หากใครมาเยือนชุมชนหมู่บ้านแหล่งท่องเที่ยวบ้านน้ำเปิน ตำบลป่ากลาง จังหวัดน่านในหน้าหนาว นอกจากจะได้สัมผัสวิถีวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณีของชนเผ่า อาทิเช่น การทำผ้าเขียนเทียน การทำผ้าปักม้ง การทำเครื่องเงิน ก็ถือเป็นเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมกันได้ในแต่ละปี ประเพณีปีใหม่ม้ง เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของบ้านน้ำเปิน ตำบลป่ากลางได้เป็นอย่างดีและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของพี่น้องชาวม้ง ซึ่งจะจัดขึ้นทุกปี หลังจากมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย เชื่อกันว่า เป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งในกิจกรรมดังกล่าวนั้นจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า และผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง ดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ประเพณีปีใหม่ม้ง หรือที่ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่ จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม แต่เดิมนั้น จะมีการจัดขึ้นในแต่ละหมู่บ้าน โดยมีการฉลองกันตามวัน เวลา ที่สะดวกของแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดกันในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แต่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยน มีการรวมพี่น้องชนเผ่าม้ง จากหลายๆ หมู่บ้าน โดยมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามแต่ละหมู่บ้านที่มีความพร้อม ในวันดังกล่าว หัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง เป็นต้น ในช่วงเวลาปีใหม่ม้งจะมีการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่ การเล่นลูกช่วง ซึ่งภาษาม้งเรียกว่า ntsum pob หรือที่เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” ลูกช่วง (pob) มีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายโดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนา กับคู่ที่โยนได้ การเล่น เพื่อความสนุกสนานเป็นการฉลองปีใหม่ และเป็นการหาคู่ให้กับหนุ่มสาว เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ในการเล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดตามธรรมเนียมของม้ง ส่วนฝ่ายชาย สามารถเล่นได้แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ แล้วแต่ฝ่ายหญิงสาวคนนั้น การเล่นลูกช่วง ยังเป็นการช่วยฝึกทักษะความชำนาญในการคว้าจับสิ่งของที่พุ่งเข้ามาปะทะใบหน้า อันเป็นการฝึกป้องกันตัวจากสิ่งของที่ลอยมาหาใบหน้าอย่างกระทันหันได้ด้วย ในช่วงระหว่าง การเล่นลูกช่วงหนุ่มสาวที่เล่นลูกช่วงจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เพิ่มความสนุกสนานในการเล่น กติกาการเล่น มีการปรับผู้แพ้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เล่นเอง ไม่มีกติกากำหนดตายตัวแต่ประการใด ชาวม้งมีการเล่นลูกช่วงเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่ามาช้านานแล้ว ชนเผ่าอื่นในไทยไม่มีการละเล่นในทำนองนี้ ม้งได้สืบทอดวัฒนธรรมการเล่นลูกช่วงมาตั้งแต่สมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีน ขอขอบคุณ รูปหน้าปก / รูปภาพที่ 1 / รูปภาพที่ 2 / รูปภาพที่ 3 / รูปภาพที่ 4 / รูปภาพที่ 5 จากผู้เขียนถ่ายเอง