พี่แขกของหมวย เมื่อปีที่แล้ว (2018) เราได้มีโอกาสไปอินเดีย 2 ครั้ง ได้ไปเที่ยวทริปสั้นๆ ครั้งแรกก็ที่เมืองชัยปุระเมืองเดียวเลย อยู่ 4 วัน กับเพื่อน 4 ชีวิต หลังจากรู้จักอินเดียจากประสบการณ์ครั้งแรกแล้ว ก็ไปอีกครั้งที่สองคราวนี้ไปกัน 2 สาว ไป 2 เมือง ชัยปุระกับอัครา ครั้งแรกที่ไปเพราะรวมตัวเพื่อนไปเที่ยวกันได้เยอะ แล้วตั๋วก็ถูกมากด้วย ครั้งที่สองไปเพราะหลงเสน่ห์อินเดียเข้าให้แล้ว ไปแล้วอยากไปอีก อินเดียเป็นประเทศที่มีเสน่ห์อย่างประหลาด หลงรักได้ไม่ยาก สีสันจัดจ้านทั้งคนและสถาปัตยกรรม ใครเป็นคนชอบถ่ายรูปก็แนะนำว่าสักครั้งในชีวิตต้องไปให้ได้ การหาเพื่อนไปอินเดียนี่ ต้องเป็นคนรักกันจริงๆ ถึงไปด้วยกันได้ ผู้หญิงไปเที่ยวอินเดียได้ค่ะ ไม่ได้การันตีว่าจะปลอดภัย เพราะทุกที่ไม่มีที่ไหนปลอดภัย (อยู่บ้านปลอดภัยสุด) ที่เราบอกว่าไปได้ ถ้าเรารู้จักระวังตัว และไม่ไปในที่สุ่มเสี่ยง เราว่าคนที่ชอบท่องเที่ยวมีสัญชาตญาณในเรื่องนี้ เรามีเรื่องเล่าจากประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับพี่แขกให้อ่านค่ะ ลองอ่านดูแล้วตัดสินใจอีกทีว่าอยากไปไหม ถ้าได้ไปจริงๆ ขอให้เปิดใจให้กว้างๆ กับความต่างด้านวัฒนธรรม หวังว่าจะเที่ยวให้สนุก มีความสุขทุกการท่องเที่ยว 1) Visa: วีซ่าอินเดีย ของ่ายมาก อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ขอได้แล้ว ล่าสุดทางการอินเดียมีวีซ่าให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1: วีซ่า 30 วัน เข้าออกได้ 2 ครั้ง ราคา 25$ แบบที่ 2: วีซ่า 1 ปี เข้าออกได้ไม่จำกัด ราคา 40$ แบบที่ 3: วีซ่า 5 ปี เข้าออกได้ไม่จำกัด ราคา 80$ ก่อนขอวีซ่าออนไลน์ควรต้องเตรียมการก่อน ข้อมูลที่กรอกเป็นภาษาอังกฤษ ต้องกรอกข้อมูลเยอะมาก ไม่รู้จะถามเยอะไปถึงไหน เตรียมข้อมูลไว้ก่อนขอ ใช้บัตรเครดิตรูดปี๊ด สบายตัว รออีเมล์ตอบกลับไม่เกิน 3 วัน บางทีวันรุ่งขึ้นก็อนุมัติแล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียม ก่อนเข้าทำวีซ่าออนไลน์ มีดังนี้ ไฟล์รูปภาพขนาด 1:1 ด้านหลังพื้นขาว ถ่ายเองได้จากมือถือ รูปที่ถ่ายก็เหมือนกับเราไปขอวีซ่าทั่วไป ไม่ใส่แว่น ทรงผมก็เก็บให้เรียบร้อย ให้เห็นหน้าชัดเจน และขนาดไฟล์ต้องไม่เกิน 300 MB ไฟล์พาสปอร์ตเป็น PDF ขนาดไฟล์ต้องไม่เกิน 300 MB ข้อมูลของเราตาม Passport ชื่อเมืองที่เราจะไป ทั้งขาไปและขากลับ ข้อมูลส่วนตัวของเรา ได้แก่ ที่อยู่ปัจจุบัน / ที่อยู่ถาวร / ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน / สถานภาพ / หมายเลขโทรศัพท์ / หมายเลขบัตรประชาชน / อีเมล์ /อาชีพปัจจุบัน / อาชีพเก่า / รอยตำหนิ แผล หรือไฝ บนที่สังเกตได้ ชื่อพ่อแม่ สัญชาติของพ่อแม่ เมืองที่พ่อแม่เกิด รายชื่อประเทศที่เราเคยไปมาในรอบ 10 ปี ชื่อ ที่อยู่ ที่เราจะไปพัก ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร บุคคลอ้างอิงในประเทศเรา (เอาชื่อ เพื่อน หรือญาติ ก็ได้) เว็บไซต์ที่เข้าไปขอวีซ่า Web: https://www.indianvisasaonline.org.in/ ระวังเว็บปลอมด้วยนะจ๊ะ 2) Horn Please: ขาดแตรเหมือนขาดใจ ครั้งแรกไปถึงก็ดึกมากๆ ยังไม่เห็นอะไร เราตื่นตอนสายๆ เดินออกจากที่พักไปหาของกินแถว Hawa Mahal (พระราชวังสายลม) เดินไปสะดุ้งไป หงุดหงิดด้วย เสียงแตรดังลั่นไปหมด ไม่รู้จะบีบแตรใส่กันทำไม ถ้ามาบ้านเราทำแบบนี้ คงได้มีเรื่องกันไปแล้ว บริเวณที่พักเราใกล้แหล่งท่องเที่ยวการจราจรแถบนั้นจึงสับสนวุ่นวายสุดๆ ทั้งรถ ช้าง ม้า วัว แพะ อูฐ นกพิราบ มีมาหมด เสียงแตรไม่ต้องพูดถึง คุณลองจินตนาการรถเป็นร้อยๆ คัน บีบแตรพร้อมกันดู แต่แปลกมาก เราแทบไม่เห็นอุบัติเหตุบนท้องถนนเลย ที่เราเห็นก็มีปาดหน้า เฉี่ยวกันเบาๆ ก็บีบแตรใส่ โวยวายใส่กันแป๊บๆ ก็จบ แยกย้ายกันไป ปล่อยวางง่ายจริงหนอพี่แขกจ๋า บางทีก็บีบแตรบอกว่า "รถฉันอยู่ตรงนี้นะ อย่ามาชน" หรือบีบแตรเพื่อทักทายเราอาหมวยตัวอ้วนๆ รู้จักกันไหม ไม่รู้จักหรอก แต่ฉันอยากให้เธอสนใจ เท่านั้น! ถ้ามีโอกาสได้ไปอินเดีย ได้ยินเสียงแตร ขอให้ใจเย็นๆ ฟังเสียงแตรกันไปเพลินๆ ส่วนเราชินแล้ว ตอนที่กลับไปอินเดียอีกครั้ง ครั้งนี้ไปกัน 2 คน กับเพื่อนคนเดิมที่เคยมาด้วยกัน พอได้ยินเสียงแตรรัวๆ เราก็หันหน้ามองกันแล้วหัวเราะ “อินเดียจ๋า พี่มาถึงแล้ว” 3) Shopping อัตราแลกเปลี่ยน 1 รูปี ประมาณ 0.4-0.5 บาท เอาเป็นว่าถูกมาก พี่แขกบอกราคาเราก็หารสองไป เราเดินช๊อปทั้งแบบแผงลอยข้างถนน ร้านในตึกแถว ห้างสรรพสินค้า เราว่าเมืองพี่แขกนี่ สนุกกับการต่อรองมาก ถ้าถามเราว่าต้องต่อเท่าไหร่ เราบอกเลยว่าแล้วแต่ที่เราพอใจ เพราะราคาที่บอกตั้งแต่แรกเราก็ว่าถูกแล้วนะ แต่ส่วนใหญ่เราจะต่อรองให้ลดมากกว่า 50% อีกอย่างที่ต้องพกไปตอนไปซื้อของกับพี่แขก คือ “สติ” เราซื้อของต่อราคาได้แล้วว่าโอเคกับราคานี้แล้วนะ พี่แขกยังสามารถพลิกไปพลิกมาขอเพิ่มอีกนิดอีกหน่อย