม... เลยแวะรองท้องสักชามก็ไม่เลว ถือว่าผ่านครับราคาก็ไม่แพงนัก 30 บาทอุ่นท้องสบาย ...ข้าวเปียกเส้นอาหารตามรสนิยมท้องถิ่น ซึ่งเป็นนิสัยส่วนตัวของข้าพเจ้า เป็นบุญลิ้นที่ได้ชิมอาหารหลากหลายวัฒนธรรม ข้าพเจ้ากับคุณสุพรรณีเดินเข้าภายในวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เวลา 9 นาฬิกากว่าๆ ซึ่งดูเป็นเวลาสายๆ แดดที่นี่เริ่มแรงกล้า และประชาชนทั้งชาวไทยและลาวต่างทยอยเข้ามานมัสการพระธาตุพนมอย่างเนืองแน่น จนแทบจะขยับร่างกายไม่ได้ ขะยุกขะยิกขยับเขยื้อนได้คราวละน้อยๆ ...ยังเช้านะนี่คนหลาย... พระธาตุพนมนั้นเป็นพระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยและชาวลาวสองฝั่งโขง พระบรมธาตุนั้นบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ตามตำนานของชาวลาวและชาวอีสานกล่าวไว้ว่า สร้างโดยกษัตริย์ห้าพระองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัต พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้นบ้างว่าตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ 13-15 นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห้งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ. 2223-2225 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทน์ 3,000 คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น ต่อมาทางรัฐบาลไทยได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. 2483 แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 นอกจากนี้ภายในวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา มีตำนานเล่าขานว่า เดิมทีพระธาตุพนมมีชื่อว่า “พระธาตุปะนม” เนื่องจากพระธาตุนี้สร้างขึ้นโดยผู้หญิงแต่อากาศร้อนจึงถอดเสื้อ (ปะเปลือยนม) และมีผู้ชายมาช่วยกันสร้างด้วยมูลเหตุที่ผู้หญิงเปลือยอกจึงสร้างเสร็จเร็วกว่าพระทาดอิงฮัง (พระธาตุคู่แฝดตามตำนานไทย-ลาว) ต่อมาเพี้ยนจากปะนมเป็นพนม งานนมัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 10 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 หลังจากข้าพเจ้าได้มานมัสการพระธาตุพนมแล้ว ความหิวป่วนกระเพาะต้องหาอาหารรองท้องก่อนออกเดินทางต่อ ข้าพเจ้ามีเวลาที่กระชับ จุดหมายการเดินทางอีกยาวไกลจนแทบไม่มีเวลาพักเต็มอิ่มเท่าไหร่ คุณสุพรรณีพาข้าพเจ้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้านริมโขงใกล้ๆ กับจุดผ่อนปรนอำเภอธาตุพนม ตรงข้ามกับเมืองหนองบก แขวงคำม่วน ของ สปป.ลาว นั่งมองเรือข้ามฟากที่มีชาวลาวเต็มลำเรือเดินทางมานมัสการพระธาตุพนม ร้านอาหารบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นเพิง แน่นอนครับ ส้มตำปูปลาร้า ไก่ย่าง ไส้ย่าง และปลาเผาเกลือ ข้าวเหนียว...ขาดไม่ได้ คนเยอะไปหน่อย ปลาเผาไม่ทัน...อดกิน... วาสนาไม่ถึง หลังจากอิ่มหมีพีมันตามวัฒนธรรมอาหารคุณสุพรรณีมาส่งผมที่สถานีรถประจำทางอำเภอพระธาตุพนม จุดหมายการเดินทางต่อไป คือจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนัดหมายพี่ณัฐพี่สาวแสนดีอีกท่านหนึ่งไว้ล่วงหน้าแล้วก่อนออกเดินทางแต่อีกใจหนึ่งอยากเดินทางไปนมัสการพระธาตุอิงฮัง ที่สะหวันนะเขด สปป.ลาว โดยสามารถเดินทางข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 ที่มุกดาหาร เมื่อตัดสินใจได้ว่าควรข้ามไปนมัสการ จึงต้องร่ำราคุณสุพรรณีในเวลาบ่ายกว่าๆ รถโดยสารธรรมดาสีเขียวสายสกลนคร-อุบลราชธานี รถเคลื่อนตัวช้าๆ ออกจากสถานีในเวลาเกือบบ่าย 2 โมง มีประชาชนเบียดเสียดกันขึ้นรถเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าที่นั่งเต็มแถมที่ยืนยังแทบจะหาไม่ได้... สุดท้ายข้าพเจ้าก็แทรกกายเข้าไปยืนกลางรถ ใกล้ๆ กับหญิงสาวที่นั่งหลับคนหนึ่ง รถแทบจะไม่เคลื่อนตัวเลย เนื่องจากมีพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุพนม หลายนาทีของหลายนาที !... หญิงสาวที่หลับก็ตื่นสะลึมละลือมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วก็ถอนลมหายใจออกมาเฮือกหนึ่ง ...เฮ้อ..คล้ายว่าจะเสียอารมณ์จากการเดินทางที่ล่าช้า แล้วเธอก็หยิบมันแกวมากินรองท้องและแก้กระหาย ข้าพเจ้าคิดในใจว่าถ้ารถช้าแบบนี้ อาจจะถึงจังหวัดอุบลราชธานีล่าช้ามาก เพราะจุดหมายต่อไปคือการไปพักค้างแรมบ้านรุ่นพี่ที่จังหวัดอุบลฯ ก่อนขึ้นรถเดินทางไปจำปาสัก หรือบางทีรถล่าช้าอาจทำให้ยังมีรถตกคิว พอมีเวลาแวะไปไหว้พระธาตุอิงฮังที่สะหวันนะเขด โปรดติดตามตอนต่อไปว่าข้าพเจ้าจะได้ไปไหว้พระธาตุคู่แฝดกันของพระธาตุพนมหรือไม่ หมายเหตุ ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดย ดวงจำปา (ผู้เขียน) ขอบคุณที่ติดตาม