มีคนกล่าวว่า “ในบางครั้งบนเส้นทางเดิน เราไม่ได้เลือกไปสถานที่นั้นหรอก แต่ว่าสถานที่นั้นร้องเรียกหาเราต่างหาก” ประโยคนี้มีความเป็นจริงอยู่มากทีเดียวสำหรับคนที่ชีวิตมีแต่การเดินทาง เดินทางและเดินทาง จะเดินทางเพราะเรื่องส่วนตัว เรื่องงานหรือเรื่องอื่นก็ตามแต่ บางทีก็อดสงสัยไม่ได้ว่า สถานที่ที่ไม่เคยคิดจะได้ไปแม้จะอยู่ไกลแค่ไหนก็ได้ไป แต่บางสถานที่ถึงแม้จะอยู่ใกล้แต่ก็ไม่เคยได้แวะเวียน จังหวัดแม่ฮ่องสอนสำหรับผมถือว่าเป็นจังหวัดที่ไปยากที่สุด ทั้งระยะทาง ภูมิศาสตร์และการคมนาคม แต่พอมีสายการบินเปิดเส้นทางบินตรงจากกรุงเทพฯ ผมจึงไม่ลังเลใจและจองตั๋วบินไปแม่ฮ่องสอนในทันที โดยไม่ได้วางแผนละเอียดนักว่าต้องไปที่ไหนบ้าง ในใจคิดว่า ขอเพียงให้ได้ไปเยือนสักครั้ง ได้ไปยืนบนพระธาตุดอยกองมูมองดูตัวเมืองแม่ฮ่องสอนในหมอกก็พอใจแล้ว ต่อจากนั้นจะไปแวะเที่ยวหรือทำบุญที่ไหนบ้าง ค่อยไปหาเอาข้างหน้าก็แล้วกัน เพราะผมคิดเสมอว่า จะเที่ยวทำบุญให้สนุกต้องให้ใจนำทาง และเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยภูเขา ลำธารและผืนป่า ผมจึงเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งสะดวกต่อการซอกแซกไปในจุดที่ปรารถนา หมุดหมายแรกในการไปเช้านี้คือ เตรียมอาหารไปใส่บาตรพระที่ “สะพานซูตองเป้” สะพานอะไรก็ไม่รู้ชื่อโคตรเท่ห์ ถ้าได้ไปยืนเท่ห์ ๆ บนสะพานนั้น คงจะเท่ห์น่าดูไม่เบา ดูจากพิกัดในแผนที่แล้วอยู่ไม่ไกลมาก น่าจะไปทันได้ใส่บาตรพระ จึงค่อย ๆ ขับไป พร้อมกับชมวิวทิวทัศน์ 2 ข้างทางและมองหาพิกัดแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทางไปด้วยและด้วยระยะทางเพียง 12 กิโลเมตรจากหนองจองคำกลางตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ผมไปถึงเชิงสะพานซูตองเป้ ในจังหวะที่พระกลับมาจากบิณฑบาตที่ชุมชนด้านตรงข้ามพอดี จึงได้ใส่บาตรพระและไปเดินเล่นบนสะพานตามที่ตั้งใจไว้ ที่หัวสะพานมีเสาไม้คู่ทำเป็นซุ้ม 3 ขั้นจารึกชื่อด้วยอักษรศิลป์ที่มีความงดงามยิ่ง มีเนื้อหาว่า “ซูตองเป้ สะพานแห่งการอธิษฐานสำเร็จ สะพานเชื่อมศรัทธาในพุทธศาสนา ณ สวนธรรมภูสมะ พุทธศาสนสถาน ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระธรรมทั้งปวง พระสงฆ์ทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลาย จงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ” ใต้ซุ้มมีสัญลักษณ์ที่ทำจากไม้ไผ่คล้ายเครื่องประดับ ผมเรียกเองว่า สร้อยสังวาลย์สุริยะเนตร ดูเข้มขลังเหมือนกำลังจะเดินเข้าแดนลี้ลับอะไรประมาณนั้น ตัวสะพานสูงจากพื้นดิน 2-3 เมตร มี 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นสะพานไม้ไผ่ เสาเป็นไม้อยู่ในพื้นที่ของวัด ช่วงที่ 2 เป็นสะพานโค้งพื้นปูนปูพื้นด้วยไม้ไผ่ เสาและไม้กั้นทำจากเหล็กกลวง ซึ่งอยู่ในช่วงข้ามแม่น้ำจึงต้องทำอย่างแข็งแรง ช่วงที่ 3 ตั้งแต่ทุ่งนาจนถึงหมู่บ้านพื้นปูด้วยไม้ไผ่และเสาเป็นท่อนไม้ทั้งหมด สะพานนี้ยาวประมาณ 290 เมตร สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมการเดินทางจาก สวนธรรมภูสมะไปยังอีกชุมชนด้านหนึ่งของทุ่งนา เพื่อสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างชุมชนกับพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อเดินกลับมาทางเดิมและต้องขึ้นไปชมวิวมุมกว้างด้านบน จึงจะถือว่ามาถึงอย่างแท้จริง เชิงบันไดมีสิงห์คู่สีทองยืนเฝ้าอยู่ ผมเดินขึ้นรวดเดียวก็ไปอยู่ ณ จุดชมวิวที่สวยที่สุดเมื่อมาที่นี่ วิวบนนี้สวยงาม เพราะมองเห็นสะพานได้ตลอดทั้งหมด สนามด้านล่าง ทุ่งนาและชุมชนที่อยู่เชิงเขาอีกด้าน เป็นภาพที่อิ่มเอมใจมาก ยอมรับในความศรัทธาและความวิริยะอุตสาห์ของคนที่ช่วยกันทำสะพานแห่งนี้จนสำเร็จและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำบุญระดับจังหวัดได้ ทั้งยังเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวเกือบทุกคนที่มาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมเดินชมสิ่งก่อสร้างและรูปปั้นต่าง ๆ ด้านในของสวนธรรมภูสมะ พุทธศาสนสถานอีกพักใหญ่ ก่อนจะเข้าไปกราบไหว้ศาลาที่ตั้งรูปปั้นหมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอประจำตัวพระพุทธเจ้า ที่มีฝีมือ เก่งและโด่งดังในยุคนั้น ด้วยการเขียนคำอธิษฐานลงบนแผ่นไม้ประดับพู่หลากสี แล้วเอาไปห้อยไว้ที่เพดาน พร้อมกับของคนอื่น ๆ ที่มาทำอย่างเดียวกันกับผม ดูดารดาษเต็มแน่นไปหมดทั้งเพดาน หน้าต่างและวางไว้บนหน้าตักท่านนับ 1,000 ชิ้น พร้อมกับระลึกถึงข้อความที่สลักไว้ ณ ซุ้มประตูทางขึ้นสะพานซูตองเป้ที่ว่า “สะพานแห่งการอธิษฐานสำเร็จ”....ขอความสำเร็จจงเกิดมีแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ พิกัดที่ตั้ง : สะพานซูตองเป้ สวนธรรมภูสมะ บ้านกุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน วันเวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวัน เวลา 06.00-17.00 น. ภาพประกอบทั้งหมดถ่ายโดยผู้เขียน : อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาได้ฟรี