ประวัติ ที่มาวันปีใหม่ 1 มกราคม เทศกาลเฉลิมฉลองของโลก
ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าวันที่ 1 มกราคมของทุกปีถือเป็นเทศกาลปีใหม่ เป็นวันเริ่มต้นปีปฏิทินใหม่ที่ใช้กันไปทั่วโลก แล้วใครเป็นคนกำหนดให้วันนี้เป็นวันปีใหม่ แล้วทำไมถึงต้องเป็นวันนี้ด้วยล่ะ ครั้งนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน บอกไว้ก่อนเลยว่าเรื่องราวนั้นนับย้อนไปได้ไกลนับพันๆ ปีเลยทีเดียวเชียว
ประวัติ ที่มาวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคมของทุกปี
ย้อนกลับไปในสมัยอารยธรรมโบราณ ยุคเมโสโปเตเมีย เรียกได้ว่าเป็นชาวบาบิโลนนี่เองที่เป็นผู้ริเริ่มการใช้ปฏิทินโดยอาศัยดวงจันทร์ในการนับเดือน เมื่อครบ 12 เดือนก็กำหนดให้เป็น 1 ปี และนอกจากการกำหนดปีปฏิทินแล้ว ชาวบาบิโลนแห่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียยังมีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (Vernal Equinox) ซึ่งเปรียบเหมือนการเริ่มต้นปีใหม่โดยจัดงานที่เรียกว่า เทศกาลอคิตู (Akitu) เพื่อบูชาเทพเจ้ามาร์ดุค (Marduk) เทพสูงสุดของบาบิโลน
เทพเจ้ามาร์ดุค (Marduk)
เทศกาลอคิตู เป็นเทศกาลฤดูใบไม้ผลิที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน 12 วัน ประชาชนทุกคนในเมือง ทุกชนชั้นจะร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการหว่านข้าวบาร์เลย์ ร่วมกันสวดมนต์ต่อเทพมาร์ดุค และจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน จนกระทั่งวันที่ 12 เหล่าชาวไร่ก็จะเริ่มทำการเพาะปลูก เป็นอันจบการฉลองเทศกาลอคิตูนั่นเอง
ก้าวสู่ยุคอาณาจักรโรมัน
เทศกาลอคิตูดำเนินต่อไปเป็นเวลาอีกหลายศตวรรษ กระทั่งอารยธรรมเมโสโปเตเมียเสื่อมสลายไป ผ่านกาลเวลามาเรื่อยๆ ชนชาติอารยธรรมอื่นๆ เช่น อียิปต์ กรีก โรมันก็นำระบบปฏิทินของชาวบาบิโลเนียมาปรับใช้ให้ตรงกับฤดูกาลมากขึ้น มาถึงสมัยของกษัตริย์ จูเลียส ซีซาร์ ได้นำปฏิทินโรมันมาปรับปรุงให้ปีหนึ่งมี 365 วัน ในทุกๆ 4 ปีให้มีเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน เรียกว่า ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) หรือปี อธิกสุรทิน นั่นเอง
จูเลียส ซีซาร์
ปฏิทินจูเลียนก็ได้รับการยอมรับ และใช้กันเรื่อยมา จนกระทั่งพบว่า วันที่ 21 มีนาคมตามปีปฏิทินของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตรงทิศตะวันตกพอดี เรียกว่า วสันตวิษุวัต แต่ในปี ค.ศ. 1582 (ตรงกับ พ.ศ. 2125) วสันตวิษุวัตกลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม
ดังนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 จึงปรับปรุงแก้ไขโดยหักวันออกไป 10 วันจากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1582 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (เฉพาะปีดังกล่าว) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่า ปฏิทินเกรโกเรียน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา ซึ่งเริ่มแรกนั้นประเทศที่นับถือนิกายคาทอลิกเท่านั้นที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ จนประเทศอังกฤษเริ่มต้นใช้ในปี 1752 โดยประกาศให้หลังวันที่ 2 กันยายน เป็น 14 กันยายน ในขณะที่ประเทศกรีซเพิ่งจะมาเริ่มใช้ในปี 1923
วันปีใหม่ในวัฒนธรรมอื่นๆ
แน่นอนว่าต่างประเทศ ก็ต่างวัฒนธรรม และความเชื่อ สมัยก่อนที่จะมีการรับเอาปฏิทินเกรโกเรียนมาปรับใช้ให้เป็นสากล แต่ละประเทศก็มีวันขึ้นปีใหม่เป็นของตัวเอง ยกตัวอย่าง เช่น
- สงกรานต์ เดิมกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ คือวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ตกประมาณวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน
- ตรุษไทย เป็นวันที่เริ่มต้นเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติไทย แต่ยกเลิกลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกำหนดให้ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่แทน
- ตรุษจีน เป็นวันที่เริ่มต้นเดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ตกประมาณวันที่ 20 มกราคมถึง 20 กุมภาพันธ์
- ตรุษญี่ปุ่น เดิมใช้วันเดียวกับตรุษจีน แต่เมื่อ ค.ศ. 1873 ได้รับเอาปฏิทินเกรโกเรียนมาใช้ จึงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคมแทน
- ตรุษญวน เป็นวันที่เริ่มต้นเดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติเวียดนาม ตกประมาณวันที่ 20 มกราคมถึง 20 กุมภาพันธ์
- เราะอส์ อัสซะนะฮ์ อัลฮิจญ์ริยะฮ์ (อาหรับ: رأس السنة الهجرية) เป็นวันที่เริ่มต้นเดือนมุฮัรรอม (เดือน 1) ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮ์ของอิสลาม วันที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับว่ามีคนมองเห็นดวงจันทร์หรือไม่ ตามสถิติเมื่อเทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนพบว่าวันนั้นร่นเข้าไปประมาณ 10 วันทุกปี
====================
ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<