เมื่อมีเริ่มต้นก็ต้องมีจุดจบ อาณาจักรใด ๆ ไม่ว่าจะเคยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่ขนาดไหน วันหนึ่งก็ต้องล่มสลาย เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นั่นคือเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ที่ผู้อ่านจะต้องค่อย ๆ อ่านทำความเข้าใจ เรื่องมีว่าวันหนึ่งของทริปเที่ยวชมเจดีย์เมืองพุกาม บนลานประทักษิณ ทางเดินรอบมงคลเจดีย์หรือมิงกาลาเจดีย์ ได้เปิดอ่านบันทึกหน้าหนึ่งได้บอกไว้ว่า ที่แห่งนี้คือเจดีย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรพุกาม อิฐสีหม่น ๆ ที่บางส่วนเริ่มผุพังสลายไปกับกาลเวลาได้เจือความเศร้าหมองไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับคนที่ได้มาเยือนเมืองพุกาม เมืองมรดกโลกหมาด ๆ ที่แม้ไม่ต้องการันตีด้วยแผ่นประกาศใด ๆ ความยิ่งใหญ่ก็ย่อมประจักษ์ด้วยสองตา เจดีย์โบราณกว่าสี่พันองค์ ผ่านเวลาและเรื่องราวมาเป็นพันปี แม้ช่วงเวลายุคนี้จะเหลืออยู่ประมาณ 2,400 องค์ เทียบกับอาณาจักรอยุธยาของเราแล้ว ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงต้องเสียกรุงถึง 2 ครั้ง เพราะถ้าเทียบสเกลความใหญ่โตของอาณาจักร แม้จะเป็นคนละยุคสมัย แต่ได้ทำให้เห็นว่าอยุธยาก็เป็นเพียงอาณาจักรเล็ก ๆ อาณาจักรหนึ่งในภูมิภาคนี้เท่านั้น มงคลเจดีย์หรือมิงกาลาเจดีย์ เจดีย์ใหญ่องค์สำคัญของเมืองพุกาม มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป อย่างเช่นมงคลเจดีย์แห่งนี้ มีรูปทรงแบบศิลปะพุกามแท้ เจดีย์เป็นทรงระฆัง มีฐานประทักษิณ 3 ชั้นเป็นฐานดอกบัว และมีบันไดทางขึ้นโดยรอบสี่ทิศ ซึ่งในศิลปะแบบพุกามก็มีเจดีย์อีกแบบหนึ่งเรียกว่าเจติยวิหาร ซึ่งรูปแบบนั้นมีความแตกต่างที่สามารถเดินเข้าไปข้างในได้ ในการเดินวนรอบมงคลเจดีย์ สิ่งที่สะดุดตาเป็นแผ่นดินเผาเคลือบขนาดเล็ก แปะรอบเจดีย์เว้นระยะเรียงรายกัน คือเรื่องเล่าชาดก และนี่ก็คือเรื่องเล่าพระพุทธศาสนาบทสุดท้ายของอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ มงคลเจดีย์สร้างขึ้นสมัยพระเจ้านรสิงหปติ เมื่อพ.ศ.1826 มีคำทำนายว่าอาณาจักรล่มสลายหลังจากเจดีย์สร้างเสร็จ แล้วช่างน่าอัศจรรย์การทายทัก ในที่สุดในปีพ.ศ.1839 พวกมองโกลได้ยกทัพเข้ามาตีเมือง จนอาณาจักรพุกามต้องล่มสลาย จบสิ้นยุคสมัยที่ยาวนาน 448 ปี แผ่นดินเผาเคลือบเล่าเรื่องชาดก มงคลเจดีย์ เจดีย์สุดท้ายแห่งอาณาจักรพุกาม แต่ก่อนเจดีย์แห่งนี้ทางการพม่าได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยว ขึ้นมาเดินบนเจดีย์เพื่อรอชมพระอาทิตย์อัสดง แต่ด้วยความล่มสลายอีกครั้งจากกาลเวลาที่ทำให้อิฐได้กร่อนลงไป ประตูทางเข้าของเจดีย์แห่งนี้ จึงได้ปิดลงอีกครั้งในสถานะของโบราณสถานที่กำลังอยู่ในช่วงของการบูรณะ วันนี้จึงต้องอำลามงคลเจดีย์ แล้ววันหนึ่งบรรดานายช่างและแรงศรัทธาของผู้คนจะค่อยหยิบอิฐหินทีละก้อน ๆ ต่อเติมให้แข็งแรงสมบูรณ์ดังเดิม