นักท่องเที่ยวสายบุญ เวลาไปเที่ยวเชียงใหม่ มักจะเลือกไปวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสุดยอดของวัดในเชียงใหม่ที่พลาดไม่ได้ แล้วก็จะมีวัดสำคัญอีกหลายแห่งที่ทัวร์มักแนะนำให้ไปเยี่ยมชม เช่น วัดพระสิงห์ วัดประจำปีนักษัตรของคนเกิดปีมะโรง(งูใหญ่) วัดเจดีย์หลวงซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาสะดือเมือง วัดสวนดอกที่ตั้งของสุสานหลวงเจ้าเมืองในอดีตของล้านนา จากนั้นก็จะมีโปรแกรมไปเที่ยวที่อื่นต่อ เพราะเห็นว่าไปหลายวัดแล้ว แต่รู้ไหมครับ ในตัวเมืองเชียงใหม่ยังมีวัดสำคัญไม่น้อย แต่มักไม่ถูกแนะนำ อาจเป็นเพราะวัดนั้นไม่ได้โด่งดังมากนักก็ได้ ครั้งนี้ ผมจึงอยากจะพาไปเที่ยวชมวัดนอกสายตานักท่องเที่ยวทั่วไปบ้าง ซึ่งขอรับประกันว่า วัดที่จะไปนี้ แตกต่างจากวัดที่เคยไปมาแน่นอน หากได้ถ่ายรูปเชคอินแล้ว เพื่อน ๆ ต้องถามว่าที่ไหนและอยากตามรอยไปเชคอินแน่ ๆ ยิ่งได้รู้ที่มาที่ไปของการสร้างวัดและชุมชนรอบ ๆ วัด จะทำให้เห็นคุณค่าของ 3 วัดนี้มากขึ้นไปอีก เพราะวัดที่จะไปนี้เป็นวัดในไทยที่สร้างขึ้นในแบบสไตล์ไทใหญ่ เรียกได้ว่า เป็นเพชรยอดมงกุฎของบรรดาวัดที่สร้างในแบบศิลปะไทใหญ่ที่มีอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ก็ว่าได้ พร้อมแล้วไปชมกันเลยครับ วัดแรก คือ วัดป่าเป้า ที่ตั้งของวัด แต่เดิมเป็นคุ้มนอก(วังนอก)ของพญากือนาหรือพญาธรรมมิกราช เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น เมื่อพระองค์ได้สวรรคตและทำพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพแล้ว คุ้มก็ขาดการซ่อมแซมดูแล ทรุดโทรม กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีต้นไม้เถาวัลย์ขึ้นปกคลุมทั้งพื้นที่ โดยเฉพาะต้นเป้า ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ได้เติบโตเต็มพื้นที่มากกว่าพืชพันธุ์ไม้ชนิดอื่น ๆ ต่อมา ชาวไทใหญ่ ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้รวมตัวกันไปขออนุญาตเพื่อสร้างวัด พอได้รับอนุญาตจึงพากันไปแผ้วถางทำความสะอาดบริเวณคุ้มเก่า จากนั้นก็สร้างวัดในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่ ลักษณะที่เห็นชัดคือมีหลังคาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เหมือนยอดเขาแทรกขึ้นไปในอากาศ ในสมัยพระเจ้ากาวีละ พระองค์ได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองทิศต่าง ๆ มาอยู่เชียงใหม่ ซึ่งมีชาวไทใหญ่จำนวนไม่น้อยได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย และได้มาอยู่ในบริเวณที่ชาวไทใหญ่ดั้งเดิมอยู่มาก่อน ทำให้มีจำนวนมากขึ้น ก็มีการก่อสร้างและบำรุงพัฒนาวัดมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 