บ้านน้ำต้น ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านผู้ผลิตงานหัตถกรรมเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา นั่นก็คือ น้ำต้น และผางประทีป ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบอาชีพของชุมชน แต่ก็มีแค่บางส่วนของคนในชุมชนเท่านั้นที่ยังคงทำอยู่ นับว่ายิ่งน้อยลงไปทุกทีทำไมถึงเรียกว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางหัตถกรรม ?ในอดีตมีทั้งชาวพม่า ไทยใหญ่ ยอง ไทลื้อ มีการอพยบย้ายถิ่นฐานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็มีชาวพม่าและไทยใหญ่ได้มาตั้งรกรากอยู่ โดยได้นำองค์ความรู้ภูมิปัญญาของตนเองมาปรับใช้ให้เป็นอาชีพ เนื่องจากสมัยก่อนดินอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งดินเหนียวเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างน้ำต้นที่ใช้เป็นที่เก็บน้ำไว้ดื่มกินภายในครัวเรือน เป็นภาชนะสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ และยังเป็นเครื่องประกอบยศของชนชั้นสูงในอดีต รวมถึงการปั้นผางประทีป นำมาใช้เป็นแสงสว่างในยามค่ำคืน เพราะในอดีตไม่มีไฟฟ้าและยังใช้ในทางศาสนาและวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันลอยกระทง วันเวียนเทียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปั้นน้ำหม้อ ที่รูปทรงคล้ายกับโอ่ง แต่กระทันรัดและมีรูปทรงที่สวยกว่า ซึ่งคนสมัยก่อนใช้แทนตู้เย็น จะนำน้ำใส่ไว้ข้างในน้ำหม้อ ใช้ดื่มกินและใช้ไว้รับแขก ซึ่งน้ำจะเย็นและมีกลิ่นหอมของดินเผา จะเห็นได้ว่ามีองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผามาอย่างยาวนาน จนหล่อหลอมให้เข้ากับวิถีชุมชนจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของหมู่บ้าน ซึ่งถือได้ว่าหมู่บ้านน้ำต้นเป็นอีกแหล่งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอารยธรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาน้ำต้น หรือคนโท โดยภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมเป็นมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาโบราณ จวบจนปัจจุบันในหมู่บ้านมีการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่ 2 ประเภท คือ น้ำต้น และผางประทีปปัจจุบันภายในหมู่บ้านยังมีการปั้นผางประทีปอยู่ประมาณ 4-5 คนเท่านั้น เมื่อถึงหน้าเทศกาลลอยกระทง หรือปีใหม่ ก็จะมีการหาซื้อกันเป็นจำนวนมาก ในการผลิตต่อคนจะอยู่ที่เดือนละ 5,000-10,000 ชิ้น หรือมากกว่านั้น แล้วแต่ระยะเวลาและความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งผางประทีปของหมู่บ้านน้ำต้นมีสิ่งที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์กว่าที่อื่น เพราะเป็นการใช้แท่นหมุนแบบไม้ และใช้อุปกรณ์แบบดั่งเดิมอยู่ ทั้งไม้แต่งลาย ที่ทำมาจากเขาควายแกะสลักพร้อมกับด้ามไม้ทำมือ การเผาผางประทีปด้วยเตาดินเผาแบบดั้งเดิม การหล่อผางประทีปด้วยขี้ผึ้งที่ผสมเอง หล่อเอง รวมถึงการทำสีสายหรือตีนกาเอง โดยทางบ้านเราจะใช้ฝ้ายเส้นดิบมาชุดน้ำขี้ผึ้งที่ผสมกับน้ำมันมะพร้าว หลังจากพักให้หายเย็นก็จะนำมาฟั่นให้เป็นเชือกเกลียวสองเส้น แล้วดึงแยกเกลียวทั้งสองออกจากกันโดยเว้นระยะเล็กน้อยจากปลายเชือก เมื่อปล่อยมือเชือกเกลียวแต่ละเกลียวก็จะพันกันกลับเป็นเชือกหนึ่งเส้น จัดแต่งเชือกโดยจัดเส้นแยกออกจากกันเป็นสามแฉก เหมือนตีนกา และอีกเส้นหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของทั้งสามเส้น ก็จะได้ตีนกา หรือสีสายตามที่ต้องการ โดยสีสายจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการให้ความสว่างแก่ผางประทีป ความเชื่อในการถวายผางประทีปของศาสนาพุทธ คือ ใช้จุดบูชาเพื่อตอบแทนผู้มีพระคุณ รวมถึงใช้สักการะต่อสิ่งต่างๆ ที่เราได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น เช่น ประตูบ้าน รั้วบ้าน บ่อน้ำ ยุ้งข้าว เตาไฟ บันได้ ห้องน้ำ ฯลฯ และที่สำคัญยังเชื่อว่าการถวายผางประทีป จะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีไหวพริบเหมือนเปลวไฟที่สว่างสไหวรวมถึง มีแสงสว่างนำทางให้แก่ชีวิตในยามที่เราไม่อยู่บนโลกใบนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมีการถวายประทีป 1,000 ดวงให้แก่วัด ซึ่งถือว่าเป็นการทำบุญและต่อชะตาชีวิตให้แก่ตนเองอีกด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและวิจารณญาณของแต่ละบุคคลหวังว่าหมู่บ้านน้ำต้น จะเป็นอีกชื่อหนึ่งที่จะถูกค้นพบมากขึ้น และเป็นที่รู้จักเกี่ยวกับการทำเครื่องปั้นดินเผาทั้งน้ำต้นและผางประทีปถ้าหากนักท่องเที่ยวท่านใดสนใจก็สามารถมาท่องเที่ยวชมกิจกรรมการหล่อผางประทีปได้ ในวันที่ใกล้เทศกาลลอยกระทงก็จะมีการหล่อผางประทีปกันเป็นประจำ สามารถเข้ามาเยี่ยมชมกันได้ เครดิต ข้อมูลและรูปภาพทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความอยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !