รีเซต

ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ กับเรื่องเล่าตำนานชวนขนลุก

ประวัติ ประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพฯ กับเรื่องเล่าตำนานชวนขนลุก
Muzika
28 ธันวาคม 2564 ( 18:05 )
21.7K

     ประตูผี หรือแยกสำราญราษฎร์ ย่านเก่าแก่ที่หลายคนได้ยินชื่อก็จะนึกถึงร้านอาหารดังๆ มากมาย ไม่ว่าจะราดหน้า ผัดไทย หมูสะเต๊ะ ซาลาเปา ฯลฯ แต่สงสัยกันไหมครับ ว่าทำไมแถวนี้ถึงตั้งชื่อน่ากลัวจัง เรามาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของย่านเก่ากรุงเทพฯ ย่านนี้กันดีกว่า ว่าจะสยองสมชื่อขนาดไหน

 

Sirichai Rattanaphanakul / Shutterstock.com

 

ที่มา ประวัติย่านประตูผี ย่านเก่ากรุงเทพมหานคร

 

ถนนบำรุงเมือง ตัดตรงจากพระบรมมหาราชวังไปทางทิศตะวันออกถึงวัดสุทัศเทพวราราม ทับบนแนวถนนเดิมจากประตูผีไปยังวัดสระเกศ

 

     ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้น ผังเมืองในสมัยนั้นจะมีการก่อกำแพงรอบเมือง เพื่อแบ่งชัดเจนระหว่างเขตชุมชนที่อยู่อาศัย และเขตนอกกำแพงที่จะใช้ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ยุคนั้นถ้ามีคนตาย จะต้องนำศพออกไปเผานอกกำแพงเมือง ซึ่งทางออกสำหรับนำศพออกไปจะเป็นประตูทางทิศตะวันออกของเมือง (ซึ่งก็คือบริเวณสี่แยกสำราญราษฎร์ในปัจจุบันนั่นเอง) ประตูนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ประตูผี หลังจากนำศพออกไปแล้ว ก็จะไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสระเกศต่อไป

 

     ซึ่งเมืองในสมัยโบราณนั้นมักจะมีประตูผีอยู่เสมอ ซึ่งประตูผีนั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากประตูเมืองทิศอื่นๆ นั่นคือจะต้องไม่มีการลงคาถาอาคมอะไรที่ประตูนี้ เพื่อดวงวิญญาณที่ยังไม่ประกอบพิธีกรรมจึงจะสามารถออกจากเมืองไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกตหันหน้าตรงไปทางประตูผี เพื่อไม่ให้ความชั่วร้าย หรือสิ่งอัปมงคลเข้ามาสู่พระนครทางประตูผี (สมัยต่อมา แนวคิดใหม่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเฝ้าระวังประตูผีได้เปลี่ยนไปจากพระแก้วมรกต จึงมีการสร้างปูชนียสถานอื่นมาตั้งขวางพระแก้วมรกตกับประตูผี)

 

 

     หนึ่งในเรื่องราวชวนให้ขนลุกทุกครั้งเมื่อเล่าถึงประตูผี ก็คือเรื่องราวของแร้งวัดสระเกศนั่นเอง ช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างหนัก มีคนป่วยตายประมาณสามหมื่นคน ร่างผู้เสียชีวิตจำนวนมากถูกลำเลียงออกไปทางประตูผีเพื่อไปยังวัดสระเกศ แต่เมื่อศพมีมากจนทำพิธีฌาปณกิจไม่ทัน จึงทำให้ต้องใช้วิธีขุดหลุมฝังแทน แต่ก็ยังทำไม่ทัน ซึ่งร่างที่กองพะเนินกันอยู่ก็ทำให้มีฝูงแร้งมากมายลงมาจิกกิน สร้างความสยดสยองเป็นอย่างมาก

 

     โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ยังเกิดขึ้นอีกในสมัย ร.3 และ ร.5 ซึ่งก็ประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเช่นเดิม จำนวนศพที่นำมาเผาที่วัดสูงสุดถึงวันละ 600 กว่าศพ บริเวณนี้จึงกลายเป็นแหล่งหากินของฝูงแร้งในที่สุด เกาะอยูู่ตามต้นไม้ บนกำแพง และหลังคากุฏิ คำว่า แร้งวัดสระเกศ ก็เกิดขึ้นมาในช่วงนี้เอง

 

     ปัจจุบัน เราจะแทบไม่เห็นสภาพดั้งเดิมของประตูผีแล้ว เพราะมีการรื้อกำแพงเมือง สร้างถนนบำรุงเมืองตัดผ่าน รวมถึงการเปลี่ยนชื่อจากประตูผี เป็น สำราญราษฎร์ แทนเพื่อความเป็นสิริมงคล กลายเป็นย่านที่คึกคักด้วยผู้คน ร้านอาหารอร่อยชื่อดังที่ชาวต่างชาติตั้งใจกันมาอย่างครึกครื้น ภาพความน่ากลัวในสมัยก่อนจึงค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ใกล้ย่านประตูผี แยกสำราญราษฎร์

 

  • วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

 

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รูปปั้นแร้ง

Sergey Zhukov / Shutterstock.com

 

     วัดสระเกศนั้นเป็นวัดโบราณที่อยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างภูเขา ก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เรียกว่า สุวรรณบรรพต หรือที่เราเรียกกันว่า ภูเขาทอง ปัจจุบันสามารถไปดูรูปปั้นแร้งวัดสระเกศได้ที่นี่ สร้างไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์โรคห่าระบาดเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั่นเอง

 

  • ป้อมมหากาฬ

 

 

     ป้อมมหากาฬนั้นเป็นป้อมเก่าที่สร้างขึ้นในสมัย ร.1 เป็นป้องกันรักษาพระนครด้านตะวันออก เป็น 1 ใน 2 ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร (อีกป้อมหนึ่งคือป้อมพระสุเมรุ) ปัจจุบันได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนกลายมาเป็นสวนสาธารณะ สวนป้อมมหากาฬ

 

  • วัดราชนัดดารามวรวิหาร

 

 

     เอ่ยถึงชื่อวัดอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าพูดถึง โลหะปราสาท หลายคนน่าจะร้องอ๋อ วัดราชนัดดาอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ สร้างขึ้นช่วงปลายรัชสมัย ร.3 ซึ่งทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้

 

  • พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดารามวรวิหาร

 

 

     วัดเทพธิดารามวรวิหาร เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวบวชพระ ซึ่งทางวัดได้รวบรวมเครื่องอัฐบริขารในกุฏิสุนทรภู่ และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ อีกหนึ่งจุดสำคัญภายในวัดนี้ก็คือ รูปปั้นหมู่ภิกษุณี จำนวน 52 องค์ ทุกองค์ปั้นให้มีลักษณะท่าทางที่แตกต่างกัน นับเป็นของหาดูยากจริงๆ

====================

 

ตามติดเทรนด์เที่ยว อัพเดทที่พักสวย
แชร์ทริปสุดชิล โพสต์ภาพสุดปัง ของคุณได้แล้วที่ แอปทรูไอดี
คลิกเลย >> TrueID Travel Community <<