รีเซต

สาระมาทางนี้ ! รู้จักวัฒนธรรมไทย 4 ภาค ใน MV Jabaja ของ BNK48

สาระมาทางนี้ ! รู้จักวัฒนธรรมไทย 4 ภาค ใน MV Jabaja ของ BNK48
Muzika
13 กรกฎาคม 2562 ( 08:00 )
3.6K
17

     เรียกได้ว่าใน MV ล่าสุดของเพลง "Jabaja" นั้นได้หยิบเอาความเป็นไทยมาเล่นได้อย่างน่ารักสดใส ซะจนเราอยากให้น้องๆ BNK48 ไปเป็นพรีเซนเตอร์ของททท.ซะให้รู้แล้วรู้รอดเลย เพราะคอนเซ็ปต์ในนั้นมีการเสนอวัฒนธรรมไทยทั้ง 4 ภาค ทั้งการร่ายรำ การละเล่น การแต่งกาย และกลิ่นอายของแต่ละภาคแทรกลงไปด้วย ทั้ง 16 คนแบ่งออกเป็นยูนิตย่อยๆ เป็นตัวแทนของภาคต่างๆ นั่นเอง

 

 

     ใครที่ได้ดูไปแล้ว อยากจะลงลึกมากกว่านี้ถึงเรื่องของการละเล่นของไทยทั้ง 4 ภาค เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วเป็นที่เรียบร้อย รับรองว่ามาตามวง BNK48 ทั้งที นอกจากความสนุกแล้วเราต้องได้ความรู้ด้วยนะเออ!

 

ก่อนอื่นไปดู MV Jabaja กันอีกซักรอบ

 

1. ภาคเหนือ

 

Jabaja BNK48 ภาคเหนือ


เมมเบอร์ : อร มิวสิค แบมบู
การละเล่น : โพงพาง

 

     โพงพางนั้น จะบอกว่าเป็นเกมที่เล่นเป็นหมู่คณะได้แบบไม่จำกัดจำนวน ถ้าลองมีซัก 100 คนจะลงไปเล่นที่สนามบอลเลยก็ได้ แต่คนที่ถูกเลือกเป็น "ปลา" จะซวยหน่อยนะ

 

 

     คนที่เป็นปลาจะเลือกด้วยการจับไม้สั้นไม้ยาว (หรือวิธีใดๆ ก็แล้วแต่กำหนด) เอาผ้าผูกตาคนที่เป็นปลา แล้วหมุน 3 รอบ ผู้เล่นคนอื่นล้อมวงจับมือกันเดินเป็นวงกลม พร้อมร้องเพลงประกอบ

"โพงพางเอย ปลาเข้าลอด

ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง

โพงพางเอย นกกระยางเข้าลอด

เสือปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง

กินปลาเป็นหรือกินปลาตาย"

 

     พอจบเพลงให้นั่งลง แล้วถามปลาว่า "ปลาเป็นหรือปลาตาย" ถ้าตอบว่า "ปลาเป็น" คนที่อยู่รอบวงจะขยับเขยื้อนหนีได้ ถ้าบอก "ปลาตาย" จะต้องนั่งอยู่เฉยๆ แล้วคนที่เป็นปลาจะคลำหาตัวผู้เล่นที่ล้อมวงอยู่ ถ้าเจอตัวแล้วคนที่ถูกปิดตาทายถูกก็ต้องมาเป็นแทน ถ้าทายผิดต้องเป็นต่อไป

 

 

2. ภาคใต้

 


เมมเบอร์ : จีจี้ เฌอปราง เจน โมบายล์

 

     สำหรับภาคนี้พิเศษหน่อย ตรงที่ไม่ได้เป็นการละเล่นของไทย แต่เป็นการแสดงหนังตะลุง อันเป็นการแสดงประจำท้องถิ่นภาคใต้ มีจุดเด่นอยู่ที่ตัวรูปหนังสำหรับใช้แสดง ที่จะแกะเป็นรูปร่างต่างๆ ไว้สำหรับเชิดผ่านจอผ้า ผู้ชมที่อยู่อีกด้านก็จะเป็นเพียงเงาของตัวละครต่างๆ โดยทั้งหมดนี้นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง

 

 

     อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการแสดงหนังตะลุงที่สำคัญ ได้แก่ จอหนัง ไฟสำหรับใช้ส่องแสง เครื่องดนตรีหนังตะลุง ประกอบด้วย ปี่ใน โหม่ง ทับ กลองตุ๊ก ฉิ่ง และแตระ โดยมีนักดนตรีเรียกว่า “ลูกคู่” ทำหน้าที่บรรเลงขณะแสดง ในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมด “ทับ” เป็นเครื่องกำกับจังหวะ และท่วงทำนองที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่นๆ ต้องคอยฟังและยักย้ายจังหวะตามเพลงทับ

 

 

3. ภาคอีสาน

 


เมมเบอร์ : แก้ว เนย น้ำหนึ่ง
การละเล่น : งูกินหาง

 

     งูกินหางนั้นจะเล่นกันได้ตั้งแต่ 3-10 คน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เล่นกันได้ทุกโอกาส วิธีเล่นคือเลือกก่อนว่าจะให้ใครเป็น "พ่องู" (ใช้วิธีจับสลาก หรือสุ่มเลือกยังไงก็ได้) แล้วที่เหลือก็จะเป็น "แม่งู" และ "ลูกงู"

 

 

พ่องู และแม่งูจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ผู้เล่นเป็นลูกงูจะต้องเกาะเอวผู้เล่นเป็นแม่งู แล้วพ่องูจะเริ่มถามแม่งูว่า

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อโสกโยกไปโยกมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อหินบินไปบินมา” พร้อมแสดงอาการบินไปบินมา

พ่องู : “แม่งูเอ๋ยกินน้ำบ่อไหน”

แม่งู : “กินน้ำบ่อทรายย้ายไปย้ายมา” พร้อมแสดงอาการส่ายตัวไปมา

พ่องู : “กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว”

 

     พ่องูก็จะเริ่มไล่จับลูกงูจากปลายแถว ฝ่ายแม่งูจะต้องกางมือเพื่อป้องกันลูก หากลูกงูตัวใดถูกพ่องูดึงจนหลุดออกจากแถวไป ก็จะต้องออกจากการเล่น ผู้เล่นที่เหลือก็เริ่มเล่นกันอีกจนกว่าลูกงูจะถูกจับจนหมด



4.ภาคกลาง

 


เมมเบอร์ : ปัญ ไข่มุก ตาหวาน เจนนิษฐ์
การละเล่น : รีรีข้าวสาร

 

     เด็กไทยสมัยก่อนเชื่อว่าน่าจะเคยผ่านเกมนี้กันมาแน่นอน วิธีเล่นก็คือ จับไม้สั้นไม้ยาวก่อน ว่าใครจะเป็นประตู แล้วให้ผู้เล่น 2 คน ยืนเอามือประสานกันเหนือศีรษะเป็นประตูโค้ง ผู้เล่นคนอื่น ๆ จะกี่คนก็ได้จะยืนเกาะเอวกันไว้ตามลำดับ แล้วลอดประตูโค้งไปเรื่อยๆ สองคนที่เป็นประตูจะร้องเพลงประกอบเวลา ว่า

 

 

     "รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้"

 

     สำหรับแถวลอดใต้โค้ง หัวแถวจะต้องเดินอ้อมหลังคนที่เป็นประตูครั้งละหน เมื่อจบเพลงสอง คนที่เป็นประตูจะกระดุกแขนลงกั้นคนสุดท้ายให้อยู่ระหว่างกลาง คัดออกไป คนข้างหลังต้องระวังตัวให้ดี ไม่เช่นนั้นตัวเองจะต้องออกจากการเล่น ต้องผ่านให้ได้หมดทุกคนจึงจะจบ

 

===============

 

     สำหรับการละเล่นทั้งหมดข้างต้นนี้ ไม่แน่ใจว่ายุคสมัยนี้เด็กๆ จะยังคงเล่นกันอยู่รึเปล่านะ พอให้ดู MV นี้แล้วก็รู้สึกว่าได้ย้อนวัยกันพอสมควรเลย นับว่าทางวงเลือกคอนเซ็ปต์ของเพลงมาดีมากๆ ให้ทั้งคนไทย และคนต่างชาติที่ติดตามวงนี้ได้รู้จักกับวัฒนธรรมไทยแบบไม่ยัดเยียดจนเกินไป ในยุคสมัยที่ของเหล่านี้เหลือน้อยลงไปทุกทีครับ

 

ขอบคุณภาพประกอบ : BNK48