อาทิตย์ที่แล้ว อ. ขุขันธ์ จ. ศรีสะเกษ มีการจัดงานประเพณียิ่งใหญ่ ชื่อว่า “แซนโดนตา” ขึ้น ชื่องานแปลกๆ อาจทำให้พอคาดเดาได้ว่านี่เป็นงานของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในอำเภอนี้ ...กลุ่มชาติพันธุ์เขมรไง... มีคำบอกเล่าและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณที่เป็นเขต จ. สุรินทร์ และศรีสะเกษ ปัจจุบัน เคยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาวกวยหรือส่วย และเขมร รวมๆ แล้วเรียกว่าเขมรป่าดง ชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งคือบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งภายหลังได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็นเมืองขุขันธ์ มีพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) เป็นเจ้าเมืองคนแรก จนถึงปัจจุบัน อ. ขุขันธ์ ก็ยังมีคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน และยังรักษาประเพณีของตนเอาไว้ อย่างแซนโดนตานี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง โดยทางอำเภอ ได้ให้ทุกตำบลมาจัดงานรวมกัน ณ ลานอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ในชื่องาน “รำลึกพระยาไกรภักดี ประเพณีแซนโฎนตา บูชาหลักเมือง ลือเลื่องกล้วยแสนหวี ประจำปี 2554” ให้คนทั่วไปได้ชม เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย แซนโดนตา หรือบางทีเขียนว่าแซนโฎนตา เป็นภาษาเขมร คำว่า “แซน” หมายถึงการเซ่นไหว้ “โดน” หมายถึงบรรพบุรุษฝ่ายหญิง ส่วน “ตา” หมายถึงบรรพบุรุษฝ่ายชาย งานจัดขึ้นเพื่อเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ระยะเวลาจัดงานแซนโดนตา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ ถึง แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตามบทสวดมนต์ “ศราททะพรต สัตตะปกรณ์” กล่าวไว้ในคัมภีร์ฉลองเบญฑ์ว่าในรอบ 1 ปี ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ถึง แรม 15 ค่ำ เดือน 10 นี้ พญายมราชแห่งนรกภูมิ จะปลดปล่อยเหล่าภูตผี วิญญาณในนรกมารับบุญกุศลจากลูกหลาน ญาติมิตร พี่น้องได้ เมื่อภูตผีมาสู่โลกมนุษย์และได้รับเครื่องเซ่นไหว้อย่างดี ก็จะอวยชัยให้พรแก่พี่น้องที่ได้จัดเตรียมเครื่องเซ่นนั้นไว้ ในทางกลับกันถ้าบ้านไหนไม่ทำพิธีเซ่นไหว้นี้ ก็เชื่อกันว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะสาปแช่งให้พบกับหายนะ ตามปกติแต่ละบ้านจะจัดงานแซนโดนตากันเป็นส่วนตัว ระยะเวลาจัดงาน 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ชาวบ้านจะเริ่มทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ เครื่องดื่ม ตั้งสำรับเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อเข้าวันแรม 14 ค่ำ เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะมาอยู่รวมกันพร้อมหน้าพร้อมตา และมีการทำพิธีเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มารับเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้ หลังจากนั้นลูกหลานจึงถอยสำรับกับข้าวมาเลี้ยงดูกันเอง จนถึงช่วงเย็นก็พากันไปเข้าวัดสวดมนต์ โดยเรียกเชิญโดนตาไปพร้อมกันด้วย ช่วงก่อนไปวัด แต่ละบ้านจะจัดเตรียม “บายเบ็ญ” และ “บายตะเบ๊ดตะโบร” สำหรับไว้ใช้ในวันรุ่งขึ้น โดยบายเบ็ญ อยู่ในกระทงเล็กๆ หลายใบ ซึ่งญาติพี่น้องร่วมกันหยิบอาหารแต่ละอย่างมาใส่ ส่วนบายตะเบ๊ดตะโบร จัดใส่ในภาชนะขนาดใหญ่หน่อยอาจเป็นกระบุง กระเชอ หรือกะละมังก็ได้ ข้างในใส่ข้าวเหนียวนึ่ง แล้วครอบด้วยกรวยใบตอง บนยอดกรวยมีเส้นฝ้ายคล้อง นอกจากนั้นก็มีอาหาร และขนมต่างๆ เช่น ข้าวต้มผัด ข้าวต้มมัด อาหารแห้ง ที่ขาดไม่ได้คือกล้วย 1 หวี เพราะถือว่าเป็นของสำคัญ คนเกิดมาก็กินกล้วย และทุกส่วนของกล้วย ไม่ว่าจะใบ ลำต้น ปลี ก็ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น เช้ามืดของวันแรม 15 ค่ำ ก็จะมีการนำบายเบ็ญ และบายตะเบ๊ดตะโบรที่เตรียมไว้ แห่ไปทำพิธีที่วัด บายตะเบ๊ดตะโบรนั้นถวายให้พระ ส่วนบายเบ็ญ เมื่อสวดมาติกาบังสุกุลและอนุโมทนาแล้ว ชาวบ้านจะนำไปวางตามทางสามแพร่ง โคนต้นไม้ หัวไร่ปลายนา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร หลังจากนั้นสองสามวัน จึงมีการส่งโดนตากลับบ้าน ด้วยการจัดของเซ่นบอกให้โดนตากลับไปยังภพภูมิเดิม โดยให้นำสิ่งไม่ดีต่างๆ กลับไปด้วย ทิ้งไว้แต่ความเป็นศิริมงคล ความสุข ความเจริญ มีการทำเรือด้วยกาบกล้วยแล้ววางหุ่นจำลองเป็นสัญลักษณ์แทนโดนตาไว้ที่ท้ายเรือ เอาอาหารส่วนหนึ่งใส่เรือไว้เป็นเสบียง แล้วนำไปลอยในที่มีน้ำไหล เป็นการส่งโดนตาให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