ควายไทยเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่ความจริงแล้วสถานการณ์ควายไทยในประเทศอาจจะไม่สู้ดีนัก เนื่องจากปัจจุบันความนิยมของการใช้ควายไทยในการทำการเกษตรเริ่มมีแนวโน้มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ชาวนาส่วนใหญ่หันไปใช้เครื่องจักรกลในการทำนาแทนควายเพราะเครื่องจักรเหล่านั้นสามารถทำงานได้อย่างไม่มีเหน็ดเหนื่อย สามารถช่วยทุ่นแรงและให้ผลผลิตได้มากกว่าการใช้แรงงานควาย จึงส่งผลให้ปัจจุบันประชากรควายไทยลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้เราแทบจะไม่ได้เห็นควายไทยอยู่ตามท้องนาเหมือนแต่ก่อน ฟังดูแล้วน่าเศร้าใจใช่ไหมคะ ดังนั้น เพื่อช่วยปกป้องควายไทยจากการสูญพันธุ์และเพื่อไม่ให้จำนวนควายไทยในประเทศไทยลดน้อยลงไปกว่านี้ จึงมีการการจัดกิจกรรมมหกรรมควายยักษ์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรไทยหันมาสนใจการเลี้ยงควายไทยกันมากขึ้น ช่วยอนุรักษ์ควายไทยเอาไว้ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับควายไทยที่หาชมได้ยากลงไปทุกทีอีกด้วยค่ะ ซึ่งงานมหกรรมควายนี้จะจัดขึ้นที่บริเวณลานเอนกประสงค์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีค่ะ มหกรรมควายยักษ์เมืองสองแควนี้ได้จัดต่อเนื่องกันทุกปี ซึ่งในปี 2562 นี้ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้วค่ะ แต่เราได้มีโอกาสไปงานนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ปี 2560) ดังนั้นขออนุญาตนำภาพเก่า ๆ มาให้ชมกันก่อนนะคะ ซึ่งกิจกรรมหลักภายในงานจะเป็นการจัดการประกวดควายไทยรุ่นต่าง ๆ โดยจะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงควายจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยนำควายจากฟาร์มของตนเองมาร่วมประกวด รวมแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยตัวเลยทีเดียว งานนี้คนทั่วไปสามารถเข้าร่วมชมความสวยงามของน้องควายและถ่ายรูปกับควายได้อย่างใกล้ชิดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ การมาเที่ยวชมงานมหกรรมควายยักษ์นอกจากเราจะได้ชมความสวยงามของควายไทยที่อาจไม่สามารถหาชมได้ทั่วไปแล้ว เรายังได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงควายอีกด้วยค่ะ ซึ่งควายที่นำมาร่วมประกวดในงานนี้จะเป็นควายที่เลี้ยงไว้เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์สำหรับการเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตลูกหลานควายไทยรุ่นต่อไป สำหรับลักษณะเด่นของควายไทยที่เราสามารถสังเกตได้ก็คือเค้าจะมีแผงขนสีขาวใต้คอเป็นรูปตัว V ขาช่วงล่างจะเป็นสีขาวเช่นเดียวกับแผงขนตรงหน้าอก สีขนจะออกสีเทาดำไม่ดำสนิท ซึ่งควายไทยที่โตเต็มที่บางตัวอาจมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 1 ตันเลยทีเดียว จึงเป็นที่มาของการเรียกงานมหกรรมนี้ว่ามหกรรมควายยักษ์ค่ะ และยิ่งควายตัวนั้นมีลักษณะงามมากเท่าไรก็จะยิ่งมีราคาแพงขึ้นเท่านั้นค่ะ ได้ยินมาว่าควายหลาย ๆ ตัวในงานนี้ค่าตัวไม่ต่ำกว่า 7 หลัก และบางตัวราคาถึง 8 หลักเลยทีเดียวค่ะ และถึงแม้ควายของตนจะราคาสูงมากแค่ไหน เกษตรกรเจ้าของควายเหล่านั้นก็มักจะไม่ยอาขายควายตัวเองง่าย ๆ เพราะว่าต้องการให้ควายตัวนี้เป็นควายรุ่นพ่อรุ่นแม่ในการพัฒนาสายพันธุ์ควายไทยต่อไปค่ะ สำหรับใครที่อยากชมความน่ารักและความสวยงามของสายพันธุ์ควายไทยอย่างใกล้ชิด ถ้ามีเวลาว่างตรงกับการจัดงานมหกรรมควายยักษ์แล้วละก็ อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมกันได้นะคะ