โอ๊ย! พี่แขก ซื้อของกับพี่ทำไมเหนื่อยสมองแบบนี้ จนเราเดินออกจากร้านก็ยังดึงเราเข้าไปใหม่ไปคุยกันใหม่ สุดๆ จริงๆ พอเถอะ แล้วเดินออกจริงจัง ถึงจะได้ราคาที่เราพอใจ บอกเลยว่า ซื้อของกับพี่แขกยิ่งซื้อยิ่งเจ็บใจ เพราะเราจะเจอของที่ถูกกว่าในร้านถัดไป สินค้าเมืองพี่แขกราคาถูกโดยเฉพาะยา เครื่องสำอาง ยาเราซื้อมาเยอะค่ะ ยามินต์แก้ท้องอืดนี่ซื้อมาหลายกล่อง เครื่องสำอางหิมาลายาก็ต้องจัดมาหลายอย่าง ทั้งทาหน้า ทาตัวแชมพู ลิปมัน ยาสีฟัน วิตามิน หิมาลายามีครบหมด จัดมาอย่าให้เสียเที่ยว ที่สำคัญของพวกนี้ไม่ต้องต่อราคาให้เหนื่อย ราคาอยู่ในตัวผลิตภัณฑ์เลย ซื้อที่ไหน ร้านไหนก็ราคาเท่ากันค่ะ สังเกตดีๆ จะมีตัวอักษรสีดำเล็กๆ เป็นตัวเลข เช่น 250RS แบบนี้แปลว่า 250 รูปี แต่สถานที่ที่เราชอบที่สุดในการ Shopping คือ ที่ห้างสรรพสินค้า เราไปซื้อชุดแขกใส่ ราคาสูงกว่าข้างนอกเล็กน้อย แต่การตัดเย็บเก็บงานดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ไปซุปเปอร์มาเก็ตนี่ก็ชอบ ซื้อขนมแปลกๆ มากิน ซื้อเกลือหิมาลัย (เกลือสีชมพู) ราคาถูกมาก ในซุปเปอร์มาเก็ตมีทุกอย่าง เดินเลือกแอร์เย็นๆ เพลินดี ที่สำคัญต้องพกถุงใส่ของไปเอง ถ้าเอาถุงจากเขาจะคิดเงินค่าถุงเพิ่มค่ะ 4) Ticket ตั๋วเข้าชม ถ้าเป็นเมืองชัยปุระ ตั๋วเข้าชมเท่ากับชาวต่างชาติประเทศอื่นๆ ค่ะ ที่นี่มีตั๋วเข้าชมแบบรวมประมาณ 1100 รูปี ถ้าคิดว่าไปเกิน 3 ที่เราว่าคุ้ม ซื้อไปเลย สำหรับเมืองอื่นพาสปอร์ตไทยมีคุณค่ามาก ตั๋วเข้าชมจะถูกกว่าชาติอื่นเนื่องจากเราเป็นประเทศในกลุ่มสมาชิก BIMSTEC เช่น ที่เมืองอัครา Red Fort คนไทย 90 รูปี ต่างชาติปกติ 500 รูปี ทัชมาฮาล คนไทย 540 รูปี ต่างชาติปกติ 1,100 รูปี คำแนะนำถ้าไปทัชมาฮาล ควรไปตั้งแต่เช้า อย่างเราไปก็ 6 โมงเช้า ด่านแระที่เจอ คือ พี่แขกเสนอให้นั่งรถไฟฟ้าเข้าไป ค่านั่ง 100 รูปี แล้วบอกว่าเดินไกลมากๆ มาดามเดินไม่ไหวหรอก 555 ไม่ได้กินหมวยอ้วนๆ อย่างเราหรอก เรารู้มาว่าเดินไปประมาณ 500 เมตรเอง เราแข็งแรงเราเดินไหว ด่านที่ 2 ซื้อตั๋วเข้าชม เพื่อนเราให้แบงค์ใหญ่ไป คือยังไงต้องทอน พี่แขกก็ตีมึน จะไม่ทอน จนคุณเพื่อนต้องดึงหน้าและทำเสียงดุใส่ จึงยอมทอน เอากะพี่แขกสิ เราแนะนำให้ไปตอนเช้า เพราะอากาศดี น้ำจากแม่น้ำยมนามีหมอกขึ้นจางๆ ทัชมาฮาลที่เป็นหินอ่อนสีขาวด้านทิศตะวันออกยามสะท้อนกับแสงอาทิตย์งดงามเกินคำบรรยายค่ะ 