รีเซต

เทศกาลผีตาโขน 2565 ที่มาของ ผีตาโขน ประวัติงานประเพณีผีตาโขน ประเพณีบุญหลวง จังหวัดเลย

เทศกาลผีตาโขน 2565 ที่มาของ ผีตาโขน ประวัติงานประเพณีผีตาโขน ประเพณีบุญหลวง จังหวัดเลย
เอิงเอย
1 กรกฎาคม 2565 ( 14:00 )
148K
1

      งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน 2565 นี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ค่ะ ใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวงาน ตามเรามารู้จักกับ ที่มาของ ผีตาโขน และ ประวัติงานประเพณีผีตาโขน ประเพณีบุญหลวง กันได้เลยค่ะ

 

ประวัติประเพณีผีตาโขน ประเพณีบุญหลวง

 

      งานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีประจำปีของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ค่ะ ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ถนนหลายๆ สายของอำเภอด่านซ้าย หรือที่อื่นๆ ในจังหวัดเลย โดยเป็นงานที่มีบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทย

 

witoon214 / Shutterstock.com

 

      การละเล่นผีตาโขน เป็นงานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าจัดขึ้นตั้งแต่ยุคใด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงทำให้งานประเพณีผีตาโขน เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย โดยเป็นการนำโดยนำงานบุญหลวง หรือ บุญผะเหวด งานบุญบั้งไฟ งานบุญซำฮะ (สะเดาะเคราะห์บ้านเมือง) และการละเล่นผีตาโขนมารวมเป็นงานเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์

 

เทศกาลผีตาโขน 2565

     เทศกาลผีตาโขน 2565 ในปีนี้ จัดขึ้นใน ระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2565 และยังมีการจัด งานไหลผีตาโขน ไปจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 อีกด้วยค่ะ

 

กำหนดการในงานประเพณีบุญหลวง และงานผีตาโขน

จะมีหลักๆ 3 วันด้วยกันคือ

 

วันที่ 1 เป็น เทศกาลผีตาโขน ซึ่งเรียกวันนี้ว่า วันรวม หรือ วันโฮม จะมี พิธีเบิกพระอุปคุต

  • พิธีการบวชพราหมณ์ เพื่อเชิญพระอุปคุต
  • พิธีแห่จากวัดโพนชัย ไปริมฝั่งแผ่น้ำหมันเพื่อเชิญพระอุปคุต
  • พิธีงมพระอุปคุตจากแม่น้ำหมันอัญเชิญขึ้นประดิษฐานหออุปคุต วัดโพนชัย
  • พิธีเบิกพระอุปคุต พร้อมยิงปืนทั้ง 4 ทิศ
  • พิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม

 

วันที่ 2 เป็น วันแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง หรือ ขบวนแห่ผีตาโขน

  • พิธีสู่ขวัญพระเวส อัญเชิญพระเวสเข้าเมือง
  • ขบวนแห่พระเวสเข้าเมือง (ขบวนแห่ผีตาโขน)
  • เจ้าพ่อกวนและคณะ นำขบวนแห่ไปวัดโพนชัยแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ
  • เจ้าพ่อกวนและคณะจุดบั้งไฟขอฝน
  • คณะผู้เล่นบุญนำหน้ากากผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่ทิ้งลงแม่น้ำหมัน

 

วันที่ 3 เป็น วันฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ พิธีสวดมาลัยหมื่นมาลัยแสน ในการฟังเทศมหาชาติ

  • พิธีสวดชำฮะเพื่อขอขมาลาโทษสะเดาะเคราะห์รับโชค
  • นำอาหารหวานใส่กระทง เพื่อให้ทานสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาบ้านเมือง
  • พ่อแสนท้าพิธี “จำเนื้อจำคิง" เพื่อการสะเดาะเคราะห์
  • นำเครื่องสะเดาะเคราะห์ทิ้งลงแม่น้ำหมัน
  • พิธีคารวะองค์องค์พระใหญ่ โดยเจ้าพ่อกวนและคณะ เป็นอันเสร็จพิธี

 

       และประเพณียังคงมีความเชื่อกันว่า สำหรับคนที่เล่นหรือมีการแต่งตัวเป็น ผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไปอีกด้วย

 

 

      ในปัจจุบันนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายนอกเหนือจากพิธีดั้งเดิมตามประเพณีต่างๆ คือ การแสดงมหกรรมหน้ากากนานาชาติ การประกวดหน้ากากผีตาโขน การประกวดผีตาโขนน้อย การแสดงของชุมชนต่างๆ การออกร้านขายของต่างๆ มหกรรมอาหาร การแสดงศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงสินค้าพื้นเมือง จึงเป็นงานใหญ่ของจังหวัดเลยที่มีผู้คนมาเที่ยวชมงานอย่างคับคั่งทีเดียว


ที่มาของผีตาโขน

       ต้นกำเนิดของ ผีตาโขน นั้น เดิมมีชื่อเรียกว่า ผีตามคน เป็นเทศกาลที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเวสสันดรชาดก ชาดกในพระพุทธศาสนา มีตำนานว่า

      เมื่อครั้งพระเวสสันดร และนางมัทรี จะเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมือง มีผีป่าและสัตว์ต่างๆ ที่รักพระเวสสันดรและนางมัทรี พากันแฝงตนมากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับสู่เมืองด่วยความอาลัย นั่นคือที่มาของ “ผีตามคน” หรือ “ผีตาขน” จนกลายมาเป็น “ผีตาโขน” ในปัจจุบันนั่นเองค่ะ

 

Chaikom / Shutterstock.com

 

      โดยในขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ผู้ที่แต่งกายเป็นผีตาโขนนั้น จะต้องสวมหน้ากากที่ทำจากหวดนึ่งข้าวเหนียว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และออกเดินร่วมขบวนไปกับขบวนแห่งานบุญหลวง

 

ปู่เยอ-ย่าเยอ ตำนาน ต้นกำเนิดผีตาขน


      นอกจากนี้ ยังมีตำนานที่กล่าวถึง บรรพบุรุษต้นกำเนิดผีตาขน คือ ปู่เยอ-ย่าเยอ ตำนานเล่าว่า ณ เมืองแถน มีเครือเขากาดยักษ์เครือหนึ่ง ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นฟ้าปกคลุมลงมาบนพื้นดินทำให้บดบังแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ บ้านเมืองมีบรรยากาศสลัวมืดมิดและหนาวเย็น ประชาชนเดือดร้อนทำมาหากินไม่ได้

      วันหนึ่งมีผู้เฒ่าสองผัวเมีย ชื่อ ปู่เยอ-ย่าเยอ มาขออาสาตัดเครือเขากาดยักษ์นั้น พระยาขุนบูลมจึงถามว่า หากสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์ได้ ต้องการอะไรเป็นรางวัล เฒ่าทั้งสองตอบว่าไม่ขอรับของรางวัลใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงหากทั้งสองตายขอให้ทุกคนอย่าลืมชื่อของทั้งสองและขอให้เคารพสักการบูชาด้วย

 

 

      พระยาขุนบูลมจึงรับปาก จากนั้นปู่เยอ-ย่าเยอจึงถือขวานขนาดใหญ่มุ่งหน้าเดินทางไปยังโคนต้นเครือเขากาดยักษ์ทันที และลงมือตัดทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 3 เดือนกับอีก 3 วัน จึงสามารถตัดเครือเขากาดยักษ์นั้นลงมาได้

      แต่เครือเขากาดยักษ์นั้นมีขนาดใหญ่มาก เมื่อขาดแล้วจึงได้ล้มลงมาทับปู่เยา-ย่าเยอตายในทันที และบรรยากาศมืดมิดก็เปลี่ยนเป็นสว่างกลับมาสู่ผืนแผ่นดินอีกครั้ง ประชาชนก็ทำมาหากินได้ตามปกติ พระยาขุนบูลมพร้อมด้วยไพร่ฟ้าประชาชนจึงตั้งศาลและนำ“ขน” ของปู่เยอ-ย่าเยอไว้เคารพสักการะนับแต่นั้นเป็นต้นมา เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของปู่เยอและย่าเยอ

 

 

ความเชื่อในประเพณีผีตาโขน

       มีความเชื่ออีกว่า ประเพณีผีตาโขน เป็นการละเล่นเพื่อบวงสรวงบูชาดวงวิญญาณบรรพชนที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองบ้านเมือง ดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ หรือความหายนะก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณบรรพชนพอใจ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการละเล่นผีตาโขนขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก