หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตจัดเป็นเอกสารสำคัญที่ทุกคนที่ประสงค์จะออกเดินทางไปต่างประเทศที่ทุกคนต้องมีติดตัวไว้ และไม่ใช่แค่ต้องมีติดตัวแต่สภาพของพาสปอร์ตต้องพร้อมใช้งานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่กำหนด ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากเพราะในบางครั้งบางคนก็ถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องเพียงเพราะเหตุผลธรรมดาๆ ที่เข้าใจง่ายๆ แต่หลายๆ คนกลับเพิ่งจะรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้คือไม่ได้อย่างนั้นหรอ ในบางเหตุการณ์แม้แต่นักเดินทางขาประจำยังพลาดเพราะความไม่รู้ได้เลย ในบทความนี้เราเลยจะมาสรุปเพื่อย้ำเตือนเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับพาสปอร์ตกันอีกครั้ง ไปดูกันว่ามีเรื่องอะไรที่ควรรู้และไม่ควรมองข้ามบ้าง1. ประเภทพาสปอร์ตทำความรู้จักเกี่ยวกับประเภทพาสปอร์ตก่อนเลย สำหรับประเภทของพาสปอร์ตนั้นจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักคือหนังสือเดินทางธรรมดา สำหรับประชาชนทั่วไปหนังสือเดินทางราชการ ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น และจtไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัวได้นะ มีไว้เพื่อไปราชการหรืองานหรือกิจที่เกี่ยวกับงานราชการเท่านั้นหนังสือเดินทางทูตหนังสือเดินทางชั่วคราว2. สถานที่ทำพาสปอร์ต และการจองคิวออนไลน์ สำหรับใครที่เพิ่งจะออกหนังสือเดินทางครั้งแรกท่านสามารถไปทำได้ที่กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ หรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่เปิดไว้เฉพาะ เช่นที่ MRT คลองเตย กรุงเทพฯ หรือ MBK กรุงเทพฯ เป็นต้น ทั้งนี้ในบางจังหวัดก็สามารถทำได้เช่น ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่, ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก หรือศูนย์บริการร่วมจังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้นเบื้องต้นให้ท่านลองเช็กในพื้นที่จังหวัดของตัวเองก่อนว่ามีสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือไม่ ถ้าไม่มีค่อยเดินทางเข้ามายังกรุงเทพ และหากอยากได้ความรวดเร็วไม่ต้องรอคิวนานแนะนำให้ทำการจองคิวออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ กรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เลย ( สำหรับผู้ต่ออายุพาสปอร์ตก็สามารถจองคิวออนไลน์ได้เช่นกัน ) 3. เอกสารที่ใช้และอัตราค่าบริการสำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ( ตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ) ใช้เพียงแค่บัตรประชาชน ( ตัวจริง ) แต่ในกรณีที่หากมีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ที่อยู่อาศัย หรือข้อมูลส่วนตัวที่ไม่ตรงกับบัตรประชาชนจำเป็นต้องนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย อัตราค่าบริการ จะแบ่งเป็น สำหรับอายุพาสปอร์ตไม่เกิน 5 ปี 1,000 บาทสำหรับอายุพาสปอร์ตไม่เกิน 10 ปี 1,500 บาทสำหรับพาสปอร์ตแบบเล่มด่วน อายุไม่เกิน 5 ปี 3,000 บาท และอายุไม่เกิน 10 ปี ราคา 3,500 บาทระยะเวลาการรอรับเล่มพาสปอร์ตจะประมาณ 3-5 วัน สามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางมารับเองหรือให้จัดส่ง ซึ่งการจัดส่งก็ต้องชำระค่าจัดส่งเพิ่ม ประมาณ 60 บาท ส่วนพาสปอร์ตเล่มด่วนนั้นจะใช้เวลาภายในวันเดียว หรืออาจจะทำวันนี้แล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ หากใครอยากรับภายในวันที่ทำเลยควรไปติดต่อยื่นคำร้องก่อน 11.00 น. 4. เอกสารสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีสามารถออกหนังสือพาสปอร์ตได้ โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ยื่นคำร้องและบัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ในกรณีอายุไม่ถึง 20 และยังต่ำกว่า 15 ปี จำเป็นต้องแสดงสูติบัตรฉบับจริงทั้งนี้ในวันยื่นคำร้องทั้งบิดาและมารดาต้องมาแสดงตัวและลงลายมือชื่อยินยอมให้ผู้เยาว์ทำหนังสือเดินทาง และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถมาแสดงตนได้ หรือในกรณีหย่าร้างมาได้แค่ผู้ปกครองบุตรที่มีอำนาจปกครองบุตรก็ให้ฝ่ายที่มาไม่ได้ทำหนังสือยินยอมให้บุตรเดินทางไปต่างประเทศและทำหนังสือเดินทางแนบมากับเอกสารอื่นๆ ด้วย 5. ข้อดีและข้อเสียก่อนตัดสินใจทำพาสปอร์ตอายุ 10 ปีข้อนี้แชร์ในมุมประสบการณ์ของเรา คือการทำแบบ 10 ปี มันสะดวกดีจริงแต่ในบางครั้งใบหน้าของเราอาจเปลี่ยนไปตามเวลา อายุ หรือบางคนอาจจะศัลยกรรม และถ้าหากหน้าของเราเปลี่ยนจากรูปถ่ายซึ่งบางคนเปลี่ยนไม่เยอะอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่บางคนเปลี่ยนเยอะทั้งในแง่ของการศัลยกรรมรวมไปถึงผอมลงหรือน้ำหนักขึ้นเร็วจนโครงหน้าเปลี่ยน หรือแม้แต่เทรนด์การแต่งหน้า สิ่งที่อาจจะเจอคือเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอาจจะใช้เวลาพิจารณามากขึ้นกว่าเดิมเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่านี่คือเราจริงๆ ตัวเราเองเคยถูกเทียบหน้ากับรูปและตม. ก็ถามว่านี่คือคุณ? เราก็บอกใช่ ฉันเอง แล้วก็ขำแห้งๆ ใส่ตม. 1 ที คือไม่แน่ใจว่าเพราะในรูปมันหน้าเรียวและวันเดินทางหน้ามันอ้วนด้วยรึเปล่านะ ( เพราะน้ำหนักขึ้นช่วงนั้น )ดังนั้นหากคุณคิดว่ามีเกณฑ์น้ำหนักขึ้นหรือมีแผนทำศัลยกรรมที่หน้าก็แนะนำให้ทำแบบ 5 ปีไปก่อน หน้าเข้าที่แล้วค่อยทำ 10 ปี แต่ถ้าใครคิดว่าฉันมีวินัยในการควบคุมน้ำหนัก ร่างกาย หรือไม่ซีเรียสหากถูกถามเยอะก็ทำ 10 ปีได้เลย ตัวเราเป็นพวกไม่อยากให้ตม. ถามเยอะ เพราะเวลาบินสายการบินต้นทุนต่ำมันมักจะถึงดึกมากแล้วถ้าตม. ถามเยอะอีกมันจะยิ่งดึกเข้าไปอีก