5) Hygiene สุขอนามัย เรื่องจริงคือ ฝุ่นเยอะ พวกเราเตรียมหน้ากากอนามัยกันไป ทิชชู่เปียก ก็มีพร้อม ส่วนใหญ่เรากินอาหารตามร้าน ไม่ได้กินข้างทาง ก็เลยสะอาด น้ำดื่มก็ซื้อเป็นขวดกินเอา ถ้าไม่ชอบอาหารแขกก็เตรียมของกินจากบ้านเราไปเอง สิ่งแวดล้อมไม่ได้เลวร้ายมาก ที่เราเห็นแอบมีแอบนั่งฉี่ข้างทางบ้าง 555 ห้องน้ำสำหรับเรา เราว่าโอเค ไม่เลวร้าย ตามแหล่งท่องเที่ยวมีบริการ สะอาดใช้ได้เลย 6) Photogenic ไปอินเดีย ถ่ายรูปผู้คนไม่ถือว่าเป็นการละเมิดค่ะ ถ่ายได้ถ่ายเลย พี่แขกเป็นคนสู้กล้อง นอกจากนี้ยังชอบถ่ายรูปกับคนต่างชาติด้วย อย่าได้แปลกใจถ้าเขาขอถ่ายรูปกับเรา เราเป็นคนชอบถ่ายรูป มาที่นี่ไม่ผิดหวังจริงๆ เรื่องนี้ คนอินเดียหน้าตาคมเข้ม ถ่ายรูปมีมิติมาก อารมณ์แสดงออกชัดเจนผ่านสีหน้าแววตา สีสันของเสื้อผ้า ทุกองค์ประกอบความเป็นคนอินเดียนี่มันสวยงามสำหรับคนชอบถ่ายรูป ส่วนด้านสถาปัตยกรรม วิจิตรงดงามตั้งตระหง่านได้เป็นพันปี สีสันก็สุดฤทธิ์ ฝุ่นอาจจะเกาะเยอะไปหน่อยแต่ก็ยังถ่ายรูปขึ้นกล้องอยู่ดี เราชอบอินเดียที่สุดก็เรื่องนี้ 7) Indian Stereotypes พี่แขกของหมวยเอง เท่าที่สังเกตมีความมั่นใจสูง ภาษาอังกฤษสำเนียงอินเดียนี่พูดอย่างมั่นใจและคล่องมากเรานี่อิจฉาเลย พี่แขกมีความคล่องแคล่ว ดิ้นรนสูงมาก มีโอกาสคว้าไว้หมด ตื้อเท่านั้นที่ครองโลก ส่ายหัวดุ๊กดิ๊กตีหน้ามึนใส่ กวนโอ๊ยสุดๆ บางทีหมวยก็แอบดุใส่บ้าง พี่แขกก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พี่แขกมักมีวิธีการนำเสนอสินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบ เราสามารถปฏิเสธพี่แขกอย่างเด็ดขาด พูด "No (ห้ามสบตา)" ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเกรงใจ ถึงเจอพี่แขกแบบนั้น หมวยก็ยังเอ็นดูพี่แขกนะ เพราะระหว่างการเดินทาง หมวยเจอเรื่องราวดีดีจากพี่แขกอยู่เรื่อยๆ ความดิ้นรนเอาตัวรอดของคนอินเดียเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก การมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย ปัจจัยเรื่องวรรณะ เพศ ความเชื่อ ก็เป็นกรอบในการใช้ชีวิต แต่สิ่งที่เราสังเกตได้จากการไปอินเดียหลายครั้งที่ผ่านมา เราว่าพี่แขกเป็นคนปล่อยวางง่าย เห็นหน้าตาดุๆ แบบนั้น เวลาพี่แขกแจกยิ้มให้ที หมวยก็ใจละลาย และยังน่ารักใจดีกว่าที่เราคิดไว้เยอะเลยค่ะ “เข้าใจเขา อย่างที่เขาเป็น” Respect for Diversity