7 วิธีการพกยาไปต่างประเทศ ปลอดภัยไม่โดนจับ

การเดินทางไปต่างประเทศนั้นนอกจากจะต้องแพลนการเดินทางแล้ว อย่าลืมว่าการพกยาไปด้วยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้การเดินทางของคุณปลอดภัย และไม่เกิดปัญหาในการตรวจสอบที่ด่านศุลกากร นี่คือ 7 วิธีการพกยาไปต่างประเทศอย่างปลอดภัย
ข้อควรรู้ วิธีพกยาไปต่างประเทศ
1. ตรวจสอบกฎหมายของประเทศปลายทาง
ก่อนเดินทาง ควรศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการนำเข้ายาของประเทศที่จะไป เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎระเบียบที่แตกต่างกัน เช่น ยาที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย อาจเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นก็ได้ ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานทูตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ไม่จำเป็น
ยกตัวอย่างกฎเกณฑ์ในต่างประเทศ
- ญี่ปุ่น ยา 11 ชนิด ห้ามนำเข้าประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบโดนจับ!
- สิงคโปร์ การพกยาที่มีโคเดอีน เช่น ยาแก้ไอ ต้องมีใบรับรองแพทย์ และแจ้งล่วงหน้า
- สหรัฐอเมริกา ยาควบคุมบางประเภทต้องมีเอกสารรับรองจากแพทย์และยื่นขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ออสเตรเลีย หรือบางประเทศในสหภาพยุโรป อาจกำหนดให้ยื่นขออนุญาตนำยาเข้าประเทศล่วงหน้าผ่านสถานทูตหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2. ตรวจสอบสารออกฤทธิ์ของยา (Active Ingredient)
ดูที่ส่วนประกอบของยา มากกว่าชื่อการค้า เพราะยาเดียวกันอาจมีชื่อต่างกันในแต่ละประเทศ และอาจถูกห้ามนำเข้าตามกฏหมายประเทศนั้นๆ
3. พกเอกสาร ใบรับรองแพทย์
หากคุณมีโรคประจำตัว และต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรขอใบรับรองแพทย์เป็นภาษาอังกฤษไปด้วย รวมไปถึงใบสั่งยาจากแพทย์ ระบุชื่อยา ปริมาณ เหตุผลที่ต้องใช้ และลายเซ็นแพทย์ ใบรับรองเหล่านี้จะช่วยยืนยันว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านั้นจริง และจะช่วยลดความกังวลเมื่อมีการตรวจสอบ
4. อย่าแกะยาออกจากบรรจุภัณฑ์
เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบ ควรเก็บยาในบรรจุภัณฑ์เดิม ไม่ควรแกะออกจากแผงหรือซองยาเด็ดขาด เพราะหากไม่มีหลักฐานระบุว่ายานั้นคืออะไร อาจทำให้คุณไม่สามารถนำเข้าได้
5. ตรวจสอบวันหมดอายุของยา
การใช้ยาหมดอายุอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นควรตรวจสอบวันหมดอายุของยาให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง และควรเตรียมยาที่มีวันหมดอายุยาวนานเพียงพอสำหรับระยะเวลาเดินทาง
6. เตรียมยาในปริมาณที่เพียงพอ
ควรนำยาติดตัวไปมากกว่าปริมาณที่ใช้ในแต่ละวันเล็กน้อย เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น กระเป๋าเดินทางสูญหายหรือเที่ยวบินดีเลย์
7. ยาที่ควรพกติดตัว
สำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัวอะไร อย่างน้อยๆ ก็ควรพกยาสามัญประจำบ้านติดตัวไปด้วย เผื่อป่วยขึ้นมาจะได้พอดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ เช่น
- พาราเซตามอล: ใช้ลดไข้และบรรเทาอาการปวด
- ยาแก้เมารถ: สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มเมารถ เมาเรือ
- ยาแก้แพ้: สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่าย
- ยาลดกรด: แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- เกลือแร่: สำหรับแก้ท้องเสีย
- ชุดทำแผล: รวมถึงผ้าก๊อซ และแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
การเตรียมตัวอย่างละเอียดและมีข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้การเดินทางของเราเป็นไปอย่างราบรื่น และปลอดภัย ไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับการนำยาติดตัวไปต่างประเทศ
====================