อาหารไทย กับ 7 เรื่องเข้าใจผิด ในสายตาชาวต่างชาติ

อาหารไทย กับ 7 เรื่องเข้าใจผิด ในสายตาชาวต่างชาติ
แมวหง่าว
26 กุมภาพันธ์ 2558 ( 08:28 )
25.6K

แปล และเรียบเรียง : แมวหง่าว

 

เมื่ออาหารไทยเป็นที่ฮอตฮิตติดอันดับต้นๆ ในเวทีโลก คงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะมีคนอีกมากที่ยังเข้าใจผิดในเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับอาหารไทย เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าเรื่องเข้าใจผิดที่ว่านี้มีเรื่องอะไรกันบ้าง เอาไว้อธิบายให้แขกต่างบ้านต่างเมืองฟังได้ด้วย

 

1. แค่โรยถั่วลิสงก็ได้สไตล์แบบไทยๆแล้ว

อยากจะหัวเราะก็เชิญเลยครับ แต่รู้ไหมว่า มีตำราอาหารของเมืองนอกเมืองนาจำนวนไม่น้อย ที่นับความเป็นอาหารไทยด้วยการดูว่า มีถั่วลิสงเป็นส่วนผสมหรือเปล่า ลามไปจนถึงเมนูฟิวชั่นบางอย่าง เช่น “พิซซ่าไทยสไตล์” ที่มีท็อปปิ้งเป็นถั่วลิสงโรยหน้า หรือ “สลัดแบบไทยๆ” ที่โรยถั่วงอกและถั่วลิสงลงไปด้วย และยังมีอีกมากที่เราไม่ได้สาธยาย

ใช่ครับ ตำรับอาหารไทยมีถั่วลิสงเป็นส่วนประกอบ แต่ ถั่วลิสงไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเป็นอาหารไทยซะหน่อย!

 

2. วัตถุดิบบางอย่างใช้แทนกันได้

มีคนอีกเยอะที่ยังเข้าใจว่า แกงชนิดต่างๆ ของไทยนั้นมาจากการใช้เครื่องเทศผสมกับน้ำกะทิ บ้างก็ว่าส่วนผสมบางอย่างสามารถใช้แทนกันได้เพราะมันเป็นพืชตระกูลเดียวกันนั่นแหละ เช่น ใช้พริกเขียวมาทำเครื่องแกงแดง (ซึ่งนั่นทำให้เครื่องแกงคุณออกมาเป็นสีเขียวแทน), ใช้เลมอนแทนตะไคร้, ใช้ขิงแทนข่าหรือกระชาย เป็นต้น ซึ่งการแทนส่วนผสมกันแบบนี้ทำให้เสียรสชาติแท้ๆ ไปโดยสิ้นเชิง อาหารไทยนั้นมีการเลือกใช้พืชสมุนไพรที่มีบทบาทต่างกัน มาผสมประสานเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความสมดุล ส่งเสริมสรรพคุณซึ่งกันและกันอีกต่างหาก

 

3. ถ้าไม่ ”โคตรเผ็ด” ก็ไม่ใช่อาหารไทย

อาหารไทยไม่จำเป็นต้องเผ็ดทุกเมนู ความเป็นจริงแล้วความเผ็ดของพริกในอาหารไทยนั้นมีไว้เพื่อตัดรสชาติอื่นๆ เช่น เปรี้ยวและเค็ม การใช้รสเผ็ดจนมากเกินไปกลับจะเป็นการทำลายรสชาติของอาหารจานนั้นด้วยซ้ำ 

 

4. อาหารจานเด่นประจำชาติไทย คือ “ผัดไทย”

นั่นก็จริง ผัดไทยเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมในร้านอาหารไทยในต่างแดน  อันที่จริงบางคนก็ยังสงสัยว่า อาหารจานนี้เป็นของประเทศจีนมากกว่า (ความจริงก็คือ ต้นตำรับมาจากจีน แต่ว่าประเทศไทยนำมาปรับสูตรและใช้วัตถุดิบในไทย) แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือ นักชิมหลายรายในต่างประเทศต่างพากันให้คะแนนร้านอาหารไทยโดยตัดสินจากรสชาติของผัดไทยเป็นหลักไปซะแล้ว

 

5. อาหารไทยใช้ตะเกียบคีบ

อาหารจานเส้นของไทยมากมายที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนล้วนใช้ตะเกียบเป็นหลัก แต่ว่าอาหารไทยแท้ๆ นั้นต้องใช้ช้อนและส้อม เพราะในเมื่อเราต้องทานข้าวเป็นหลักแล้ว การใช้ช้อนตักและใช้ส้อมในการกวาดอาหารเข้าช้อน นับว่าใกล้เคียงกับวิถีของคนไทยสมัยก่อน ที่ใช้มือในการรับประทานอาหารที่สุดแล้ว

 

6. อาหารไทยเหมาะกับผู้รับประทานมังสวิรัติ

ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่า เมืองไทยนั้นเป็นเมืองพุทธและยังเป็นประเทศที่มีการทานเจกันอย่างครึกครื้นอีกต่างหาก แต่ความจริงแล้วคนไทยทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ถ้าไปเดินเลือกทานอาหารตามข้างทานแล้ว ร้อยทั้งร้อยคุณก็ต้องเจออาหารจากเนื้อสัตว์เป็นหลักนั่นแหละ ทั้งหมูปิ้งเอย ไก่ย่างเอย แถมอาหารประเภทผัดผักยังมีการใช้น้ำปลาอีกตะหาก ดังนั้น คนทานมังสวิรัติลำบากแน่ๆ

 

7. อาหารไทยต้องราคาถูก

เนื่องจากอาหารไทยส่วนมากสามารถหาได้ง่ายตามท้องถนน แถมยังราคาถูกเสียด้วย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีอาหารไทยตำรับชาววัง หรืออาหารไทยตามร้านดีๆ ที่มีความตั้งใจ กว่าจะทำได้แต่ละจานนั้นต้องใช้คนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นต้นทุนของมันไม่สามารถราคาถูกได้แน่ๆ 

น่าเสียดายที่ในสายตาคนส่วนใหญ่มักจะเอาไปเปรียบเทียบราคากับอาหารข้างถนนแล้วตัดสินว่า ”แพงไป” แนวคิดเช่นนี้ทำให้ร้านอาหารไทยยังไม่สามารถผลักดันให้ก้าวสู่ความเป็นร้านอาหารระดับพรีเมี่ยมได้ อย่างเช่นที่อาหารญี่ปุ่นได้ทำไปแล้ว    

 

 

ติดตาม travel.truelife.com ได้อีกช่องทางที่

FB : Travel Truelife

 ทุกเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาหาร และสุขภาพ คลิกที่http://travel.truelife.com

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ

ยอดนิยมในตอนนี้

สิทธิพิเศษแนะนำ