อีกหนึ่งความสวยงามที่ชาวไทยรอคอยกันทุกปี คือประเพณีลอยกระทงของเรา พระจันทร์เต็มดวง สายน้ำ และกระทง กับดวงใจของทุกคนที่พร้อมจะลอยคำอธิษฐานไปกับพระแม่คงคา กระทงจึงถูกประดิษฐ์กันมาจากรุ่นสู่รุ่น และถ้าพูดถึงจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องกระทงมากที่สุดก็คงหนีไม้พ้น กระทงจากชาวเมืองตากที่เรียกกันว่า “กระทงสาย” กระทงจากกะลา และใบตอง มีชื่อเสียงจนจัดเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปกัน และกระทงสายได้กลายเป็นภูมิปัญญาของคนตาก เป็นสิ่งที่ชาวเมืองตากภูมิใจ และตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อเทศกาลลอยกระทงมาถึงในทุกปี คุณน้ำทิพย์ พิมพาเล่าถึงกระทงสายให้ฟังว่า “ เรื่องราวของกระทงสาย มาจากสายน้ำที่เป็นมหัศจรรย์อยู่แล้ว และมีสันทรายใต้น้ำที่สามารถดึงสิ่งวัสดุที่มีรอยแตกต่างกันไป เอามารวมกันในสายเดียวกันให้เป็นสายยาวสุดสายตาได้” ธรรมชาตินี่เองที่ดึงดูดความสวยงามให้มารวมตัวกัน “ประเพณีลอยกระทงมีการลอยกระทงกันอยู่แล้ว แต่ในการลอยกระทงธรรมดาๆ แสงไฟจะดับไว เราก็เลยคิดเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขึ้นมา ของเมืองตากเราจะมีกะลาที่เหลืออยู่ เอากะลามาทำตัวที่เป็นกระทง จะให้ทั้งความสวยงาม และแสงว่าง ก็คือแสงสว่างที่ยาวนานมากกว่าครึ่งชั่วโมงด้วย” กระทงสายของชาวเมืองตากเป็นอย่างไร คุณน้ำทิพย์อธิบายต่อว่า “กระทงสายจะทำแบบเรียบง่ายและใช้วัสดุหาง่ายและคงทนในการลอยอยู่ในแม่น้ำปิง ของกระทงสายนี้จะมีทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีความสามัคคี เราจะรัก ผูกพัน และห่วงแหนประเพณีนี้มาก” กระทงสายทำจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ใช้กะลาที่ไม่มีรูนำมาขัด หลังจากขัดกะลาให้สวยงามแล้ว ใช้ฟั่นตีนกาทำเป็นไส้กระทง โดยการใช้ฝ้ายมาฉีก ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือ ฟั่นด้วยการใช้หน้าแข้ง หรือฟั่นด้วยมือ ต่อไปเป็นการเตรียมเทียนโดยจะใช้เทียนที่จำพรรษาแล้วมาหลอมต้มรวมกัน หลังจากนั้นนำตีนกาที่เตรียมแล้ว มาชุบเทียนที่หลอมไว้ และปล่อยให้ไส้ตีนกาแข็ง เมื่อไส้เทียนแข็งแห้งแล้ว จะตักเทียนใส่ลงในกะลาและใส่ตีนกาลงไป ท้ายที่สุดแล้วภูมิปัญญากระทงสาย สะท้อนความเรียบง่ายของคนไทยที่ใช้ของใกล้ตัวมาสร้างสรรค์ร่วมกับประเพณีได้อย่างน่ารัก และถึงแม้กระทงสายยังคงมีผู้สืบทอดต่อไปได้ แต่แม่น้ำสำหรับลอยกระทงต่างหากที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ภัยแล้ง มลพิษ หรือขยะ ถ้าเราไม่ร่วมดูแลกันเสียแต่วันนี้ คงยังไม่ต้องไปถึงกระทงสาย แต่เราคงจะไม่มีแม่น้ำให้รู้จักเป็นแน่