นานมากแล้วที่ผมรู้จักวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "วัดอรุณ" คือผมรู้จักมานานแล้วแต่ยังไม่เคยได้มีโอกาสไปเที่ยวเลยสักครั้ง ด้วยหลายๆ เหตุผล ข้อแรกคือการเดินทางที่ดูจะไกลเล็กน้อย ข้อสองคือการเดินทางที่ไกลเล็กน้อยนี่ก็เหมือนจะมีความซับซ้อนด้วย คือผมไม่แน่ใจว่าจะไปรถเมล์แล้วนั่งสายอะไร หรือไปทางเรือต้องไปลงที่ท่าไหน แต่พอมีเพื่อนที่แสนดีชวนให้ไปด้วยกัน ก็เลยเลิกกังวลเรื่องพวกนี้ เพราะคิดว่าหากจะหลงทางก็มีเพื่อนให้หลงไปด้วย แล้วถ้าเราศึกษาแผนที่ดีๆ ก็น่าจะไปไม่ยาก สุดท้ายก็เลือกที่จะไปเรือด่วนเจ้าพระยาครับ เป็นการเดินทางที่สะดวกดี ค่าเรือก็อยู่ในหลักไม่เกินคนล่ะ 20 บาท โดยเรานั่งเรือออกจากท่าสี่พระยา แล่นไปเรื่อยๆ ระหว่างทางก็ดูวิวทิวทัศน์กันไป เรือมากมายหลากหลายแล่นบนแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ก็เป็นเรือที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ บางลำมีหลังคาไว้ให้ใครอยากนั่งบนหลังคาเพื่อชมวิวแบบเต็มๆ ก็ขึ้นไปนั่งได้ เรือบางลำก็เหมือนขนส่งของจากฟากหนึ่งไปอีกฟาก หรือเรือบางลำอาจจะเป็นเรือที่โดยสารเฉพาะแค่คนไม่กี่คน แต่ทุกคนล้วนมีเส้นทางและมีชีวิตเป็นของตัวเอง การได้ชมวิวแบบนี้ก็จัดว่าเพลิดเพลินในระดับหนึ่งครับ มาถึงก็พบว่านักท่องเที่ยวหนาตาใช้ได้เลยทีเดียว สมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานครนะครับ นักท่องเที่ยวก็ไม่ได้มีแต่ชาวจีนหรือชาวเอเชียด้วยกัน แต่ฝรั่งจากยุโรปหรืออเมริกาก็มากัน แต่ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน หากนุ่งกางเกงสั้นหรือกระโปรงสั้น ก็จะต้องเช่าผ้าเพื่อมาทำเป็นเหมือนกระโปรงสวมคลุมทับอีกที เพื่อความเหมาะสมและความเรียบร้อยให้เข้ากับสถานที่ซึ่งเป็นพุทธศาสนสถาน โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผ้าที่ให้มาสวมทับนี่ไม่มากครับ รู้สึกจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาท ในส่วนของค่าเข้าชม คนไทยเข้าชมฟรี ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเสีย 50 บาทครับ และก่อนจะเข้าเดินชมภายใน ก็มีกฎเกณฑ์ที่ต้องพึ่งปฏิบัติอยู่ด้วยกันไม่กี่อย่าง นั้นคือ ห้ามปีนป่าย ห้ามขีดเขียน และห้ามกระทำการที่ไม่สำรวม จากที่ศึกษาข้อมูลมา พบว่าวัดอรุณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมที่ชื่อวัดว่าวัดมะกอก หรือวัดมะกอกนอก เพราะที่ตั้งของวัดอยุ่ปากคลองบางกอกใหญ่ และจะด้วยเพราะให้จำง่ายหรือให้คล้องกับชื่อคลอง จึงตั้งชื่อว่า วัดมะกอก แต่เพราะมีวัดชื่อวัดมะกอกเหมือนกันในคลองบางกอกใหญ่ไปแล้ว เลยตั้งชื่อวัดนี้ว่าวัดมะกอกนอกแทน มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือรัชกาลที่ 2 ได้ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งตั้งแต่ก่อนที่จะทรงครองราชย์ แต่การบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วเสร็จเมื่อท่านขึ้นครองราชย์ และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานนามใหม่ให้แก่วัดแห่งนี้ว่า “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งกลายเป็นชื่อที่เรารู้จักและอยู่คู่กับวัดอรุณแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่ได้ผสมผสานศิลปกรรมของทั้งสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จนทำให้มีความงดงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ มีทั้งลวดลายไทยที่วิจิตรบรรจงและรูปปั้นแบบจีน เช่น รูปปั้นยักษ์วัดแจ้ง ที่สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัวสวยงาม และนี่เองที่เป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเที่ยวชมที่วัดอรุณอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าต้องการสัมผัสความพิเศษและเก็บภาพเอาไว้เป็นที่ระลึก และไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะหามุมสวยๆ ในวัดเพื่อเก็บภาพเอาไว้ สรุปแล้ว วัดอรุณราชวรารามคือสถานที่ๆ ไม่ว่าใครก็ตามควรจะได้ลองไปสัมผัส ได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง เพื่อที่จะได้เห็นความงามที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลาของวัดแห่งนี้