“อ๋อ พามาเที่ยวที่นี่ก็ได้” ผมอุทานขึ้น เมื่อขับรถผ่านสี่แยกสะเมิง มองเห็นคนโทยักษ์สีน้ำตาลตั้งตระหง่าน ขนาดสูงใหญ่หลายเมตรสวยสะดุดตา หลายวันมานี้ผมพยายามคิดหาสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ให้กับเพื่อนสนิทจากกรุงเทพซึ่งจะมาเที่ยวในช่วงสัปดาห์หน้า โดยเพื่อนตัวแสบของผมยังย้ำอีกด้วยว่าขอเป็นสถานที่แปลกใหม่ มีกลิ่นไอวัฒนธรรม ศิลปะ ภูมิปัญญา และคงความเป็นพื้นบ้านผสมผสานวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายกลมกลืน จนต้องร้อง “โอ้โฮ” ให้ได้ นั่นแหละครับทำเอาผมคิดหนักเลยทีเดียว จนมานึกออกเมื่อเห็นคนโทยักษ์ สถาปัตยกรรม อันเป็นจุดสังเกตของหมู่บ้านหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงแห่งนี้ และด้วยตนเองเป็นเจ้าบ้าน จะได้ตอบข้อสงสัยของเพื่อนได้อย่างชัดเจน ผมจึงตัดสินใจค้นคว้าหาข้อมูล พร้อมกับมาเที่ยวชมล่วงหน้าก่อน ขอบคุณภาพจาก https://www.museumthailand.com/th/3839/storytelling/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%87/ หมู่บ้านเหมืองกุงเป็นหมู่บ้านทางประวัติศาสตร์ มีอายุยาวนานถึงสองร้อยกว่าปี บรรพบุรุษเป็นชนเผาไท อพยพมาจากเมืองปุ เมืองสาด รัฐเชียงตุง เนื่องจากการรุกรานของพม่า โดยมีการอพยพมาเพียงไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งยังมีหลักฐานปรากฏเป็นนามสกุลของรุ่นลูกหลานในปัจจุบันครับ ในยุคสมัยของพระเจ้ากาวิละขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านเหมืองกุง ต้องทำนาเพื่อส่งข้าวเปลือกให้แก่เจ้ากาวิโรรสสุริยวงค์ โอรสของพระเจ้ากาวิละ และเมื่อถึงฤดูแล้งชาวบ้านก็จะนำความรู้ ภูมิปัญญาการปั้นที่ติดตัวมา ปั้นหม้อน้ำ คนโท สำหรับใช้บรรจุน้ำดื่ม ใช้สอย และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผามีหลายขั้นตอนด้วยกันครับ ขั้นตอนแรก การเตรียมดิน จะนำดินเหนียวมาตากให้แห้ง จากนั้นร่อน เอากรวดทรายออก แล้วจึงหมักดินไว้ประมาณหนึ่งถึงสองวัน ขั้นตอนที่สองการปั้น เริ่มจากนวดดินให้อ่อนตัว วางดินบนแท่นหมุนแล้วขึ้นรูปทรงด้วยมือ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ ปั้นในสถานที่อับ ไม่มีลมเพื่อไม่ให้ดินแห้ง ช่างปั้นจึงต้องทนร้อนและใช้สมาธิอย่างสูง ประกอบกับการปั้นเครื่องปั้นดินเผาบางอย่างต้องมีการทิ้งรอไว้หลายวันเพื่อให้ดินแห้งคงรูปก่อน จึงสามารถปั้นส่วนถัดไปได้ เช่น การปั้นคนโทมีเทคนิคการปั้นสามส่วนคือ ส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนคอหรือส่วนบน ต้องรอให้ดินแต่ละส่วนแห้งก่อนจึงสามารถปั้นส่วนอื่นได้ เหตุนี้เองคนโทของหมู่บ้านเหมืองกุงจึงมีชื่อเสียงเรื่องความแข็งแรง ทนทาน และในขั้นตอนนี้ยังมีการทำลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาด้วยลายเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นรูปใบโพธิ์หรือรูปหัวใจ ช่วยแต่งแต้มเติมสีสันอย่างวิจิตรตระการตา ขั้นตอนที่สาม การลงสีและขัดเงา ชาวบ้านเลือกใช้สีจากธรรมชาติ ได้มาจากดินลูกรังสีแดง ซึ่งปลอดภัยอย่างแน่นอนเมื่อนำมาใช้เป็นภาชนะในการบริโภค พร้อมกับนำหินจาก แม่น้ำลำธารมาขัดเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้เกิดความเงามัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีเฉพาะบ้านเหมืองกุงแห่งเดียว ต้องใช้ความประณีต ใจเย็น หากขัดแรงมากเกินไปอาจทำให้ผิวรูปทรงเครื่องปั้นมีรอยขีดข่วนไม่สวยงาม และขั้นตอนสุดท้าย การเผา ใช้ระยะเวลาประมาณแปดถึงสิบชั่วโมง มีการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในเตาให้มีอุณหภูมิกระจายเท่ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องปั้นดินเผาส่วนใดส่วนหนึ่งร้อนเกิน จนแตกหักเสียหายได้ ขอบคุณภาพจาก https://www.museumthailand.com/th/3839/storytelling/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%87/ แค่ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาก็ถือว่าสุดยอดแล้ว ทั้งยังทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม ผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดีด้วยครับ ในอดีตจะมีภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เรียกว่า “น้ำหม้อ” ตั้งไว้บริเวณหน้าบ้าน เพื่อให้ผู้มาเยือนหรือคนสัญจรผ่านไปมาได้ดื่มน้ำเย็นชื่นใจ เนื่องจากดินที่นำมาปั้นเป็นดินเหนียวปนทรายระบายความร้อนได้ดี แถมยังได้กลิ่นหอมของดินแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเจ้าของบ้าน ส่วนคนโท หรือชาวบ้านท้องถิ่นภาคเหนือเรียกว่า “น้ำต้น” นั้นก็ใช้บรรจุน้ำดื่ม และให้ความเย็นเช่นเดียวกันกับน้ำหม้อครับ ชาวบ้านจะถวายน้ำต้นให้วัดเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา โดยใช้ต้อนรับแขกเหรื่อเมื่อมาร่วมงานในวันสำคัญต่าง ๆ มีการใช้ในงานรื่นเริง เช่น การละเล่นเพลงพื้นบ้านในภาคเหนือซึ่งเรียกว่า “ซอ” จะจัดน้ำต้นให้แก่ผู้มาขับขานบรรเลงเพลง หรือแม้แต่ใช้สักการะบูชาศาลพระภูมิ เจ้าที่ เทวดา แต่ทว่ายุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปมีภาชนะ บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ทำความเย็น เข้ามาแทนที่ เครื่องปั้นดินเผาอาจมีการใช้น้อยลง ชาวบ้านเหมืองกุงก็ปรับตัวด้วยการผลิตเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับตกแต่งอาคาร บ้านเรือน มีลวดลายของคนโท น้ำหม้อ อย่างหลากหลาย มีหลายขนาดให้เลือกซื้อ และยังออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น ทำกระถาง อ่าง ตุ๊กตาดินเผา และโคมไฟฉลุลาย เป็นต้น เพื่อเป็นการรักษารากเหง้าของตนเอง ความภาคภูมิใจในศิลปะวัฒนธรรม หัตถกรรม ทำจากมือให้ส่งต่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ภาพใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสของผู้เฒ่าผู้แก่ที่กำลังใช้หินลำธารขัดเครื่องปั้นดินเผาอย่างละเอียดไม่รีบร้อน สะท้อนถึงความรัก ความศรัทธา ในอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษตน อาชีพที่ได้หล่อหลอมเลี้ยงดู สู่การสร้างรายได้จวบจนปัจจุบัน ขอบคุณภาพจาก https://www.museumthailand.com/th/3839/storytelling/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%87/ ภาพของป้าคนหนึ่งซึ่งกำลังขนสินค้าใส่ล้อเข็นมาขายหน้าร้านหมู่บ้าน ยิ้มแย้มต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยความมีอัธยาศัยไมตรี ภาพชายสูงวัยแววตามุ่งมั่นบรรจงปั้นเติมเสริมแต่งลวดลายหม้อน้ำ สิ่งเหล่านี้ตราตรึงประทับใจของผมอย่างยิ่ง หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้ไม่ได้ผลิตมาเพื่อมุ่งเน้นเพียงผลกำไร แต่สร้างสรรค์จากหัวใจต่างหากละครับ ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐยังมีการสนับสนุนหมู่บ้านเหมืองกุง โดยได้รับเลือกจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหางดง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวด้วยนะครับ ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน มีการสืบทอดสู่คนรุ่นหลัง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน หมู่บ้านชุมชนแห่งนี้จะไม่เป็นแค่ “ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน” ตำนานซึ่งถูกบันทึกไว้จนลืม แต่จะคงอยู่ในทุกยุคสมัย เกิดความภาคภูมิใจของผู้คนในชุมชน ขยายต่อไปในระดับสังคม และประเทศชาติ ขอบคุณภาพจาก https://pantip.com/topic/33883136 ดังนั้นจึงสามารถปั้นดินสู่ดาวได้ด้วยภูมิปัญญา และคุณค่าทางวัฒนธรรม หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง เป็นสินค้าโอทอป ล้วนใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนการทำ นำมาซึ่งความงดงามจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านประวัติศาสตร์ยานนาน ผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลง ก็มีการพัฒนาต่อยอดและรักษาให้คงอยู่ ทั้งนี้ทุกคนก็ต้องช่วยกันสนับสนุน และเผยแพร่ต่อไป ผมเชื่อครับว่าเพื่อนสนิทของผมต้องประทับใจหมู่บ้านแห่งนี้ และคงจะพูดอย่างแน่นอนว่า “โอ้โฮ...OTOP ท้องถิ่น ปั้นดินสู่ดาว” พิกัด ถนนสายเชียงใหม่-หางดง เเยกสะเมิง บ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 50230