รีเซต

10 เหตุการณ์นองเลือด นรกบนดิน สะเทือนขวัญที่สุดของโลก

10 เหตุการณ์นองเลือด นรกบนดิน สะเทือนขวัญที่สุดของโลก
แมวหง่าว
25 กุมภาพันธ์ 2565 ( 17:14 )
167.9K
12

     คงไม่มีเหตุการณ์ไหนจะรุนแรงไปกว่าการที่มนุษย์เข่นฆ่ากันเองอีกต่อไปแล้ว แต่ถึงอย่างไรเรื่องราวน่าสยองเหล่านี้กลับอยู่คู่กันมากับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สังหารหมู่ ความอดอยาก ฯลฯ บางเรื่องก็ยากที่จะยอมรับ บางเรื่องเป็นที่รับรู้กันทั่วไปแต่ผู้คนในยุคนั้นก็เลือกที่จะไม่พูดถึงมันอีก เก็บไว้เพียงความทรงจำอันเลวร้าย ที่หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต และต่อไปนี้คือ 10 เหตุการณ์นองเลือดที่เคยเกิดขึ้นจริงในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ ที่ทางเรามิได้มีเจตนาจะรื้อฟื้นเรื่องราวความขัดแย้งในอดีตขึ้นมา เพียงแค่ต้องการให้เป็นเครื่องเตือนใจ ว่าความรุนแรงนั้นไม่เคยส่งผลดีต่อผู้ใดเลย

 

 

รวมเหตุการณ์นองเลือด สะเทือนขวัญที่สุดของโลก

1. The Holocaust ค่ายกักกันนาซี (1939-1945)

 

 

     หากพูดถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุด มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกคนล้วนนึกถึงเหตุการณ์การล้างชาติโดยนาซี (The Holocaust) ที่ทำการสร้างค่ายเพื่อจุดประสงค์ในการสังหารประชากรจำนวนมากลงเพียงอย่างเดียว อันได้แก่ ชาวยิวในทวีปยุโรป ชาวโปล ชาวยิปซี และชาติอื่น ๆ ทั้งนี้ยังรวมถึงเชลยศึกชาวโซเวียตด้วย นักโทษจำนวนหลายล้านคนเสียชีวิตในค่ายกักกันทั้งจากการใช้แรงงานหนัก โรคระบาด ความหนาว อดอาหาร ถูกกระทำทารุณ ถูกนำไปทดลองทางวิทยาศาสตร์โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม

 

Everett Historical / Shutterstock.com

 

     และเรื่องที่โหดร้ายมากที่สุดก็คือการประหารนักโทษด้วยการเข้า "ห้องรมแก๊ส" เพื่อเป็นการประหารให้ได้ครั้งละจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้โดยไม่ต้องเปลืองกระสุนปืน (ห้องรมแก๊สหนึ่งห้องสามารถจุคนได้ถึง 2,000 คน) โดยจะเริ่มตั้งแต่การขนส่งนักโทษโดยรถรางบรรทุก อัดแน่นกันอยู่จนกว่าจะถึงที่หมายนานนับสัปดาห์โดยไม่มีน้ำหรืออาหาร หรือถ้ามีก็น้อยมาก ชาวยิวที่รอดมาได้ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเมื่อมาถึงที่นี่จะต้องเจอกับอะไร หลังจากทำการคัดเลือกนักโทษที่พอจะทำงานได้แล้ว ก็จะแจ้งแก่คนที่ไม่ต้องการแล้วว่าจะพาไปอาบน้ำ แต่จริงๆ คือพาไปสู่ห้องรมแก๊สนั่นเอง

 

 

     ปัจจุบัน ค่ายกักกันเอาชวิทซ์-เบียร์เคเนา (Auschwitz-Birkenau) เป็นค่ายที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโปแลนด์ และได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมของโปแลนด์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจแก่คนรุ่นหลังถึงความโหดร้ายของสงคราม

 

2. เหตุการณ์ Holodomor จากความอดอยากในยูเครน (1932-1933)

 

 

     คำว่า Holodomor เป็นภาษายูเครน แปลว่า การเข่นฆ่าด้วยความอดอยากหิวโหย หรือการปล่อยให้อดอยากหิวโหยจนถึงแก่ความตาย เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นช่วงค.ศ. 1932 ยุคที่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ภายใต้การปกครองของ โจเซฟ สตาลิน ซึ่งมนโยบายด้านเศรษฐกิจรวมศูนย์ ที่ผลผลิตทางการเกษตรต้องถูกยึดเป็นของส่วนรวม ซึ่งเรียกเอาผลผลิตปริมาณสูง ชาวนาถูกบังคับขายผลผลิตในราคาถูก และถูกสั่งห้ามไม่ให้กินผลผลิตของพวกเขาเองอีกด้วย จนกระทั่งเกิดภาวะความอดอยากที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 12 ล้านคน

 

