เสียงมัคคุเทศน์ตัวน้อยแต่งชุดพื้นเมืองเหนือเจื้อยแจ้วอธิบายถึงความเป็นมาของภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์วัดภูมินทร์ ให้กับนักท่องเที่ยวฟังอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ใบหน้าเปื้อนไปด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อกับการตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีท่าทีแสดงให้เห็นถึงความโกรธหรือหงุดหงิดเมื่อถูกกระเซ้าเย้าแหย่อย่างไม่รู้จบจากบรรดานักท่องเที่ยวหลากหลายวัยที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเยี่ยมชมวัดดังใจกลางเมืองน่านแห่งนี้ ชุดภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์บนพนังของโบสถ์ซึ่งส่วนใหญ่ได้ถูกถอดมาจากนิทานชาดก"คันธกุมาร" ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีที่ไปที่มาของเรื่องราวอย่างเป็นเหตุเป็นผลสะท้อนถึงความคิดความเชื่อ ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของชาวน่านในอดีตถ่ายทอดการแต่งกายการทอผ้าด้วยกี่ทอมือรวมไปถึงการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ น้ำเสียงการเล่าเรื่องมีจังหวัดขึ้นลงเว้นช่วงอย่างลงตัวด้วยอักขระที่ชัดเจนน้องใบเฟิร์น(ธัญลักษณ์คำลือ) และน้องเค้ก(พิชชาพรอินน้อย) สองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่5 ของโรงเรียนประจำจังหวัดบอกว่าได้รับการอบรมฝึกปรือมาอย่างดีเพื่อทำหน้าที่มัคคุเทศน์น้อยได้อย่างเต็มภาคภูมิ สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามากราบพระประธานในโบสถ์และเดินชมงานจิตรกรรมฝาผนังอันเลื่องชื่อของวัดแล้ว ถือว่าฟังได้รับความเพลิดเพลินเพิ่มอรรถรสขึ้นจริงๆน้ำเสียงเล็กๆของสองมัคคุเทศก์น้อยเหมือนจะเติมให้กับผู้คนในภาพวาดได้มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ขอบคุณรูปภาพจาก : https://drive.google.com/file/d/1A3dmanzWtolhxzx88N-MHiSQaMk5vC9E/view?usp=drivesdk แม้ว่าสไตล์การเล่าเรื่องและนำชมภาพวาดบนผนังโบสถ์ของ2 มัคคุเทศก์น้อยจะออกไปในแนวท่องจำประกอบทักษะความเข้าใจ แต่ก็สร้างเสน่ห์และสีสันให้กับการเดินชมผนังโบสถ์ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะภาพสุดท้ายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นที่สุดของภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาคือภาพปู่ม่านย่าม่านซึ่งมีฉายาว่า"กระซิบรัก” ทั้ง2 มัคคุเทศก์น้อยก็ได้ใช้สกิลการถอดความจากภาษาถิ่นเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนฟังได้เข้าใจง่ายขึ้นและยังสามารถต่อยอดไปถึงการอธิบายความเป็นภาษาอังกฤษซึ่งก็ทำเอาหลายคนอึ้งไม่น้อยทีเดียว