“..ผู้อ่าน เคยนึกสนุกอยากจะลองเดินทาง วาร์ป ข้ามเวลากันบ้างไหมครับ ?..” ไม่จำเป็นต้อง ปวดหัวไปกับการถอดรหัส รูหนอนอวกาศ ในภาพยนตร์ ‘Interstellar’ ของ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ หรือ ลำบากลำบนไปเปิดเครื่อง ตาคลี เจเนซิส ในค่ายรามสูร ที่อุดรธานี เพื่อใช้ข้ามเวลาอย่างในหนัง ‘Taklee Genesis’ ของ ‘มะเดี่ยว’ ชูเกียรติ ที่มีอยู่จริงก็แต่ในโลก จินตนาการไซไฟเท่านั้น แค่ผู้อ่านลองเดินทางข้ามพรมแดนประเทศ ระหว่างไทย กับ มาเลเซีย ด้วยรถไฟ ณ สุดปลายด้ามขวาน ที่ 'ด่านปาดังเบซาร์' อำเภอสะเดา สงขลา ไปสู่เมืองปาดังเบอซาร์ รัฐปะลิส ของมาเลเซีย ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม แค่นี้ก็ทำให้เราประจักษ์ถึง ‘ความเหลื่อมล้ำของเวลา’ ได้อย่างแจ่มชัดกระจะตาแล้วล่ะ อาคารสถานีรถไฟเก่าของเมือง อลอร์ สตาร์ ที่มีอายุกว่า 100 ปี ก็ทั้งๆ ที่ไม่กี่นาทีก่อนหน้า เรายังยืนอยู่ฝั่ง ตม. ปาดังเบซาร์ เขตอำเภอสะเดา แต่พอเพื่อนพ้องร่วมคณะ ที่สาวเท้ายาวๆ ก้าวล่วงหน้าไปก่อนเรา แล้วข้ามชานชาลาไปยืนเต๊ะท่าอยู่ที่ฝั่งมาเลเซีย ห่างจากเราแค่ไม่กี่เมตร แต่มันกลับไปยืนอยู่ ณ จุดที่เวลาล้ำหน้าเร็วกว่าเราไปแล้วตั้ง 1 ชั่วโมง เข็มนาฬิกาบนหน้าปัดผนังสถานีรถไฟฝั่งมาเลเซีย เป็นพยาน! แล้วจะไม่ให้เรียกการเดินทางเช่นนี้ ว่าเป็นการ ‘วาร์ป’ เขย่งก้าวกระโดด เล่นสนุกกับมิติเวลา ได้อย่างไรล่ะครับ ซึ่งการเดินทาง วาร์ป ข้ามพรมแดนครั้งนี้ ก็ทำให้ผมได้ไปสัมผัสกับอดีตเมืองไทรบุรี ที่เคยท่องจำมาแต่ในตำราสังคมศึกษาสมัยเรียนว่า เคยเป็นดินแดนประเทศราชของไทยมาก่อน และที่สำคัญ ยังเปิดโลกทัศน์ให้ผมได้รู้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของเรา ยังมีศาสนสถานแห่งโลกอิสลาม ที่มีความงามระดับ World Class ที่อยู่ใกล้เราเพียงแค่เอื้อมเท่านั้น ที่ ‘อลอร์ สตาร์’ (Alor Setar) สถานีปลายทางข้างหน้านี่เองครับ… Big Clock Tower หอนาฬิกาอายุร่วม 1 ศตวรรษ สัญลักษณ์สำคัญกลางเมืองอลอร์ สตาร์ เราจับขบวนรถไฟ KTM Komuter สาย North line ของมาเลเซีย ที่แสนสะดวก จากสถานีปาดังเบซาร์ แล่นเลียบชายฝั่งด้านตะวันตกของคาบสมุทร ผ่านหมู่บ้านน้อยใหญ่ โดมสุเหร่า สวนยางพารา ดงปาล์ม และทุ่งนาข้าว รวมไปถึงแม่น้ำสายกว้าง ฝายขนาดเล็ก และอ่างเก็บน้ำชลประทาน ซึ่งล้วนเป็นทิวทัศน์ที่ไม่ได้ผิดแผกไปจาก ชนบทพื้นถิ่นในปักษ์ใต้บ้านเราซักเท่าใดนัก ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็มาถึง สถานีอลอร์ สตาร์ ที่อยู่ห่างลงมาทางใต้ราว 92 กิโลเมตร ความสวยงามยามใกล้สนธยาของ สถาปัตยกรรมอิสลามสุดวิจิตรของ มัสยิดซาฮีร์ อลอร์ สตาร์ คือเมืองหลวงของรัฐเคดาห์ ที่ได้สมญาว่า ชามข้าวอันอุดมสมบูรณ์ของมาเลเซีย ตั้งอยู่ตอนเหนือของคาบสมุทรมลายู และมีพรมแดนแนบชิดกับไทย ที่จังหวัดสงขลา และยะลา นั้น มีสถานะเป็นรัฐสุลต่าน ที่มีความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานที่สุดในคาบสมุทรมลายู ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่า ‘ไทรบุรี’ เป็น 1 ใน 4 รัฐมาลัย ที่รวมถึง ปะลิส กลันตัน และตรังกานู ที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติต่างศาสนา อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน รวมไปถึงคนมาเลย์เชื้อสายไทย ก็อาศัยอยู่จำนวนไม่น้อย ครอบครัวชาวมุสลิม รอรับประทานอาหารร่วมกัน ในเดือนรอมฎอน ที่ลานหญ้าหน้ามัสยิด จากโรงแรมที่พักกลางเมืองอลอร์ สตาร์ ที่เราจับจองไว้ ด้านหลังห้าง Aman Central Mall ห่างจากสถานีรถไฟไม่ถึง 3 กิโลเมตร เราเดินผ่าน มินิมาร์ท ร้านรวงกิจการค้า ที่ปะปนทั้งของชาวจีน และชาวมาเลย์ ที่ประดับผืนธงชาติมาเลเซีย และธงประจำรัฐเคดะห์สีแดงสดอยู่คู่กัน ก่อนจะ ข้ามฟากถนน มายังฝั่งที่ตั้งของ Menara Alor Setar Tower หอคอยชมทิวทัศน์ประจำเมือง ถึงจะไม่ใช่เมืองใหญ่อันดับต้นของมาเลเซีย แต่ท้องถนน ตึกรามกลางเมืองอลอร์ สตาร์ ที่ได้สัมผัส ก็ดูสะอาด เป็นระเบียบงามตา พบเห็นได้ทั้งสิ่งปลูกสร้างยุคเก่า และยุคใหม่ผสมผสานอยู่ในย่านเดียวกันอย่างกลมกลืน ถัดไกลออกไปรอบนอกเมือง ดูสดชื่นไปด้วยผืนนาข้าวกว้างไกล สมกับที่เป็นดินแดนแหล่งปลูกข้าวใหญ่ที่สุดของประเทศ ภาพความสวยงามในอีกหนึ่งมุมมองผ่านลานหญ้ากว้างของมัสยิดซาฮีร์ มองดูคล้ายพระราชวังแห่งดินแดนอาหรับราตรี ในจินตนิยายโบราณ เราเดินผ่าน Big Clock Tower หอนาฬิกาประจำเมืองสีเหลืองอ่อนสไตล์ Islamic ที่มียอดหลังคาแบบศิลปะมัวร์ อายุกว่า 100 ปี ตั้งประดับโดดเด่นอยู่กลางเมือง ด้วยอิทธิพลของ อังกฤษ ทำให้แทบทุกเมืองใหญ่ในมาเลเซีย ล้วนมี หอนาฬิกา ตั้งอย่างสง่าเป็น Landmark ตามอย่างค่านิยมของชาติเจ้าอาณานิคมแทบทั้งสิ้น ซึ่งสำหรับ หอนาฬิกาแห่งนี้เป็นสถานที่ให้สัญญาณบอกเวลาแก่พี่น้องมุสลิม ให้เข้าพิธีละหมาดประจำวัน ณ มัสยิดซาฮีร์ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกล อันเป็นจุดหมายที่เรามาเยือนนี่เองครับ.. ภายในเขตรั้ว..เบื้องหน้าลานหญ้าเขียวขจี ของเราขณะนี้คือ ‘มัสยิดซาฮีร์’ (Zahir Mosque) ศาสนสถานของชาวมุสลิม ที่งดงามอลังการที่สุดบนคาบสมุทรมลายู อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเคดะห์ ที่ไหลผ่านกลางเมือง สร้างขึ้นในรัชสมัยขององค์สุลต่าน ‘มูฮัมหมัดจิวาซายนัล อบิดินที่ 2’ ในปี พ.ศ. 2455 และออกแบบโดย Charles Geoffrey Boutcher สถาปนิกชื่อก้องชาวกรุงลอนดอน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมัสยิดที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศมาเลเซียอีกด้วย หัวเสาและซุ้มโค้งอันอ่อนช้อย เรียงรายอยู่รอบอาคารด้านนอกของมัสยิด ความสวยวิจิตรอลังการของ มัสยิดซาฮีร์ ที่ปรากฏตรงหน้าเรานั้น บังเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจขององค์สุลต่าน อันมีต้นแบบมาจาก ‘มัสยิดอาซิซี’ (Azizi Mosque) แห่งราชวงศ์ลังกัต ในสุมาตราเหนือ ของอินโดนีเซีย เปี่ยมเอกลักษณ์ด้วยโดมหลักสีดำสนิทของมัสยิด ประดับด้วยสัญลักษณ์วงโค้งรูปพระจันทร์เสี้ยวอยู่เหนือยอด โดมหลักถูกรายล้อมไปด้วยโดมสีดำขนาดรองลงมาทั้ง 5 ที่บ่งบอกถึง เสาหลักแห่งคำสอน 5 ประการของอิสลาม ตัดกับตัวอาคารสีขาวบริสุทธิ์ มีระเบียงทางเดินแคบๆ เชื่อมแต่ละโดมเข้าหากัน ด้านหนึ่งมีหอคอยมินาเรต ทรงสูงเพรียวประดับอยู่คู่มัสยิดอย่างสง่างาม ที่ห้องปลายสุดด้านหนึ่งของตัวอาคาร ณ ผนังด้านนอกปรากฏนามของ มัสยิดซาฮีร์ และปีคริสตศักราช ที่สร้างจารึกไว้ ด้านนอกรอบอาคาร โดดเด่นด้วยเสาซุ้มโค้งที่ประดับเรียงรายเป็นระเบียบ ต่อเนื่องไปยังโถงทางเดิน โดยในรอบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมานั้น มัสยิดซาฮีร์ เคยผ่านการบูรณะใหญ่มาแล้ว 2 หนด้วยกัน คือปี พ.ศ.2503 และ 2518 ถึงทุกวันนี้ยังเป็นสถานที่สำคัญ ที่ใช้จัดการแข่งขัน ประกวดอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอานประจำรัฐ ที่มีชื่อเสียงอีกด้วย จากข้อมูลที่รับรู้ มัสยิดแห่งนี้ ถือเป็นที่สุดของ ศาสนสถานโลกอิสลาม ที่หลอมรวมศิลปะความงามทั้ง 4 ชาติเข้าไว้ด้วยกันทั้ง ศิลปะยุคโมกุล ของอินเดีย ศิลปะมัวร์ ที่แผ่อิทธิพลแถบแคว้นตอนใต้ของ ประเทศสเปน ศิลปะออตโตมัน ของตุรกี ไปจนถึงศิลปะแบบอียิปต์ จนได้รับการยกย่องให้เป็นมัสยิด ที่สวยงามติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกเลยทีเดียวครับ.. ภาพบรรยากาศบนลานจัตุรัสกลางเมืองฝั่งตรงข้ามมัสยิด คราคร่ำไปด้วยครอบครัวพี่น้องชาวอลอร์ สตาร์ นั่งปูผ้าล้อมวงรับประทานอาหารมื้อแรก บรรยากาศยามเย็น ที่อากาศเย็นสบายในวันนั้น แม้เราจะไม่สามารถเข้าไปชมความงามภายในตัวมัสยิดได้ เนื่องจากตรงกับช่วงเวลาการทำละหมาดมัฆริบ ในช่วงพลบค่ำโพล้เพล้ แต่เรากลับได้สัมผัสกับ บรรยากาศที่อบอุ่นของ ครอบครัวพี่น้องมุสลิมในเมืองอลอร์ สตาร์ ที่ต่างมาปูผ้ารอ จับจองพื้นที่บนลานหญ้าหน้ามัสยิด และลานจัตุรัสประจำเมือง หน้าวังสุลต่าน ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อย่างคึกคักล้นหลาม รอคอยเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อล้อมวงรับประทานอาหารมื้อแรกของวัน ที่ตระเตรียมมาร่วมกัน ในช่วงเทศกาลถือศีลอดกลางเดือนรอมฎอน ตามปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิมนั่นเอง ชาวมุสลิมในชุดที่ขาวสะอาดตาหลั่งไหลเข้าสู่มัสยิด เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ผมใช้เวลาดื่มด่ำกับภาพวิถีของชาวมุสลิมอยู่ซักพัก ก็ปลีกตัวมาสู่ทิวทัศน์ของ แม่น้ำเคดาห์ ที่ไหลผ่านด้านหลังของมัสยิด คุ้งน้ำที่เห็นตรงหน้า ละลานตาไปด้วยพืชสวะน้ำสีเขียวจับลอยตัวเป็นแพ หลากไหลไปตามกระแสน้ำ มองเห็นต้นมะพร้าวชะลูดโน้มปกลำต้นเข้าหาลำน้ำ ในระยะที่สายตามองเห็นยังปรากฏ ศาลเจ้าจีน ตั้งอยู่ที่ขอบโค้งน้ำไม่ไกลจากอาณาบริเวณมัสยิดซาฮีร์ ที่ผมยืนอยู่ นี่คือเพียงส่วนเสี้ยวความงดงามหนึ่งในความทรงจำของผม กับตัวตนของ อลอร์ สตาร์ อดีตรัฐไทรบุรี เมืองแห่งต้นไทร รัฐเคดาห์ ภาพสะท้อนความหลากหลายของผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ที่มาอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินเล็กๆ แห่งนี้อย่างสงบและสันติ อย่างแท้จริง… ภาพบรรยากาศยามเย็นที่ริมฝั่งแม่น้ำเคดาห์ ด้านหลังมัสยิด มองเห็นศาลเจ้าจีน อยู่ฝั่งตรงข้าม ที่ตั้ง มัสยิดซาฮีร์ (Zahir Mosque) : ตั้งอยู่บนถนน จาลัน กัมปุงเปรัค อยู่ใกล้กับหอคอย Alor Setar Tower และห้าง Aman Central Mall เมืองอลอร์ สตาร์ รัฐเคดาห์ มาเลเซีย เปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 5:00-22:00 น. ยกเว้นในช่วงเวลาที่มีพิธีทางศาสนา ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมด้านใน การเดินทางไปยังเมืองอลอร์ สตาร์ : โดยรถไฟ KTM Komuter สาย North Line ของการรถไฟมาเลเซีย จากสถานี Padang Besar ใช้เวลาประมาณ 40 นาที และจากสถานี Butterworth (ปีนัง) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชม. มีรถไฟออกเดินทางหลายขบวนต่อวัน เกือบทุกชั่วโมง ราคาไม่เกิน 10 ริงกิตต่อเที่ยว เครดิตภาพทั้งหมดโดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) ออกแบบภาพหน้าปกใน Canva โดย : ผู้เขียน (Ruttapol Srivilas) อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !