ในจังหวัดเชียงใหม่ มีท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ในเชิงศิลปกรรมหลายแห่ง ถ้าไม่ไปดูงานตามบ้านของศิลปินจริง ๆ ก็ไปดูตามพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ทั้งหอศิลป์ของเอกชนและภาครัฐ รวมถึงมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวหากเลือกได้ผมเลือกที่จะไปดูหอศิลป์หรือบ้านศิลปินเอกชนมากกว่า เพราะเมื่อเราเข้าไปดูแล้ว นอกจากจะได้ชมงานศิลปะที่เสร็จแล้วหรือร่างของงานศิลปะชิ้นที่อยู่ระหว่างลงมือทำ เรายังมีโอกาสได้ดูผลงานที่ศิลปินกำลังนั่งทำอยู่ด้วย ซึ่งสถานที่แบบนี้ก็มีหลายแห่งเหมือนกัน และมีอยู่ที่หนึ่ง นอกจากจะนำเสนอผลงานด้านวิจิตรศิลป์ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรมแล้ว ก็จะมีเรื่องประยุกต์ศิลป์เข้ามาด้วย หากขับรถยนต์ตั้งต้นที่ถนนสุเทพ(หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ให้ตรงขึ้นไปทางร้านอาหารกาแล ก่อนถึงอ่างเก็บน้ำให้แล้วซ้ายลงไป 50 เมตร จอดรถไว้ข้างทางแล้วเดินเท้าเข้าไปอีกราว 20 เมตร ก็จะถึงสถานที่ที่ผมพามาเรียนรู้งานศิลป์ครั้งนี้ นั่นก็คือ “ร้อยทวารบาล-บ้านเทวาลัย” ก่อนเข้าเขตบ้านจะเห็นบานประตูแกะสลักจากไม้ขนาดใหญ่ 3 บาน โดยบานที่อยู่กลางมีขนาดใหญ่ที่สุดและบานขนาดเล็กกว่าอยู่ด้านข้างทั้ง 2 บาน เมื่อเดินเข้าไปด้านใน พื้นที่ถูกแบ่งเป็น 3 โซนคือ โซนที่ตั้งของร้อยทวารบาลบ้านเทวาลัยอยู่ด้านซ้ายมือ เป็นลักษณะบ้านไม้สูง 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น ทำด้วยไม้ทั้งหลัง โซนต่อมาเป็นที่ตั้งของพระพิฆเนศวรสามเศียร ปางประทานพร สูง 6 เมตร หนักราว 5 ตัน แกะสลักจากไม้ตะเคียนทองท่อนเดียว ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในโลก ที่ทำงานของช่างและบ้านพัก โซนสุดท้ายอยู่ด้านหลังสุดเป็นที่ตั้งของพระพิฆเนศวรปางเสวยสุขและพระโพธิสัตว์กวนอิมไม้สักทอง สูง 4 เมตร จากข้อมูลนำเที่ยวชมของบ้านร้อยทวารบาลบ้านเทวาลัยบอกว่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้น พ.ศ.2541 โดยอาจารย์เข้ม มฤคพิทักษ์มีความประสงค์จะเนรมิตให้มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ เป็นหอศิลป์จิตรกรรมไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา และเป็นตำหนักประทับแห่งทวยเทพ ภายในตัวบ้านประกอบด้วยบานประตูร่วม 100 บาน จ้างช่างกว่า 50 สกุลช่าง วาดภาพตามแบบโบราณที่ปรากฏตามวัดต่าง ๆ หลายแห่งในประเทศ ทั้งหมดทำลงบนเนื้อไม้ เขียนสีผนึกทองคำแท้ และสามารถใช้งานเป็นบานประตูภายในตัวบ้านได้จริง ทั้งยังเขียนภาพและแกะสลักลวดลายเป็นภาพของเหล่าทวยเทพ นก สัตว์หิมพานต์ ปีนักษัตร ท่านวดโบราณ ดอกไม้และลวดลายไทย กระจกแกะสลักลายน้ำโบราณรูปครุฑยุดนาคสมัยอยุธยาแบบ 3 มิติใหญ่ที่สุดในโลก สูง 3.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร บานประตูเลื่อนฉากนิลพัทเนรมิตกายและบานประตูเลื่อนฉากหนุมานจองถนน วาดบนไม้สักทองขนาดเท่ากัน 2.5 x 6.5 เมตร หนา 3 ซ.ม. โดยแผ่นไม้สักทุกชิ้นประดับประดาด้วยแผ่นทองคำแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังวาดภาพบนแผ่นไม้สักขนาดใหญ่ เล่าเรื่องภาพรามเกียรติ์ตอนยกทัพรบกัน โดยช่างจะต้องวาดภาพทหารทั้งสองฝ่ายถึง 5,000 คนอย่างต่ำ หน้าตาแต่ละคนให้ไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งจะใช้เวลาวาดราว 10 ปี ตอนนี้ได้วาดผ่านไป 5 ปีแล้ว สำหรับโมเดลหนุมานโลหะปราสาทที่ตั้งโชว์นั้น เจ้าหน้าที่บอกว่า นั่นคือโรงละครและหอศิลป์ ที่ขึ้นรูปด้วยทองแดงจำนวน 250 ตัน เป็นร่างหนุมานทั้งตัว ฝาผนังด้านในกรุด้วยไม้สักทองทั้งหมด และวาดภาพรามเกียรติ์จำนวน 3 แสนกว่าตัวอยู่ด้านใน เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในระหว่างหาสถานที่และศิลปินผู้สร้างงานดังกล่าว เมื่อสร้างเสร็จ ผลงานทั้งหมดนี้ อาจารย์เข้มจะเก็บไว้เป็นของประเทศชาติและของแผ่นดินไทยต่อไปตราบนานเท่านาน การได้มาท่องเที่ยวเรียนรู้และชื่นชมงานศิลป์ที่อาจารย์เข้มได้สร้างสรรค์ขึ้น ทำให้ได้สัมผัสและเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและวิถีชีวิตของมนุษย์มีเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น และยังส่งผลให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจเชิงนามธรรมในการได้สัมผัสความงดงามของอริยะธรรมที่แทรกซ้อนอิงแอบอยู่ในงานศิลป์นั้น ๆ อีกด้วย ใครที่มาเชียงใหม่และชื่นชอบงานแนวนี้ควรไปให้ได้สักครั้งนะครับ ที่ตั้ง : 79/7 หมู่ 1 ซอย 2 ถนนสุเทพ(หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ตำบลสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 086-1929699, 093-3282353 สิ่งที่น่าสนใจ : วันเวลาเปิดปิด : 09.00-18.00 น. ภาพประกอบโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี