ท่าเทียบเรือตำมะลัง ตั้งอยู่ในตำบลตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล การเดินทางจากสี่แยกเจ๊ะบิลังมุ่งหน้าไปทางทิศใต้จนสุดปลายทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะพบกับท่าเรือที่ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทั้งแรงงาน และนักท่องเที่ยว ในบันทึกประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ว่าชุมชนตำมะลังอาจจะก่อตั้งมาก่อนหรือพร้อม ๆ กับการก่อตั้งตัวเมืองสตูล ประมาณ 190 ปีที่ผ่านมา เพราะในอดีตหัวหน้าผู้แทนฝ่ายการเมืองของรัฐบาลอาณานิคมช่องแคบอังกฤษได้เดินทางจากปีนังไปเมืองตรังเพื่อขอพบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชโดยได้ใช้เส้นผ่าน "ตำมะลัง" แล้วพบว่ามีบ้านเรือนตั้งอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน จึงทำให้เชื่อได้ว่าตำมะลังเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีคนอาศัยอยู่อย่างยาวนานมาก่อน ในปัจจุบันนอกจากท่าเรือตำมะลังจะเป็นสถานที่รับส่งผู้โดยสารแล้วที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลให้ศึกษาอีกด้วย ใกล้ ๆ กับอาคารผู้โดยสารจะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกางเป็นทางยาวประมาณ 500 เมตร ช่วงน้ำลดจะเห็นปลาตีน และปูลม เดินบนดินโคลนเต็มไปหมดระบบนิเวศที่นี่ยังอุดมสมบูรณ์มาก ๆ ระหว่างทางเดินก็จะมีศาลาให้นั่งพักหลายหลังซึ่งถ้าไปตอนเที่ยงก็จะเห็นผู้คนนั่งปิกนิคพักผ่อนกันแบบครอบครัวน่ารักมาก และเมื่อเดินไปสุดสะพานจะพบกับลานกว้างไว้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ และยังมีหอชมวิวแบบ 360 องศาอีกด้วย เมื่อขึ้นไปบนหอชมวิวจะมองเห็นภูเขาที่เป็นสันยาวและท้องทะเลกว้างไกลจนสุดสายตา เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกางค่อนข้างจะเปลี่ยวเราไม่แนะนำให้เดินเข้าไปคนเดียวเพราะทาง เข้า-ออก มีแค่ทางเดียวบางครั้งมีวัยรุ่นชายเข้าไปมั่วสุม หลังสี่โมงเย็นไม่ควรเข้าไปเพราะมันจะค่อนข้างมืดแล้วเนื่องจากต้นโกงกางที่สูงปกคลุมทำให้ดูวังเวง ที่นี่ไม่มีค่าเข้าชมทุกคนสามารถเดินเข้าไปได้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติและจุดไฮไลท์ของท่าเรือตำมะลังนี้ก็คือรูปปั้นปูยักษ์ที่กลายเป็น แลนด์มาร์ค สำคัญของที่นี่ทุกคนที่มาก็จะถ่ายรูปเช็คอินกับรูปปั้น ปูยักษ์ คนท้องถิ่นที่ตำมะลังจะใช้ภาษามลายูในการสื่อสารด้วยกัน ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าหากคุณได้ยินคนขับรถโดยสาร แม่ค้า หรือพ่อค้าแถวนั้นพูดภาษากลางไม่ชัดแต่ถึงอย่างไรคนที่ตำมะลังก็ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนเสมอเพราะท่าเทียบเรือแห่งนี้เปรียบเสมือนหัวใจของคนตำมะลังเพราะพวกเขาเองก็ใช้ท่าเรือนี้เพื่อข้ามฝั่งไปยังหมู่บ้านของตัวเองที่อยู่บนเกาะอีกฝั่งหนึ่งเช่นกัน อีกทั้งยังมีชุมชนเกาะปูยู ชุมชนเกาะยาว เป็นชุมชนบนเกาะที่อยู่ห่างออกไปจากท่าเรือประมาณ 5.6 กิโลเมตร ต้องใช้ท่าเรือแห่งนี้ข้ามไปเช่นกัน บทความ : แว่นสุนทรีย์ ภาพถ่าย : แว่นสุนทรีย์