และหม่อมบัวไหล(ชายาชาวไทใหญ่) จึงได้ร่วมกับชาวไทใหญ่ ขออนุญาตบูรณะซ่อมแซมวัดป่าเป้าครั้งใหญ่ และ 2 ปีต่อมา พระองค์ก็ได้เป็นองค์ประธานร่วมกับหม่อมบัวไหลสร้างพระเจดีย์และวิหารไม้ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างในแบบสถาปัตยกรรมไทใหญ่ที่สวยงาม มีความมั่นคงและงดงามในเชิงช่างศิลป์จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเข้าไปในวัดจะเห็นวิหารไม้ วิหารน้อยและเจดีย์ทรงพม่า(ไทใหญ่) ตั้งอยู่เรียงรายกัน โดยรอบเจดีย์มีซุ้มทางเข้าสวยงามจำนวน 4 ซุ้ม ประดับด้วยลวดลายต่าง ๆ ตัวเจดีย์มีสิงห์เฝ้าทั้ง 4 มุม สำหรับวิหารน้อยสร้างด้วยอิฐผสมปูนสไตล์พม่า ด้านในเป็นที่เก็บรวบรวมของเก่าแก่ต่าง ๆ ของวัด มีพระพุทธรูป 3 องค์อยู่ด้านในไว้ให้คนมากราบไหว้บูชาด้วย ที่น่าสนใจที่สุด คือ โบสถ์แบบไทใหญ่ ทั้งช่อฟ้า หน้าต่าง ประตู บันได หน้าบัน หน้าจั่ว สวยงามมากเพราะแกะลวดลายจากไม้สักทั้งแผ่น โบสถ์หลังนี้ส่วนใหญ่จะปิดไม่ค่อยได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปชมมากนัก โชคดีที่ผมไปชมในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็เลยมีโอกาสเข้าไปดู แต่ก็ดูได้เฉพาะด้านนอก ส่วนด้านในสงวนไว้ให้พระเท่านั้น ที่อยู่ : เยื้อง ๆ แจ่งศรีภูมิ นอกเขตกำแพงเมืองเก่า ไม่ไกลจากตลาดช้างเผือก ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น. สิ่งน่าสนใจ : วิหารไม้/วิหารปูน/เจดีย์/โบสถ์ วัดที่สอง คือ วัดทรายมูล วัดนี้อยู่ในเขตคูเมืองชั้นในหรือในเขตกำแพงเมืองเก่า ใกล้ ๆ แจ่งก๊ะต๊ำ คนเชียงใหม่จะเรียกว่า วัดทรายมูลพม่าหรือวัดทรายมูลม่าน เพราะชื่อวัดทรายมูลในเชียงใหม่นั้นมีหลายวัด ถ้าไม่ระบุว่าพม่าหรือม่าน หรือบอกพิกัดชัดเจน ก็อาจจะกลายเป็นวัดทรายมูลที่อื่นได้ วัดนี้สร้างในสมัยกลางราชวงศ์ทิพย์จักร(เจ้าเจ็ดตน) ตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นเมืองเชียงใหม่ยังถูกปกครองโดยพม่า ภายในวัดมีต้นโพธิ์ใหญ่ประจำวัด ที่ลานโดยรอบมีพระประจำวันเกิดตั้งไว้ให้คนได้กราบไหว้ ที่นี่จะใช้สัญลักษณ์สัตว์เป็นตัวแทน เช่น รูปปั้นครุฑสำหรับคนเกิดวันอาทิตย์ รูปปั้นช้างมีงาสำหรับคนเกิดวันพุธ รูปปั้นพญานาคสำหรับคนเกิดวันเสาร์ ซึ่งแตกต่างจากวัดไทยทั่วไปที่มักใช้พระพุทธรูปปางต่าง ๆ กุฎีที่วัดนี้ต้องถ่ายรูปเก็บไว้เลย เพราะสวยมาก ก่อด้วยอิฐโบกปูนในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพม่า มีพระประธานประดิษฐานอยู่ข้างใน 3 องค์ พระพุทธรูปประทับนั่งห่มผ้าเฉียงเสมอตามแบบพระนั่งห่มคลุม ลักษณะจีวรเป็นริ้วธรรมชาติมาก บนจีวรประดับลวดลายด้วยกระจกแปลกตา ผนังทั้ง 2 ด้าน มีนจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องมหาเวสสันดรชาดกตลอดทั้งเรื่อง ที่ด้านหลังวิหาร มีเจดีย์สีทอง 2 องค์ อายุการสร้างห่างกันเกือบ 100 ปี ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นแบบผสมผสาน องค์เจดีย์มีลักษณะเป็น 8 เหลี่ยมเพิ่มมุมและบัวคว่ำ ที่ด้านล่างของฐานเจดีย์มีเจดีย์บริวารอยู่โดยรอบ นอกจากนั้น ยังมีพระพุทธรูปหยกขาวพม่าปางปฐมเทศนาแกะสลักจากหินหยกพม่าโดยช่างฝีมือจากเมืองมัณฑะเลย์ให้กราบไหว้ก่อนกลับด้วย ที่อยู่ : วัดทรายมูล(พม่า) เยื้อง ๆ แจ่งก๊ะต๊ำ ถนนมูลเมือง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น. สิ่งน่าสนใจ : ต้นโพธิ์/สัตว์สัญลักษณ์ประจำวันเกิด/กุฎีเก่าแก่/เจดีย์/พระพุทธรูปหยกพม่า วัดสุดท้ายคือวัดกู่เต้า วัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิติดกับสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่ไกลจากสถานีเดินรถช้างเผือกเท่าไหร่นัก และเป็นวัดแรกที่ผมไปในจำนวน 3 วัดที่ผมพามาชมนี้ สาเหตุที่ผมไปเพราะได้ทราบข่าวเรื่องลักษณะเจดีย์ที่แปลกและพระประธานในวิหารที่ไม่เหมือนวัดไหน มีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่า เจดีย์ของวัดกู่เต้านี้ได้บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสารวดี ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ในช่วงที่ท่านมาครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2122-2150 องค์เจดีย์มีลักษณะแปลกไม่เหมือนเจดีย์ในวัดอื่น ๆ คือ มีลักษณะคล้ายแตงโม(คล้าย ๆ พระธาตุหมากโมที่เมืองหลวงพระบาง) บางคนก็บอกว่าคล้ายบาตรคว่ำ ที่ซ้อนทับกันขึ้นไปถึง 5 ชั้น แต่ละชั้นทั้ง 4 ด้าน มีซุ้มสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ไว้ องค์เจดีย์ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีเป็นรูปดอกไม้เล็ก ๆ อย่างสวยงาม ส่วนของยอดเจดีย์มีฉัตรคล้ายอย่างกับเจดีย์ในประเทศพม่าทั่วไป ภายในวิหาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าอินทร์สานทรงจักรพรรดิ คือ พระพุทธรูปที่สร้างจากไม้ไผ่สานขนาดใหญ่ปางจักรพรรดิ มีความงดงามและถือว่าเป็นหนึ่งในงานช่างด้านพุทธศิลป์ในแบบพม่า(ไทยใหญ่)ของวัดในตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ที่อยากแนะนำมากเลยคือ ถ้าได้ไปวัดกู่เต้าในวันสำคัญทางศาสนา เราจะเห็นชาวไทใหญ่จำนวนมาก ใส่ชุดไทใหญ่และพม่ามาร่วมทำบุญกันคับคั่ง แต่งตัวกันสวยงามน่าถ่ายรูปเก็บไว้มากครับ ที่อยู่ : 60 ถนนช้างเผือก ซอยกู่เต้า ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดให้เข้าชม : 08.00-17.00 น. สิ่งที่น่าสนใจ : เจดีย์/วิหาร/พระสานจากไม้ไผ่องค์ใหญ่/ต้นโพธิ์พระประจำวัน