ทัชมาฮาล รักเหนือกาลเวลา ที่อินเดีย สุดโรแมนติก
พูดถึงสุสาน ร้อยทั้งร้อยจะนึกถึงความทึบทึมเทาหม่น ความเย็นเยียบไร้ชีวิต ความสยดสยองอันน่าสะพรึง และความเงียบสงัดของชีวิตหลังความตาย นั่นเพราะความตายคือการพลัดพราก การจากลา การละทิ้ง การเปลี่ยนผ่านสภาพ และการเดินทางครั้งสุดท้ายชีวิตแบบไร้เพื่อนเดินทาง…
แต่ก็มีความตายของบางคนนะครับ ที่สร้างสิ่งอมตะให้คงอยู่บนโลกนี้ ดั่งเช่นทัชมาฮาล…ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ว่า บางครั้งความตายก็ไม่ใช่การจากพราก แต่อาจเป็นการคงอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ภายในใจของผู้เป็นที่รัก และบางครั้ง ความตายอาจจะทำให้ความชัดเด่นชัดขึ้น จนกลายเป็นรูปธรรมอันงดงาม และถูกจารจารึกไว้บนผืนดินตราบนานเท่านาน
สำหรับผม สิ่งสากลที่มนุษย์ทั่วพื้นพิภพนี้รู้จักดีแบบไม่มีกำแพงพรมแดน เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือใดๆ มาขวางกั้น มีไม่กี่อย่างครับ…ดนตรี กีฬา ศิลปะ ความรัก และในที่สุด…ความตาย
แต่ก็มีปรากฎ เมื่อศิลปะ ความรัก และความตาย มาผนึกรวมไว้ด้วยกัน ผลลัพธ์ของมัน เป็นอย่างที่มหากวีรพินทรนาถ ฐากูร เคยรจนาเอาไว้เป็นภาษาที่ไพเราะมากว่า “คือหยาดน้ำตาบนร่องแก้มแห่งกาลเวลา”
จะเป็นอะไรไปมิได้นอกจาก ทัชมาฮาล (Taj Mahal)
ทัชมาฮาล 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ทัชมาฮาลในศตวรรษนี้ สังคมโลกรู้จักกันในบทบาทของหนึ่งใน เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ และเป็นสถาปัตยกรรมหินอ่อนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทัชมาฮาลตั้งอยู่ในสวนริมฝั่งแม่น้ำยมุนา ในเมืองอัครา ถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ศิลาแลง ประดับลวดลายเครื่องเพชร พลอย หิน โมราและเครื่องประดับจากมิตรประเทศ ได้รับคำรับรองว่าสร้างขึ้นด้วยสัดส่วนที่วิจิตรและงดงามที่สุด กว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร มีผู้สร้างและออกแบบร่วม 20,000 คน การก่อสร้างกินเวลานานถึง 22 ปี ทัชมาฮาลมีเนื้อที่ประมาณ 42 เอเคอร์ นายช่างที่ออกแบบ ชื่อ อุสตาด ไอซา ถูกประหารชีวิตเพื่อมิให้ไปออกแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ ที่สวยกว่าได้ ส่วนหัวของทัชมาฮาลมีลักษณะโดมที่เรียกว่าโอเนียนโดม
แต่ที่น่าประทับใจไปกว่านั้น นอกจากทัชมาฮาลจะสวยงามแล้ว ที่มาในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมอันยอดเยี่ยมชิ้นนี้ กล่าวได้ว่า…มันไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานอิฐหินปูนทรายเหมือนกันสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ แต่รากฐานของความโอ่อ่ายิ่งใหญ่ของมัน อยู่บน “หัวใจรัก” ของพระเจ้าชาห์ที่มีพระนามว่า “จาห์ฮาล” ชาห์แห่งราชวงศ์ “โมกุล” ผู้ซึ่งเป็นโอรสของจักรพรรดิ ชาห์จาห์ฮาลจีห์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุล แห่งอินเดีย
ตำนานรักแห่งราชวงศ์โมกุล
ตำนานรักที่จารึกโลกนี้ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของหญิงงามนามหนึ่งในปี ค.ศ. 1592 เธอมีนามว่า “อรชุมันต์ภานุเบคุม” รักแรกและรักเดียวของเจ้าชายคุราม ที่ต่อมาขึ้นครองราชย์และมีพระนามว่าสมเด็จพระจักรพรรด์ชาห์จาห์ฮาล เจ้าชายคุรามพบนางอรชุมันต์ภานุเบคุมตั้งแต่พระชนมายุเพียง14 หญิงสาวเป็นสตรีสูงศักดิ์ เป็นธิดาของรัฐมนตรี ทรงถูกพระทัยสตรีนางนี้ จนได้ทรงซื้อเพชรประทานให้และอีก 5 ปีต่อมาทั้งคู่ก็เข้าพิธีสยุมพร พระสวามีเรียกนางว่า “มุมตัส มาฮาล” ที่แปลว่า “มงกุฏแห่งพระราชวัง”
ภายหลังเจ้าชายคุรามขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา เป็นจักรพรรดิ์องค์ที่5 แห่งราชวงศ์โมกุล พระองค์ทรงมีความสุขกับพระชายาที่รักยิ่งของพระองค์ ว่ากันว่าพระนางมุมตัส มาฮาลทรงรักพระสวามีเป็นอันมาก ตามเสด็จพระเจ้าชาห์กระทั่งในสนามรบ ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสและพระธิดามากถึง 14 องค์ ทว่าเวลาแห่งความสุขก็อยู่ได้ไม่นาน 18 ปีให้หลังพระนางมุมตัส มาฮาลได้สิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากทรงมีประสูติกาลพระธิดาคนสุดท้อง และตกพระโลหิตไม่หยุด พระเจ้าชาห์จาห์ฮาลปราบกบฏข่านและรีบกลับมาทันดูใจในชั่วโมงสุดท้ายก่อนพระนางมุมตัส มาฮาล สิ้นพระชนม์ พระนางมุมตัส มาฮาล ได้ขอร้องพระสวามีก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ว่า หากพระนางสิ้นพระชนม์ลงขอให้สร้างสุสานที่สวยงามให้พระนาง,ขออย่าให้พระสวามีมีพระมเหสีใหม่,ขอให้ทรงมีพระกรุณาต่อเด็กๆ และขอให้เสด็จมาเยี่ยมพระนางที่สุสานทุกปี
และนี่เอง เป็นปฐมบทแห่งสถาปัตยกรรมที่งดงามแห่งนี้
พระเจ้าชาห์จาห์ฮาลทรงไร้สุขเมื่อขาดพระมเหสีที่ทรงรักยิ่ง ทรงทำตามคำสัญญาไม่มีพระมเหสีใหม่และทรงประทานทรัพย์จำนวนมหาศาลไปกับการทำบุญและการกุศลมากมาย และได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ใหญ่ เป็นที่ฝั่งพระศพโดยเลือกบริเวณฝั่งขวาแม่น้ำยมนา ตอนโค้งที่สวยงามและเหมาะที่สุดด้วยหินอ่อนสีขาวอย่างดีเยี่ยมที่สุด และได้ประดับตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่ามากมาย
วัสดุก่อสร้างทั้งหลายมาจากที่ต่างๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- หินอ่อน ได้จากเมืองชัยปุร
- ศิลาแลง จากฟาเตปุรริขรี
- พลอยสีฟ้า จากธิเบต
- พลอยสีเขียว จากอียิปต์
- หินสีฟ้า จากคัมภัย
- โมรา จากคัมภัย
- เพชร จากเมืองฟันนา
- หินทองแดง จากรัสเซีย
- หินทราย จากแบกแดด
ระหว่างการก่อสร้างที่กินเวลายาวนานถึ 22 ปีนั้น คณะผู้จัดสร้างทุกคน ทุกฝ่าย ทุ่มเทสุดความสามารถทุ่มเทชีวิต สร้างอนุสาวรีย์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระนางมุมตัส มาฮาล ผู้ซึ่งเมื่อมีพระชนม์อยู่ ทรงเป็นผู้ที่มีจิตเมตตา ทรงงานการกุศลไว้อย่างมหาศาล ให้ความกรุณาต่อทุกคน ดังนั้นคณะทำงานจะถือว่า ยิ่งประณีตวิจิตรบรรจงเท่าใด ก็เป็นการถวายความจงรักภักดีมากเท่านั้น
ทว่า…ข้อเดียวที่ทรงรักษาสัญญาไม่ได้ก็คือ ข้อที่พระมเหสีเคยขอร้องให้เสด็จมาเยี่ยมพระนางที่สุสานทุกปี เพราะโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชาห์จาห์ฮาลเอง ที่ทรงเห็นว่าพระราชบิดาใช้จ่ายพระราชทรัพย์จำนวนมากมายมหาศาลไปกับการสร้างสุสานแก่พระนางมุมตัส มาฮาล จึงได้ชิงบัลลังก์และจับพระราชบิดาไปคุมขัง พระเจ้าชาห์จาห์ฮาลจึงทำได้เพียง ‘เขย่งพระบาท’ มองทัชมาฮาลผ่านลูกกรงคุกทุกวันเท่านั้น แม้กระทั่งยามที่พระเจ้าชาห์จาห์ฮาลถึงกาลอันใกล้จะสิ้นพระชนม์ ก็ยังทรงขอร้องให้ผู้คุมประคองพระเศียรเพื่อทรงทอดพระเนตรทัชมาฮาลของพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย… แล้วหลังจากพระองค์จากไป พระศพของพระองค์จึงได้ถูกนำมาประดิษฐานเคียงข้างพระศพพระนางมุมตัส มาฮาล ใต้โดยมโนสิงห์ ในทัชมาฮาล เคียงกันกันตลอดกาล…นิรันดร์
เราทั้งหลายรู้จักทัชมาฮาลในนามสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ในนามสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรไปชมด้วยตาตนเองสักครั้ง ในฐานะสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่แท้จริงแล้ว ในนามแห่งทัชมาฮาล สิ่งนี้คือ “สุสาน” ที่สวยงามที่สุดในพิภพนี้ สุสานที่งดงามประณีตบรรจงที่สุดเท่าที่มนุษย์ตัวจ้อยๆ จะรังสรรค์ขึ้นมาจำหลักไว้บนโลกนี้ได้…สุสานที่ฝังร่างนางอันเป็นที่รัก ก่อนที่ผู้สั่งให้สร้างจะร่วงโรยละสังขาร ทิ้งกายอันไร้ลมหายใจลง และถูกนำร่างมานอนหลับนานนิรันดร์เคียงข้างกันในสุสานแห่งนี้
สุสานแห่งความรัก ที่จารึกให้ความรักยังคงอยู่…มันควรจะเป็นสุสานที่สวยงาม ทั้งในเชิงศิลปะ และความรู้สึก จริงไหมครับ