ถ้าพูดถึง หลวงพ่อทันใจ ทุกคนจะต้องคิดถึง วัดพระธาตุดอยคำ แน่นอน เพราะวัดนี้คือวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียวใหม่ เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชสมัย พญากือนา กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา เป็นวัดที่โด่งดังมาก ๆ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะเชียงแสน มีเจดีย์ (หรือที่เรียกว่าพระธาตุ) ทองอร่ามงดงาม ที่สำคัญคนที่ศรัทธามานิยมไหว้ หลวงพ่อทันใจ ที่นี่เพราะให้ความสมหวังได้ดั่งใจมานักต่อนัก พิกัด : ตำบล แม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50100 Google maps: https://www.google.com/maps/ เวลาเปิด-ปิด: 6.00 – 18.00 น. นิยมมาตอนเช้าไม่ร้อน และตอนเย็นก็มีแสงไฟสวยดีไปอีกแบบ การเดินทาง : สำหรับการเดินทางจะมีรถแดง หรือหลายคนอาจเรียกว่ารถสองแถวที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ มาที่นี่ได้เลย สามารถจ้างตกลงราคากันได้ง่ายมาก ๆ เหมือนรถแท็กซี่ใน กทม. สัญลักษณ์ทางการบิน : ที่นี่เป็นสัญลักษณ์ ของการบินไทย ที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตา ก่อนที่จะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่ จุดที่ 1 : เมื่อเราเดินเข้ามาถึงก็จะเจอกับพระธาตุดอยคำ ทางขึ้นวัดเป็นเขาถนนเล็ก รถแดงสามารถขึ้นมาจอดได้ แต่ถ้าหากขับรถมาเองแนะนำไม่ต้องขำไวมากเพราะเป็นทางขึ้นเขา และข้างบนนี้ก็จะมีลานจอดรถ รองรับรถได้มากอยู่ บริเวณวัดกว้างขวาง จุดที่ 2 : พระธาตุดอยคำ ที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ จะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาไหว้ประจำ และด้วยความโดดเด่นของ องค์เจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาซึ่งเป็นรูปแบบเจดีย์ทรงกลม ดัดแปลงมาลัยเถาเป็นเหลี่ยมและมีพระสงฆ์ ทำพิธีทางศาสนาอยู่ด้วย หากใครมายามเช้าก็จะเห็นกิจกรรมหรือพิธีทางศาสนาต่าง ๆ บริเวณวัด จุดที่ 3 : หลวงพ่อทันใจ ซึ่งมีอายุเก่าแก่หลายร้อยปีและที่นี่ถือเป็น องค์หลวงพ่อทันใจที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ คนแวะเวียนเข้ามาเยอะมากเนื่องจากเป็นความหวังทางใจในทุก ๆ เรื่องที่ประชาชนมักมาขอให้สมหวัง โดยจะเด่นในเรื่องของโชคลาภทันใจ เพราะฉะนั้นแล้วก่อนหวยออกคนนิยมมาไหว้เป็นจำนวนมาก เพื่อขอโชคขอลาภขอเลขเด็ด นอกจากนี้ก็ยังนิยมขอในเรื่องการงาน ความสำเร็จในชีวิต และทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บให้หายทันใจ ที่มาของคำว่า หลวงพ่อทันใจ : หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นการขอพรแล้วต้องประสบความสำเร็จ สมหวังทันใจอย่างรวดเร็ว แต่ที่จริงแล้วจุดกำเนิดจากที่ศึกษามาจากไกด์ มาเล่าให้ฟังว่า ในวัดสำคัญทางภาคเหนือเนี่ยเขาจะนิยมสร้างพระพุทธรูป ที่เรียกว่า พระเจ้าทันใจกัน ซึ่งพระพุทธรูปนี้ใช้เวลาในการสร้างเพียง 1 วัน หรือ 24 ชั่วโมง นั่นก็คือรวดเร็วมาก เลยเป็นที่มาของคำว่า “ทันใจ” ซึ่งการสร้างให้ได้สำเร็จในแต่ละครั้งหลาย ๆ คนก็เชื่อว่าเป็นเพราะความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ที่ให้พิธีผ่านไปได้อย่างราบรื่นใน 24 ชั่วโมง ไม่มีอุปสรรคใด ๆ ทำให้ผู้คนเชื่อว่านี่คือความสำเร็จที่รวดเร็วดั่งใจ ปางของพระเจ้าทันใจ : นิยมสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ก็มีวัดพระบรมธาตุหริภุญไชย เป็นพระพุทธรูปประทับยืน การไหว้เพื่อบนบานศาลกล่าว : ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนที่มาแก้บนที่นี่เยอะมาก เราจะเห็นได้จากในข่าวและการเดินทางมาที่นี่ว่ามีคนแก้บนเยอะมาก ส่วนใหญ่ที่ไหว้หลวงพ่อทันใจบนไปแล้วจะประสบความสำเร็จกันก็จะมาแก้บน โดยเรื่องที่ขอก็อย่างเช่นได้ ผลจากการเสี่ยงโชคที่นี่ การหลุดพ้นจากหนี้สิน โดยนิยมขอ “เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น” และที่นี่เองคนที่มาเชียงใหม่ครึ่งหนึ่งก็อยากเดินทางมาให้ได้ เพื่อมาไหว้สักการะและขอพรท่านให้ได้ลุล่วงสมปราถนาทันใจแต่การอธิษฐานขอพรนั้นก็ไม่ใช่จะสำเร็จลุล่วงและต้องเป็นไปตามดั่งใจปรารถนาทุกครั้ง เพราะสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์คือคุณงามความดี หรือสิ่งที่เรามีอยู่แล้วเป็นพื้นฐานด้วย คำอธิฐาน : ซึ่งปกติก็จะมีป้ายบอกเราอยู่แล้วตรงทางเข้าที่จะไหว้หลวงพ่อ จุดธูป 3 ดอก บอกชื่อ-นามสกุล โดยเปล่งเสียงออกมาได้เลย สวดคาถาหลวงพ่อ นะโม 3 จบ “โอม นะโม พุทธายะ ยะอะสะ สุมัง จาปาดะ” ขอได้ทุกเรื่องแต่ต้องขอที่ละอย่าง ขอในสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ และถ้าหากได้แล้วมาแก้บนจะต้องนำพวงมาลัยดอกมะลิ สะอาดบริสุทธิ์มาแก้บนตามจำนวนที่เราเอ่ยจะแก้บนด้วย โดยส่วนมากมักจะ 50 พวงขึ้นไป จุดที่ 4 : ที่นี่ไม่ได้มีเพียงแค่พระธาตุ กับหลวงพ่อทันใจแต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธรูปและงานประติมากรรมสวยงามหลายแห่งในวัดแห่งนี้ มีทั้ง พระพิฆเนศ องค์อรรธนารีศวร พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางต่าง ๆ และมีจุดชมวิวให้เห็นเมืองเชียงใหม่ทั้ง พระยืน (ปางห้ามญาติ) พระนอน องค์ใหญ่ที่วัดพระธาตุดอยคำ และนอกจากนี้ตรงป้ายวัดก็มีงานประติมากรรม เห็นแล้วก็ขำและสวยงามดีคือ ยักษ์ปู่สีขี้หลับ ที่อีกข้างก็เป็นเป็นประติมากรรม ยักษ์ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ที่มี ดวงตามองมองมาทางยักษ์ปู่สีขี้หลับอย่างดุดันอีกด้วย ความประทับใจในงานสถาปัตยกรรมแบบล้านนา หรือเชียงแสน : ประทับใจมากตรงที่สถาปัตยกรรมการสร้างวัดที่นี่ การประดับประดาหลังคา ช่อฟ้า ใบระกา และลวดลายสีทองอร่ามของตัววัดให้ความรู้สึกแบบล้านนาซึ่งมีความโดดเด่นมากเพราะเป็นไม้เกือบทั้งหลัง มีหน้าจั่วหลังคาวัดที่แกะสลักจากไม้สักเป็นลวดลายแบบล้านนาเห็นแล้วงดงามมาก *ภาพถ่ายทั้งหมดโดยผู้เขียน