เลยต้องทำให้เขามั่นใจตั้งแต่เห็นหน้าให้ได้นั่นเอง 6. พาสปอร์ตหายต้องทำอย่างไรบางครั้งแม้เราจะดูแลพาสปอร์ตดีแค่ไหนก็อาจหลีกหนีการทำสูญหายไม่ได้ ทั้งในแง่ของการโดนกรีดกระเป๋า หรือไปวางลืมไว้ที่ไหน กรณีการทำหายและดำเนินการจะแบ่งเป็น 3 แบบ คือหากสูญหายในประเทศ ให้แจ้งความจากนั้นให้นำใบแจ้งความที่ตำรวจรับเรื่องแล้วไปติดต่อขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และยกเลิกการใช้งานหนังสือเดินทางฉบับที่หายสูญหายในต่างประเทศ จำเป็นต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายต่อทางการท้องถิ่น เพื่อนำใบรับแจ้งความไปติดต่อสถานทูต สถานกงสุลไทยในประเทศนั้นเพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ทั้งนี้ต้องมีเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยด้วย เช่น ทะเบียนบ้านที่มีชื่อเรา หรือบัตรประชาชนสูญหายในต่างประเทศแต่ต้องกลับไทยแล้ว หรืออาจจะหายก่อนวันเดินทางกลับจนเราไม่มีเวลาไปติดต่อแจ้งความหรือรอการออกเล่มใหม่ ให้ผู้ที่ทำหายไปติดต่อสถานทูตสถานกงสุลไทย เพื่อออกเอกสารเดินทางเพื่อใช้เดินทางกลับ เป็นเอกสารที่ใช้ได้ครั้งเดียวเท่านั้น (Certificate of Identity) เพื่อนำมาแสดงในวันขึ้นเครื่องกลับ 7. พาสปอร์ตชำรุดไม่สามารถใช้เดินทางได้ทุกคนทราบว่าชำรุดไม่สามารถใช้เดินทางได้ แต่เชื่อไหมว่า 2024 แล้วก็ยังมีหลายคนไม่ทราบ "ขอบเขตของคำว่าชำรุด" เปียกน้ำก็ถือว่าชำรุดแต่หลายคนไม่ทราบ หลายคนยังคิดว่าเปียกนิดเดียวเองจะเรียกว่าชำรุดได้ไงแต่มันคือชำรุดค่ะ ในกรณีที่หนังสือได้รับความเสียหาย ไม่เหมือนวันแรกที่ออกเล่มมา ยกเว้นตัวหนังสือสีทองด้านหน้าเริ่มเลื่อนนอกนั้นคือชำรุดหมด ขาดก็คือชำรุด เปียกน้ำบางส่วนหรือเปียกจนหมึกซึมเลอะก็คือชำรุด เปียดจนบวมเลยก็คือชำรุด มีรอยตรงหน้าข้อมูลหรือเก็บรักษาไม่ดีจนภาพถ่ายมันจางอันนี้ก็ควรเปลี่ยน นอกจากชำรุดแล้วอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับหน้าข้อมูลส่วนตัวไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ เสี่ยงต่อการปฏิเสธขึ้นเครื่องมากๆ 8. รอยขีดเขียนนิดหนึ่งก็สามารถถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องได้นอกจากเคสชำรุด หรือการเปียกน้ำเพียงนิดเดียวก็อาจถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องได้แล้ว การมีรอยขีดเขียนที่ไม่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว หรือในหน้าตราประทับนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม เคยมีเคสกรณีศึกษาของชาวต่างชาติที่ลูกของเขาวาดเล่นในหน้าว่างภายในพาสปอร์ตแม้จะมีหน้าว่างเหลืออีกมากมายและมีการเขียนแค่ 2 หน้าจากทั้งหมดก็ตาม สรุปแล้วเขาคนนี้ไม่สามารถเดินทางได้เลย ดังนั้นขึ้นชื่อว่าเอกสารสำคัญ ควรมีแค่ข้อมูลสำคัญ บ้านไหนมีเด็กเล็กที่ยังไม่รู้ความก็คงต้องเก็บไว้ให้ดี มีเด็กที่พอจะรู้ความแล้วก็ย้ำเขาให้ได้รู้ เพื่อป้องกันกรณีเช่นนี้ 9. อายุพาสปอร์ตก่อนออกเดินทางสำคัญมากอีกหนึ่งส่วนที่มีคนถามเยอะและเป็นปัญหาเยอะคือ พาสปอร์ตเหลือแค่ 5 เดือนเดินทางได้ไหมทั้งๆ ที่ข้อกำหนดมันก็ชัดเจนมากว่า อายุพาสปอร์ตต้องเหลืออย่างน้อย 6 เดือน แล้วก็แปลกนะเวลาคนลักษณะนี้ถูกปฏิเสธขึ้นเครื่องเขาจะไม่โทษตัวเองนะ แต่จะตั้งกระทู้ว่าสายการบินนั้นนี้ยังอนุโลม 5 เดือนเลย ตรงนี้กฏมันก็คือกฏ สายการบินอื่นเขาอาจจะลืมนับก็ได้นะมันเลยเป็นความโชคดีไป แต่มาตรฐานและข้อปฏิบัติมันคือต้องเหลืออย่างน้อย 6 เดือน *หมายเหตุกรณีลืมจริงๆ จะเดินทางพรุ่งนี้ มะรืนนี้แล้วแนะนำว่าให้ไปขอต่ออายุพาสปอร์ตและรับแบบด่วนค่ะ ค่าบริการแพงจริงแต่ดีกว่าไปเสี่ยงขอร้องเอาวันเช็กอิน ถ้าพนักงานนับอายุพาสปอร์ตที่เหลือบอกเลยน้อยมากที่จะได้รับการอนุโลม และต่อให้ได้จริงก็ต้องไปเจอตม. ที่โหดหินกว่าอีกนะ 10. ปกหุ้มพาสปอร์ตอาจทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองดุได้อันนี้เป็นเรื่องที่เขาแชร์กันมาในกลุ่มนักเดินทาง เมื่อพาสปอร์ตมันเป็นสิ่งสำคัญมากคนก็มักจะซื้อกระเป๋าหรือปกหุ้มพาสปอร์ตมาเก็บรักษาพาสปอร์ต แต่ก็มีคนมาแชร์ว่าเธอถูกดุจากตรวจคนเข้าเมืองประเทศหนึ่ง เขาแกะพาสปอร์ตออกจากปก ( ที่ไม่ใช่ปกใส ) และคืนปกที่หุ้มพาสปอร์ตด้วยท่าทีที่ไม่ค่อยสบอารมณ์ และก็มีผู้อ้างตัวว่าเป็นตม.ไทยมาคอมเมนต์ว่า ตัวเขานั้นก็ไม่ค่อยชอบให้ผู้ที่เดินทางส่งพาสปอร์ตที่มีการหุ้มปกหรือกระเป๋ามาให้ เพราะว่าเขาจำเป็นต้องแกะออก เนื่องจากตม. จำเป็นต้องดูตั้งแต่หน้าปกของพาสปอร์ตไปถึงหน้ากระดาษ ถ้าต้องแกะทุกคนมันไม่ไหวนะ ก็คือใส่ปกหุ้มได้แต่อย่าลืมแกะออกก่อนส่งให้เจ้าหน้าที่ด้วย ตัวเรายังไม่เคยเจอเพราะส่วนใหญ่จะแกะออกจากกระเป๋าและส่งให้ตม. ดังนั้นอย่าลืมแกะออกก่อนยื่นให้ตม. นะคะ และนี่ก็คือ 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาสปอรต์ที่ควรรู้ไว้ก่อนเดินทาง บางข้อดูไม่น่าใช้คำว่าไม่รู้ได้เช่นพาสปอร์ตเปียกน้ำขึ้นเครื่องไม่ได้แต่ก็มีคนไม่รู้อยู่จริงๆ ดังนั้นรู้ไว้ไม่เสียหายค่ะ เอาล่ะค่ะหากใครชอบบทความนี้ก็สามารถแชร์ออกไปได้เลยนะ หรืออยากแชร์ประสบการณ์อื่นๆ ที่ควรรู้ก็สามารถคอมเมนต์แชร์กันที่กล่องคอมเมนต์ข้างล่างได้เลย และถ้าอยากติดติดตามเรื่องราวอื่นๆ ของเราเพิ่มก็สามารถไปติดตามได้ที่ twitter ที่ Artinime หรือ Facebook เพจ แบกกล้องชิวเที่ยวไปเรื่อย ได้เลยค่ะhttps://x.com/supamas_kpr/status/1811038732595998955 เครดิตภาพ : ภาพที่ 1-3 โดยครีเอเตอร์ / ภาพที่ 4 โดย jacqueline macou / ภาพที่ 5 โดย Pam Patterson / ภาพที่ 6 โดย Karl Allen Lugmayer / ภาพที่ 7 โดย jacqueline macou / ภาพที่ 8 โดย Edeltravel_ และภาพปก โดย Deactivated จาก Pixabay อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !