รีเซต

เปิด 9 เทรนด์การเดินทางแห่งปี 2568 โดย Booking.com รับกระแส AI มาแรง

เปิด 9 เทรนด์การเดินทางแห่งปี 2568 โดย Booking.com รับกระแส AI มาแรง
Muzika
30 พฤศจิกายน 2567 ( 12:01 )
131

     ปี 2025 หรือ 2568 ที่จะถึงนี้ การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอีกต่อไป แต่ยังเป็นโอกาสในการค้นหาตัวตนใหม่ เติมเต็มความสัมพันธ์ และหลีกหนีจากความจำเจในชีวิตประจำวัน จากที่ปีก่อนหน้าผู้เดินทางเคยระบุว่าการท่องเที่ยวคือชีวิต (Travel is life) แต่ในปี 2568 พวกเขาจะนิยามคำว่าการเดินทางของพวกเขาใหม่ Booking.com ได้เปิดเผยเทรนด์การเดินทางที่น่าสนใจ โดยอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนกว่า 27,000 คนใน 33 ประเทศทั่วโลก

เปิด 9 เทรนด์การเดินทางแห่งปี 2568 โดย Booking.com

     9 เทรนด์ซึ่งจะเป็นคาดว่าในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการท่องโลกแบบใหม่ของทั้งผู้เดินทางเจเนอเรชันวาย (Gen Y หรือ มิลเลนเนียล) ที่กำลังมองหาความบันเทิงใหม่ๆ ตลอดจนเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ผู้มองหาความตื่นเต้น

1. เปิดโลกการเดินทางใหม่ด้วย AI

     ในปี 2568 เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จะมีบทบาทสำคัญต่อการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเดินทางที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขา การค้นหาจุดหมายปลายทางที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์ ตลอดจนช่วยให้ดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่จุดหมายปลายทางได้ดียิ่งขึ้น

  • 83% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 66% ของผู้เดินทางทั่วโลก) จะใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลและสัมผัสประสบการณ์แบบท้องถิ่นแท้ ๆ
  • ผู้เดินทางชาวไทยกว่า 3 ใน 4 (75%) ใช้เทคโนโลยีในการค้นหาจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักและไม่ค่อยมีคนพลุกพล่าน
  • นอกจากนี้ ผู้เดินทางชาวไทยเกินครึ่ง (54%) สนใจและพร้อมลองใช้ AI ในการคัดสรรสิ่งต่าง ๆ สำหรับ
    การวางแผนทริปของพวกเขา

     เพื่อตอบรับเทรนด์ ‘เปิดโลกการเดินทางใหม่ด้วย AI’ Booking.com แนะนำ ‘AI Trip Planner’ ซึ่งเป็นเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยแนะนำการวางแผนทริปใหม่ ๆ อันน่าสนใจและเหมาะกับความชอบของผู้เดินทางทุกคน

2. ทริปเที่ยวแบบครอบครัวใหญ่

     ผู้เดินทางในปี 2568 จะหันมาให้มรดกลูกหลานของพวกเขาด้วยประสบการณ์อันล้ำค่าจากการเดินทางแทนที่จะให้เงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งเทรนด์การเดินทางนี้จะเป็นการพักผ่อนแบบ ‘SKI’ (Spending Kids’ Inheritance) หรือที่เรียกว่า ‘การจ่ายเงินสร้างประสบการณ์ให้ลูกหลานมากกว่าการเก็บเป็นมรดก’

  • ผู้เดินทางชาวไทย 40% (ผู้เดินทางทั่วโลก 46%) ต้องการใช้จ่ายเงินไปกับทริปครอบครัวในปี 2568 เพื่อสร้างประสบการณ์ ‘ครั้งเดียวในชีวิต’ มากกว่าเก็บเงินไว้เป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน
  • เทรนด์นี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ โดย 96% ของผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มนี้ยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานสำหรับการเดินทางครั้งถัดไป
  • นอกเหนือจากนี้ ผู้เดินทางชาวไทย 78% ระบุว่าผู้ปกครองของพวกเขาเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางพักผ่อน แม้ว่าพวกเขาจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

     เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสมาชิกในครอบครัว การเดินทางจึงเปรียบเสมือนรางวัลตอบแทนจากการทำงานอย่างหนัก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความทรงจำอันน่าประทับใจใหม่ ๆ แล้วยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยจากผลสำรวจเกี่ยวกับทริปการเดินทางแบบครอบครัวใหญ่ (Multigenerational travel) พบว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 43%** และผู้เดินทางกลุ่มนี้มักจะหาโอกาสพิเศษในการเดินทางเพื่อพบปะหรือรวมตัวเฉลิมฉลองด้วยกัน ซึ่งพวกเขาระบุว่าระยะเวลาที่เหมาะสมของทริปที่จะไม่ทำให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกเหนื่อยจนเกินไปคือประมาณ 4-6 วัน

  • ผู้เดินทางกลุ่มมิลเลนเนียลหรือเจเนอเรชันวาย มักเป็นผู้นําในการวางแผนการเดินทางของครอบครัว โดย 48% ของพวกเขาเตรียมการเดินทางด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยี
  • การวางแผนการเดินทางไม่ใช่หน้าที่ของผู้เดินทางกลุ่มเจเนอเรชันวายเพียงกลุ่มเดียว แต่ผู้เดินทางกลุ่ม
    เจเนอเรชันซี (Gen Z) ก็กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม โดย 47% ของพวกเขาร่วมวางแผนและปรับแต่งแผนการเดินทางในแบบของตัวเอง
  • ในทางกลับกัน ผู้เดินทางกลุ่มเบบี้บูมเมอร์มักจะมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย โดย 23% ของพวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการวางแผน
  • ส่วนตัวเลือกทางด้านที่พักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางแบบครอบครัวใหญ่มีความหลากหลายตามความชอบของสมาชิกในครอบครัว แต่โรงแรม (40%) และรีสอร์ท (52%) ยังคงเป็นตัวเลือกแรก ๆ อย่างไรก็ตาม อีก 10% รู้สึกว่าที่พักเชิงวัฒนธรรมก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกน่าสนใจสำหรับพวกเขา

3. ทริปใหม่แต่ไอเท็มเดิม

     จากความนิยมของการเลือกใช้สินค้ามือสองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การแต่งตัวและการใช้ไอเท็มต่าง ๆ ในการเดินทางจะเปลี่ยนแปลงไปในปี 2568 ซึ่งความนิยมนี้ได้รับอิทธิพลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นรวมถึงความตระหนักรู้เรื่องสภาวะโลกร้อนของผู้เดินทาง

  • 76% ของผู้เดินทางชาวไทยสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าระหว่างการเดินทางมากกว่าก่อนเริ่มทริป โดยความสนใจนี้ได้เพิ่มขึ้นในผู้เดินทางเจเนอเรชันซีเป็น 81%
  • ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 53% ระบุว่าพวกเขาสนใจที่จะแวะซื้อเสื้อผ้ามือสองในระหว่างการเดินทาง
  • กว่า 88% ของผู้เดินทางชาวไทยรายงานว่าพวกเขาเคยซื้อสินค้าวินเทจหรือสินค้ามือสองจากต่างประเทศ

     เทรนด์การเดินทางนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเรื่องของแฟชันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงค่าครองชีพและสภาวะโลกร้อนที่มีอิทธิพลต่อพวกเขามากขึ้น รวมถึงต้องการที่จะต่อต้านกระแสฟาสต์แฟชัน (Fast Fashion) และแนวคิดบริโภคนิยม (Consumerism) ด้วยเช่นกัน ผู้เดินทางจึงนิยมเลือกซื้อสินค้ามือสองระหว่างเดินทางเพื่อความคุ้มค้าและประสบการณ์ที่ดีในราคาที่จับต้องได้

  • 82% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 68% ของผู้เดินทางทั่วโลก) วางแผนการใช้จ่ายให้คุ้มค่า ดังนั้นการค้นหาไอเท็มสภาพดีราคาถูกที่ซ่อนอยู่ในร้านขายของมือสองจึงเป็นภารกิจที่น่าสนุกในการเดินทาง
  • นอกจากนี้ 45% ของพวกเขาระบุว่าสินค้ามือสองในร้านขายของวินเทจที่ต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าในประเทศ

4. ทริปหลบร้อนท่ามกลางแสงดาว

     การหนีร้อนเพื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นขึ้นเป็นการเดินทางที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เดินทางชาวไทยมานาน ตั้งแต่ ‘เทรนด์หนีร้อนไปพึ่งเย็น’ ที่มาแรงในปี 2567 ซึ่งผู้เดินทางมองหาจุดหมายปลายทางใกล้แม่น้ำมากขึ้น และในปี 2568 ผู้เดินทางยังคงมองจุดหมายปลายทางหนีความร้อนเหมือนเดิม แต่จะมองหาสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมในยามค่ำคืนมากขึ้นเนื่องจากอากาศที่เย็นกว่าตอนกลางวัน สถานที่มีความแออัดน้อยลง รวมถึงความสนใจด้านอวกาศและจักรวาล

  • 73% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 62% ของผู้เดินทางทั่วโลก) สนใจที่จะเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่มืดและสงบ พร้อมกับความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
    • 85% ต้องการนอนชมดาว ดื่มด่ำบรรยากศยามค่ำคืนที่โอบล้อมไปด้วยหมู่ดาว
    • 81% ต้องการไกด์นำเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ที่บอกเล่าแผนที่ดาวบนฟากฟ้า
    • 74% สนใจทราบตำแหน่งและวิธีการมองหากลุ่มดาวต่าง ๆ

     ความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิ และแสงแดดยังส่งผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางด้วย นอกจากนี้การชื่นชมโลกยามค่ำคืนก็ทำให้ผู้เดินทางได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

  • 68% ของผู้เดินทางชาวไทยวางแผนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมยามค่ำคืนแทนกิจกรรมช่วงกลางวันเพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างวัน
  • การปกป้องตัวเองจากแสงแดดทำให้ผู้เดินทางชาวไทย 75% ระบุว่าพวกเขาจะวางแผนทำกิจกรรมในช่วงเย็นและหรือช่วงเช้าตรู่ที่แสงจากดวงอาทิตย์ยังไม่ร้อนแรงมากจนเกินไป
  • ผู้เดินทางชาวไทย 73% จะเลือกจองที่พักเชิงธรรมชาติที่ไม่มีแสงไฟยามค่ำคืน เพื่อลดมลภาวะทางแสง ช่วยให้พวกเขาสัมผัสบรรยากาศความสงบ ตลอดจนไม่รบกวนเหล่าสัตว์และพืชพรรณ

5. ชะลอใจ ชะลอวัย

     ผู้เดินทางเริ่มมองหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขายืนยาวขึ้น ทั้งนี้ในปี 2568 ผู้เดินทางมีแนวโน้มที่จะหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มากยิ่งขึ้น พวกเขามองว่าการเดินทางไม่ใช่แค่ช่วงเวลาผ่อนคลายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง อ่อนเยาว์ และใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

  • 81% ของผู้เดินทางชาวไทยยินดี “ซื้อสุขภาพ” ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว โดยมีการพักผ่อนเป็นวัตถุประสงค์หลักเพียงอย่างเดียว (เทียบกับ 58% ของผู้เดินทางทั่วโลก)
  • ผู้เดินทางชาวไทย 85% มองหากิจกรรมเพื่อสุขภาพที่สามารถนำมาผสมผสานเข้ากับชีวิตประจำวันต่อได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่สมดุลมากขึ้น เช่น ปรับเวลาการดื่มกาแฟ (65%) และการดริปวิตามิน (58%)
  • 69% สนใจกิจกรรมบำบัดเพื่ออายุที่ยืนยาวในระหว่างการเดินทาง ฟื้นฟูร่างกายให้มีสุขภาพดีขึ้น โดยมีความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การบำบัดด้วยความเย็น (82%) ความสั่นสะเทือนทั่วร่างกาย (77%) และการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ (70%)

6. ทริปชายแท้ แต่ตีความใหม่

     การเดินทางในปี 2568 ของผู้เดินทางเพศชายชาวไทยจะออกจากกรอบการเดินทางแบบ ‘ลูกผู้ชาย’ ตามความคาดหวังของสังคมมากขึ้น โดยพวกเขาจะให้ความสำคัญกับแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอบายมุขต่าง ๆ น้อยลง  เนื่องจากการเดินทางแบบลูกผู้ชายในปัจจุบันเปลี่ยนมาเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาตัวเอง รวมถึงการยอมรับและก้าวข้ามอุปสรรคภายในใจของตนเอง และเหตุผลอื่น ๆ เช่น เพื่อคลายความเหงา และเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน โดยสาเหตุของการจัดทริปการเดินทางมาจากที่พวกเขาต้องการลดความเครียดในชีวิตประจำวัน (31%) เพื่อพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกาย (42%) เพื่อความสงบสุขทางใจและสุขภาพจิตที่ดี (28%) และเพื่อการพัฒนาตัวเอง (29%)

  • ผู้เดินทางชาวไทย 62% (และ 47% ของผู้เดินทางทั่วโลก) ยืนยันว่าจะสนับสนุนให้ผู้ชายลองไปเที่ยวแบบทริปชายแท้ที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้น โดยเป็นความเห็นจากผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มเจเนอเรชันซี 66% และกลุ่มเจเนอเรชันวาย 68%
  • ‘ผู้หญิง’ มักเป็นฝ่ายโน้มน้าวให้เหล่าผู้ชายในชีวิตของพวกเธอไปออก ‘ทริปชายแท้’ ที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้น โดยพวกเธอสนับสนุนให้ผู้ชาย ‘ให้ความสำคัญกับตนเองก่อนเป็นอันดับแรก’
    • 61% สนับสนุนคู่รักของตัวเอง
    • 32% สนับสนุนเพื่อนชาย
    • 24% สนับสนุนพี่ชายหรือน้องชาย
    • 25% สนับสนุนพ่อของตน

7. เริ่มต้นเที่ยวได้ แม้ในสนามบิน

     ก่อนหน้านี้ ผู้เดินทางมักจะคำนวณเวลาเพื่อให้มาถึงทันเวลาขึ้นเครื่องบินพอดี เพื่อลดการพบปะความแออัดของผู้คนบริเวณพื้นที่รับรองในสนามบิน แต่ในปี 2568 ผู้เดินทางได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดสำหรับการเริ่มต้นเที่ยวด้วยการมองหาและใช้เวลาไปกับความบันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีให้บริการในสนามบิน

  • 82% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่าพวกเขาจะรู้สึกดีมากขึ้นและเครียดน้อยลงในเรื่องการเดินทางหากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่สนามบินให้เลือกใช้ก่อนขึ้นเครื่องบิน
  • ผู้เดินทางชาวไทยกว่า 73% แสดงความสนใจที่จะไปเยี่ยมชมแลนด์มาร์ค หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในสนามบิน หากแลนด์มาร์คเหล่านั้นมีเอกลักษณ์และมีความน่าสนใจ
  • 77% ของผู้เดินทางชาวไทยสนใจสนามบินที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างประสบการณ์ได้ดี มากกว่าสนามบินที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้

     ผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มเจเนอเรชันซีและเจเนอเรชันวายเป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนเทรนด์นี้ให้เป็นที่นิยม โดย 75% ของพวกเขาให้ความสำคัญกับการพิจารณาเลือกจุดหมายปลายทาง โดยนำสนามบินของจุดหมายนั้น ๆ มาเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะสิ่งอำนวยความสะดวกที่พวกเขาให้ความสนใจ ได้แก่ โรงแรมแคปซูลในสนามบิน ร้านสปาในสนามบิน หรือแม้แต่ร้านอาหารระดับดาวมิชลิน

8. การเดินทางที่พิเศษของคนที่มีความต้องการพิเศษ

     ในปี 2568 กระแสความเท่าเทียมและการสร้างแนวทางที่หลากหลายสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodivergent People) จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงการเดินทาง โดยพวกเขาจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ขณะเดินทางซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลของตัวเองและเพื่อนร่วมเดินทางของพวกเขา

  • 65% ของผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มต้องการความช่วยเหลือพิเศษระบุว่าพวกเขาเคยมีประสบการณ์เชิงลบระหว่างการเดินทาง (เทียบกับ 49% ของผู้เดินทางทั่วโลก)
  • 76% ระบุว่าตัวเลือกของพวกเขาถูกจำกัด หรือมีจำกัด เนื่องจากปัจจัยที่มาจากความแตกต่างของพวกเขา
  • 77% ของผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มนี้สนใจเครื่องมือ AI ที่สรุปข้อมูลการเดินทางให้สั้นและตามเวลาจริง (Real time) เช่น อัปเดตเที่ยวบินล่าช้า แนะนำพื้นที่ที่ผู้คนไม่พลุกพล่านในสนามบินหรือโรงแรม
  • 74% ของผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับห้องกิจกรรมบำบัด (Sensory Stimulation Rooms) หรือบริเวณที่มีการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อกระตุ้นการรับรู้ประสาทสัมผัสของกลุ่มคนพิเศษ ในสนามบิน โรงแรม รวมถึงสถานที่อื่น ๆ
  • 83% ต้องการตัวเลือก “ปิดกั้นเสียงรบกวน” ระหว่างการเดินทางเพื่อยกระดับประสบการณ์การเดินทางของพวกเขาด้วย

9. ท้าทายขีดจำกัดเรื่องอายุ

     ภาพจำของการเกษียณอายุจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในปี 2568 โดยผู้เดินทางกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ชาวไทยจะไม่ยอมละทิ้งความสนุกให้กับอายุและสุขภาพของตัวเอง และ 21% ของพวกเขาให้ความสนใจกับการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการผจญภัยร่วมอยู่ด้วย และพวกเขาพร้อมกำหนดนิยามใหม่ให้กับการเดินทางในช่วงบั้นปลายชีวิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าการผจญภัยไม่มีขีดจำกัดของอายุ

  • 46% พร้อมปล่อยใจที่จะไม่เข้มงวดกับตัวเองเกินไปในเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (เทียบกับ 27% ของผู้เดินทางทั่วโลก)
  • ในทางกลับกัน ผู้เดินทางกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ชาวไทยก็ให้ความสนใจกับกิจกรรมผจญอื่น ๆ ที่น่าสนใจดังนี้
    • 35% สนใจลองขี่ม้า
    • 32% ต้องการล่องเรือแคนูไปตามแม่น้ำที่มีชื่อเสียง
    • 25% สนใจการเดินป่า และการโต้คลื่นบนทราย

====================