อนุสาวรีย์รำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ Holodomor ที่เมืองเคียฟ ยูเครน
DmyTo / Shutterstock.com

 

     แรกเริ่ม ผู้คนเริ่มกินสุนัข แมว กบ หนู วัชพืช หญ้า หรือทุกอย่างที่สามารถหาได้ สุดท้ายก็คือการกินเนื้อคนด้วยกันเอง มีการฆ่าคนในครอบครัวตัวเองมาทำอาหาร หรือแม้แต่กินร่างของเด็กที่ตายไปแล้วด้วยความอดอยาก เฉพาะในเดือนมิ.ย. 1933 มีผู้เสียชีวิต 34,500 คนในทุกๆ วัน 15,000 คนทุกชั่วโมง และ 24 คนทุกนาที

 

3. การสังหารหมู่ ที่ทุ่งสังหารในกัมพูชา (1975-1979)

 

 

     จุดเริ่มต้นจากการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในรัฐบาลของ นายพล ลอน นอล ซึ่งทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาจากสมเด็จเจ้านโรดมสีหนุ ประชาชนชาวกัมพูชาจึงต้องหลบหนีไปเข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หรือเขมรแดง ที่นำโดย นายพล พต ที่ต่อมาสามารถโค่นล้มอำนาจของนายพล ลอน นอลได้ในที่สุด และได้เริ่มแผนสังหารหมู่ขึ้นที่โตสะแลง (Tuol Sleng) สถานที่จองจำและทรมานนักโทษชาวกัมพูชา ก่อนจะถูกพามายัง ทุ่งสังหารเพื่อฆ่าและฝังกลบในคราวเดียว

 

By Leon petrosyan - Own work, CC BY-SA 4.0

 

     เริ่มแรก ผู้นำของเขมรแดงจะพาชาวเมืองอพยพเพื่อเดินทางไปสู่ "อนาคตของประเทศ" โดยบอกกับประชาชนชาวเมืองว่า ทั้งหมดเป็นการหนีภัยจากสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาทิ้งระเบิด หลังจากนั้นก็จะคัดแยกประชาชนที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ไปทำการ "สอบสวน" ที่โตสะแลง ส่วนประชาชนทั่วไปก็จะถูกบังคับใช้แรงงาน หากขัดขืนมีแต่โทษตายเท่านั้นที่รออยู่

 

 

4. โศกนาฏกรรมสังหารหมู่อาร์เมเนียน (1915-1925)

 

 

     เหตุการณ์กองทัพออตโตมัน ฆ่าหมู่ชาวอาร์เมเนีย 1.5 ล้านคนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยรัฐบาลออตโตมันในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1914 และ ค.ศ. 1923 และผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกขับไล่ให้เดินหน้าไปตายในทะเลทรายซีเรีย มีการสังหารประชากรชายฉกรรจ์จนหมดสิ้นตลอดเส้นทาง และบังคับใช้แรงงาน ตามมาด้วยการเนรเทศสตรี เด็ก ผู้สูงวัย และผู้ทุพพลภาพด้วยการเดินขบวนแห่งความตายที่นำไปสู่ทะเลทรายซีเรีย ตลอดการเดินทางผู้ถูกเนรเทศจะถูกกีดกันไม่ให้ได้รับอาหาร น้ำ และถูกปล้นชิงทรัพย์เป็นระยะๆ ข่มขืน และสังหารหมู่

 

5. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา (1994)

 

 

     เป็นการสังหารหมู่พันธุฆาตชาวทุตซี (Tutsi) และฮูตู (Hutu) สายกลางในประเทศรวันดา โดยสมาชิกรัฐบาลฝ่ายข้างมากฮูตู โดยมีเป้าหมายหลักคือผู้ชายทุกวัย ด้วยข้ออ้างที่ว่า คนเหล่านี้อาจเข้าร่วมกับพวกกบฏ RPF หรือไม่ก็เป็นไปแนวร่วม ส่วนหญิงสาวชาวทุตซีถูกจับมาข่มขืนและสังหารทิ้งอย่างเหี้ยมโหด ประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ช่วยเหลือได้เพียงการอพยพคนของตนออกมาเท่านั้น และกองกำลังสหประชาชาติก็ไม่ได้กระทำการใดๆ เพื่อยุติเหตุรุนแรงเลย ตลอดระยะเวลาหนึ่งร้อยวันที่เกิดเรื่อง ประมาณการว่ามีชาวรวันดาเสียชีวิตราว 800,000 – 1,070,000 คน กลายเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของมนุษยชาติ

 

 

6. ยุทธการปิดล้อมเลนินกราด (1941-1944)

 

By RIA Novosti archive, image #216 / Boris Kudoyarov / CC-BY-SA 3.0, CC BY-SA 3.0

 

     เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่แนวรบด้านตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพนาซีทำการปิดล้อมเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) พลเมืองก็ได้สร้างกำแพงเพื่อไม่ให้นาซีบุกเข้ามาได้ กลายเป็นการปิดเมืองที่คนในก็ไม่ได้ออก ชาวเมืองต้องอยู่โดยขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม จนต้องเริ่มหันมากินเนื้อคนเพื่อเอาชีวิตรอด แม้แต่ตำรวจก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เด็กทุกคนต้องหลบอยู่แต่ในบ้าน เพราะมักตกเป็นเหยื่อถูกฆ่า และถูกกินเป็นอันดับแรก

 

7. ภาวะอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศจีน Great Chinese Famine (1958-1961)

 

 

     ประเทศจีนต้องพบกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ ช่วงยุคประธานเหมา เจ๋อตง เนื่องจากภัยแล้ง และการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เปลี่ยนการเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด ประกาศใช้ระบบนารวม ชาวไร่ชาวนาไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน หรือซื้อขายผลผลิต ผลผลิตที่ได้ต้องนำเข้าส่วนกลางถึงหนึ่งในสามของผลผลิตทั้งหมด และอีกหนึ่งส่วนยังต้องเป็นสวัสดิการสังคมที่รัฐจะดูแลประโยชน์ต่างๆ เช่น การพยาบาล การศึกษา เป็นต้น เปิดช่องให้เกิดการทุจริตของเจ้าหน้าที่พรรคที่ควบคุมระบบนารวมในแต่ละเขต

 

     เมื่อประชาชนอดอยาก ข้าวยากหมากแพง จึงต้องเริ่มกินเนื้อคนอย่างช่วยไม่ได้ อาหารที่ทำจากเนื้อคนกลายเป็นสินค้าที่วางขายในตลาด บางครอบครัวก็แลกเปลี่ยนลูกกันเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดจากการกินลูกของตนเอง กลายเป็นความอดอยากที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์จีน บันทึกอย่างเป็นทางการระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 45 ล้านคน

 

8. สังหารหมู่ที่นานกิง (Nanking Massacre) (1937-1938)

 

 

     หนึ่งในเหตุการณ์นองเลือดอันแสนเลวร้าย ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในอดีตนครหลวงของประเทศจีนอย่าง "นานกิง" ที่ปัจจุบันเราจะยังไม่ทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่ชัด แต่ก็มีการประเมินว่าอาจสูงถึง 250,000 ถึง 300,000 คน หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นเพิ่งเข้ายึดเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ไม่นาน ก็ยกกองกำลังมายังนานกิง ใช้เวลาโหมโจมตีอย่างหนักทั้งทางพื้นดิน และทางอากาศก็ยึดเมืองนานกิงได้โดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น...

 

 

     แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมรับการกระทำเรื่องการฆ่าพลเรือนจำนวนมาก การฉกชิงทรัพย์ และความรุนแรงอื่นโดยกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นหลังนานกิงแตกก็ตาม แต่ก็มีการกล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่เป็นทหาร และไม่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการสังหารหมู่ และยังเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่นในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

9. จัตุรัสเทียนอันเหมิน เรื่องเศร้าในประวัติศาสตร์ประเทศจีน (1989)

 

 

   เหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน เพิ่งครบรอบ 30 ปีไปเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2019 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์โลกอันยากจะลืมเลือน จากการเจรจาที่ไม่เป็นผลระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพ กับทางพรรคคอมมิวนิสต์ นำไปสู่ความวุ่นวายนองเลือด และการปราบปรามที่แสนนองเลือด จนทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีผู้เสียชีวิตกี่รายกันแน่ เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่เคยออกมาเปิดเผย รวมถึงมาตรการที่มุ่งเซนเซอร์ทุกอย่างที่กล่าวถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินในโลกไซเบอร์ทั้งหมด เหตุการณ์ในวันนั้นถูกตัดออกจากหนังสือประวัติศาสตร์ในจีนโดยสิ้นเชิง

 

 

 

10. การสังหารหมู่ชาวเคิร์ด Anfal campaign (1986–1989)

 

กระดูกมนุษย์ในสุสานหมู่ที่เคอร์ดิสถานของอิรัก
โดย James Gordon from Los Angeles, California, USA - Zahko, Iraqi KurdistanUploaded by FunkMonk, CC BY 2.0

 

     ปฏิบัติการอัล-อันฟาล (Al-Anfal) หรือการสังหารหมู่ชาวเคิร์ด เกิดขึ้นในสมัยของ ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งเป็นคำสั่งกวาดล้างชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ที่มีการประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 180,000 คน โดยกองทัพอิรักได้ทำการกวาดล้างชาวเคิร์ดด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการใช้การโจมตีภาคพื้นดิน การโจมตีทางอากาศ การทำลายที่อยู่อาศัย เนรเทศชาวเคิร์ดให้ออกนอกพื้นที่ รวมถึงเหตุการณ์การปล่อยแก๊สพิษ เพื่อสังหารคนในหมู่บ้านฮาลับจาของชาวเคิร์ด ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 5,000 คนด้วย

===============