สิมอีสาน อาจมีหลายคนที่ไม่รู้ว่าสิมคืออะไร สิม หรือ โบสถ์ ในภาษาอีสาน คำว่า "สิม" มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา แปลว่า หลักเขตการทำสังฆกรรม โบสถ์มีใบเสมาเป็นสิ่งแสดงที่หมายนิมิตล้อมรอบตัวอาคาร 8 จุด เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมา สิมอีสานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สิมน้ำ กับ สิมบก สิมที่สมบูรณ์จะต้องมีพัทธสีมา หากไม่มีเขตวิสุงคามสีมาถาวรต้องไปบวชในสิมน้ำ เพราะถือว่า "น้ำ" เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เนื่องจากความทุรกันดารของเส้นทางสู่ชนบทในภาคอีสาน ชาวอีสานจึงสร้าง "สิมน้ำ" ขึ้นชั่วคราว เพื่อใช้อุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยต้องสร้างให้อยู่ในน้ำที่เกิดขึ้นเอง (ชาตสระ) และอยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด กาลล่วงมาจึงนิยมสร้าง "สิมบก" ขึ้นเป็นการถาวรตามรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน และขอวิสุงคามสีมา พร้อมกับการฝังลูกนิมิตเป็นเขตหมายให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ สิมบกแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ สิมโปร่ง กับ สิมทึบ ต่อไปนี้ เราจะพามาตามล่าหาสิมในจังหวัดนครพนมกัน เริ่มกันที่ สิม วัดวุฒิวราราม ตั้งอยู่ที่บ้านโพนสาวเอ้ หมู่ 3 ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม สิมถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2476 ลักษณะเป็นสิมทึบ ขนาดกลาง ก่ออิฐถือปูนแบบผนังรับน้ำหนัก ตัวสิมกว้าง 4.50 ม. ยาว 7.15 ม. มีบันไดทางขึ้นสามทาง ลักษณะของบันไดน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบของช่างญวน ซุ้มโค้งด้านหน้าแบ่งเป็นสามซุ้ม มีรูปปูนปั้นพระพุทธเจ้าประทับยืนในซุ้มโค้ง ส่วนคันทวยมีรูปแบบเป็นตัวนาคไม้แกะสลัก ผนังภายนอกเป็นรูปปูนปั้นแต้มสีรูป เมขลา-รามสูร บานประตูด้านหน้าสลักไม้มี 2 บาน หน้าต่างเป็นบานไม้แกะสลักด้านบน ทำซุ้มโค้งข้างละ 3 บาน ส่วนอีก 2 ช่วงเสานั้นทำซุ้มหลอก ปั้นปูนพระพุทธรูปยืนซุ้มละ 1 คู่ หลังคาสิมเป็นหลังคาจั่วชั้นเดียว มุงกระเบื้องดิน ทำช่อฟ้าปูนปั้นยอดคล้ายตรีศูล ฐานสิมเป็นแบบฐานพานเอวขัน สิม วัดบูรพาราม ตั้งอยู่ใน ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม สิมถูกสร้างในปี พ.ศ.2469 สร้างโดยกลุ่มชาวญวน ลักษณะรูปแบบก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ แบบผนังรับน้ำหนัก ตัวสิมกว้าง 4.40 ม. ยาว 9.20 ม. สูงจากพื้นสิมถึงอกไก่ 6.40 ม. มีมุขหน้าวางผังพื้นขวางเป็นรูปตัว T โครงหลังคาแบบขื่อ จันทัน ฐานสิมแบบโบกคว่ำโบกหงายชนิดฐานสูง กว้าง 5.40 ม. ยาว 10.10 ม. สูง 1.95 ม. การประดับมุขหน้าและผนังภายนอกโดยรอบ มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแต้มสี ติดกระจก สิมวัดพุทธสีมา บ้านฝั่งแดง ตั้งอยู่บน ถ.เรืองศรี หมู่ 2 ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สิมถูกสร้างในปี พ.ศ.2460 สร้างโดยกลุ่มช่างชาวญวณ ลักษณะเป็นสิมทึบ ก่ออิฐถือปูนขนาดสามห้อง มีระเบียงมุขด้านหน้าแบบผนังรับน้ำหนัก มีประตูทางเข้าทางเดียวด้านทิศตะวันออก ตัวสิมกว้าง 5.20 ม. ยาว 9.50 ม. บันไดทางขึ้นทำทรงผายออกแบบยุโรปตามความนิยมของกลุ่มช่างญวน หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว โครงหลังคาแบบขื่อ จันทัน เครื่องไม้มุงด้วยสังกะสี รองรับด้วยคันทวยไม้ซึ่งสลักลวดลายเป็นรูปนาค ฐานสิมเป็นแบบฐานบัวลูกแก้ว กว้าง 6.00 ม. ยาว 10.30 ม. สูง 1.85 ม. สิ่งที่สวยงามโดดเด่นคือศิลปะการตกแต่งผนังอาคารด้วยวงโค้งเหนือกรอบหน้าต่างและประตู ฮูปแต้มหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านนอก เขียนเรื่องราวทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมท้องถิ่น ปัจจุบันทางวัดนำใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดีปักไว้รอบสิม เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงเขตสังฆกรรม วัดหัวเวียงรังษี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง บ้านธาตุพนม ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สิมภายในวัดสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2460 – 2464 สมัยเดียวกับที่มีการปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุพนม เพราะอิฐที่ใช้ก่อสร้างสิม (อุโบสถ) เป็นรุ่นเดียวกับพระธาตุพนม ลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันและบัวหัวเสาตกแต่งด้วยงานปูนปั้นระบายสี ส่วนภาพจิตรกรรมคาดว่าน่าจะเขียนประมาณ พ.ศ.2463 - 2464 ซึ่งภาพบนผนังด้านนอกเป็นฝีมือช่างท้องถิ่นโดยมีพระอธิการอินทร์เป็นผู้ร่างภาพ แล้วให้อาจารย์คูณเขียนสี ลักษณะเป็นประติมากรรมนูนต่ำ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ยังมีสิมเก่าแก่อีกมากมายในเมืองนครพนม จากการตามล่าหาสิมครั้งนี้ทำให้หลงรักในสถาปัตยกรรมแบบสิมอีสานมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้อยากเดินทางไปตามหาสิมในจังหวัดอื่นต่อไปอีก เพราะการเดินทางคือการสร้างเรื่องราวให้กับตัวเราเอง สร้างโจทย์เพื่อค้นหาคำตอบ แต่บางครั้งหนทางก่อนจะถึงเป้าหมาย มันกลับเป็นความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง หากคุณจะเดินทางท่องเที่ยวสักครั้ง สร้างโจทย์มาซักหนึ่งข้ออย่างน้อย แล้วเราจะพบความหมายของชีวิต จริงๆ นะ ปล. ทุกภาพถ่ายโดย เอ๋จัง ลากแตะ