เป็นประจำทุกปีที่จังหวัดกระบี่จัด "งานประเพณีแห่จาดเดือนสิบชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 22-23 กันยายน 2565 ณ วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง ซึ่งเป็นปีที่ 20 แล้ว และในปีนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมบันทึกภาพและทำข่าว ซึ่งพบว่ามีหน่วยงานต่างๆ มากมายส่งเข้าประกวด เช่น สภาประชาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ แม่บ้านโคกยูง โรงเรียนเทศบาล 1 ทีมหมู่ 6 บ้านกระบี่น้อย ทีมหมู่ 1 บ้านหน้าชิง เป็นต้น ลักษณะของขบวนแห่จาดโดยทั่วไปประกอบไปด้วย ผู้ถือป้ายที่แสดงถึงหน่วยงานใดๆ หรือทีมต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นหนุ่มหล่อสาวสวย นอกจากนั้นก็จะมีการแต่งชุดแฟนซีต่างๆ แต่ส่วนมากก็จะแต่งเป็น เปรต ผี หรือยมทูต ซึ่งสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า เดือนสิบเป็นเดือนที่ยมบาลปล่อยให้ผีบรรพบุรุษมายังโลกมนุษย์ เพื่อเยี่ยมเยียนลูกหลาน ซึ่งผีบรรพบุรุษอาจจะเป็นเปรตก็ได้ด้วยความเชื่อที่ว่า ผีบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน ดังนั้นลูกหลานจึงทำ จาด เตรียมต้อนรับไว้ให้ คำว่า จาด นั้นหมายถึง บ้าน ที่เตรียมเอาไว้ให้ผีบรรพบุรุษได้อยู่อาศัยในช่วงที่มาหาลูกหลานในโลกมนุษย์เป็นเวลา 15 วัน นี่เป็นเหตุผลที่ลักษณะของจาดจะคล้ายกับบ้าน ซึ่งมีการตกแต่งให้สวยงาม ให้มีสีสันสดใส เพราะเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตกนรกจะมีแต่ความหดหู่ เศร้าหมอง เมื่อมาอยู่ที่จาดจึงอยากให้สดใส สดชื่น จึงจำเป็นต้องตกแต่งจาดให้มีสีที่จัดจ้านสวยงาม นอกจากนั้นลวดลายที่ปรากฎบนจาดนั้นส่วนมากก็จะเป็นลวดลายที่นำมาจากหนังตะลุงหรือมโนห์ราเป็นส่วนใหญ่ ปกติแล้วจะนิยมทำจาดเพียง 4 ชั้น ซึ่งแต่ละชั้นมีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น โดยชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด จะนิยมใส่ข้าวสารอาหารแห้งต่างๆ เช่น พริก เกลือ น้ำตาล เครื่องปรุงอื่นๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ชั้นที่ 2 ใส่ผักและผลไม้ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น ฟักเขียว ฟักทอง หัวมัน เป็นต้น เพราะเชื่อว่าด้วยผลไม้เหล่านี้ผีบรรพบุรุษสามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้นในยามที่ลำบาก ชั้นที่ 3 ใส่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยารักษาโรค สบู่ เชี่ยนหมาก เป็นต้น ชั้นสุดท้าย ชั้นที่ 4 ใส่ขนมเดือนสิบ เช่น ขนมพอง เพื่อให้ผีบรรพบุรุษใช้เป็นแพข้ามแม่น้ำ ขนมลา เป็นเครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ขนมบ้า อันนี้ไม่ได้หมายถึงขนมบ้าบอ แต่หมายถึง ขนมลูกสะบ้า แต่ด้วยนิสัยของชาวใต้ต้องการคำที่กระชับจึงตัดคำว่า สะ ออก จึงกลายเป็น ขนมบ้า ซึ่งใช้เป็นเครื่องละเล่น ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา ใช้แทนเครื่องประดับเพราะมีรูปร่างเหมือนแหวนและกำไล ขนมดีซำ ใช้แทนเงิน เพราะมีรูปร่างคล้ายกับเบี้ยในสมัยโบราณ แต่ถ้าเป็นเด็กในสมัยนี้จะมองว่าเหมือนโดนัทมากกว่าระยะทางที่ขบวนแห่จาดต้องเดินแห่ประมาณ 2 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลเมืองกระบี่ แห่ไปยังวัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง ซึ่งในระหว่างที่แห่จาดนั้น แต่ละทีมจะแสดงฝีไม้ลายมืออย่างเต็มที่ โดยในระหว่างที่แห่จะมีการเล่นเครื่องดนตรีเพื่อความสนุกสนาน มีการฟ้อนรำตลอดเส้นทาง หรือเต้นกันอย่างเต็มที่ มีการแต่งชุดที่สวยงามหรือค่อนข้างเป็นแฟนซี ส่วนจาดนั้นก็จะหามแห่กันจนถึงจุดหมาย ซึ่งคิดว่าน้ำหนักก็ไม่น้อยเลยทีเดียว ในบางขบวนแห่จาดมีการแต่งกายเป็นลิเกป่าหรือมโนห์ราซึ่งสวยงามมาก นอกจากนั้นมีการชูโรงรูปเปรตอีกด้วย โดยการทำเป็นรูปเปรตตัวสูงใหญ่ ปากเล็ก มือเท้าใหญ่ และด้วยสภาพอากาศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีฝนตกทุกวัน ผู้เขียนจึงมีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน แต่โชคดีมากที่วันแห่จาดนั้นฝนไม่ตกลงมากเลย ซึ่งนับเป็นเรื่องที่แปลกมากเมื่อขบวนแห่จาดทั้งหมดมาถึงวัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง จาดทั้งหมดถูกนำมาวางเรียงกัน เพื่อรอให้กรรมการพิจารณาว่าปีนี้ควรจะให้ใครชนะดี แชมป์ปีก่อนก็หมายมั่นปั้นมือที่จะต้องการรักษาแชมป์ให้ได้ ส่วนคนอื่นๆ ที่พลาดรางวัลในปีก่อนก็ได้พัฒนาจุดอ่อนแล้ว และมาประกวดอีกครั้ง โดยหวังว่าปีนี้จะเป็นปีของตัวเองบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การประกวดแข่งขันจาดนั้นเป็นเพียงการเพิ่มเสริมแต่งขึ้นให้มีความสนุกสนานขึ้นเท่านั้น แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบก็คือ การแสดงออกถึงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เพราะหากไม่มีพวกเขาก็จะไม่มีเราอย่างปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบนี้มีการจัดกันเป็นประจำทุกปี ยกเว้นปีที่โรคโควิดระบาดหนักๆ ที่มีการระงับการจัดไป ครั้งหนึ่งในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนอยู่ จำได้ว่าเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 6 ทางโรงเรียนก็ได้เข้าร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย โดยให้นักเรียนระดับชั้น ม. 4-6 ร่วมเดินขบวนแห่จาด โดยผู้เขียนก็ได้ร่วมเดินในขบวนนั้น ในปีนั้นได้กำหนดธีมการแต่งตัวในรูปแบบชุดไทยประยุกต์ โดยมีเสื้อสีขาวและนุ่งโจงกระเบนสีแดงหรือชมพู ผู้เขียนและเพื่อนๆ ต่างเฝ้ารอให้ถึงวันนั้นเร็วๆ เพราะจะได้มีโอกาสแต่งตัวสวยๆ และจะได้สนุกสนานกันเมื่อถึงวันที่ต้องเดินและขบวนแห่จาดเริ่มออกตัว ทางโรงเรียนจะให้นักดนตรีตีกลองให้จังหวะที่สนุกสนาน เพื่อให้ผู้เดินลืมถึงความเหนื่อยล้าและความร้อนเพราะ เดินกันในช่วงบ่ายโมง แดดในช่วงนั้นกำลังแรงเลยทีเดียว ซึ่งก่อนจะเดิน ผู้เขียนต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งรับประทานอาหารเที่ยงให้เรียบร้อย เพราะไม่เช่นนั้นในระหว่างเดินอาจจะเป็นลมได้ เข้าห้องน้ำจัดการธุระส่วนตัว และต้องทาครีมกันแดดให้พร้อม สุดท้ายกันเหนียวต้องพกยาดมไปด้วย แต่เมื่อถึงเวลาเดินจริงๆ ด้วยความสวยงามของจาด การแต่งกายที่จัดเต็มของผู้ร่วมขบวน เสียงดนตรีที่เร้าใจ เมื่อเริ่มเดินแห่จาดกลับไม่รู้สึกเหนื่อยเลย มีแต่ความสนุกสนาน ด้วยระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร การเดินที่ไม่ได้เร่งรีบ แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าเดินมาถึงวัดแก้วโกรวารามเร็วมาก ยังรู้สึกเสียดายที่ความสนุกสนานแบบนี้กำลังจะจบลง และจะกลับมาอีกครั้งก็ต้องรออีกหนึ่งปีเลยทีเดียวภาพทั้งหมดโดย ผู้เขียนพิกัด วัดแก้วโกรวาราม พระอารามหลวง https://goo.gl/maps/npEPnuqoMdE5CE5a6 อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !