รีเซต

ปริศนาหินตัว H แห่งโบลิเวีย อารยธรรมโบราณ ยุคอินคา และความเชื่อมโยงถึง มนุษย์ต่างดาว

ปริศนาหินตัว H แห่งโบลิเวีย อารยธรรมโบราณ ยุคอินคา และความเชื่อมโยงถึง มนุษย์ต่างดาว
แมวหง่าว
20 ตุลาคม 2560 ( 10:22 )
8.7K

ถ้าพูดถึงแหล่ง อารยธรรมโบราณ บนโลกเรานี้ หลายคนคงนึกถึง อียิปต์ กรีซ เม็กซิโก เปรู ฯลฯ แต่ละที่เต็มไปด้วยโบราณสถานเก่าแก่ทั้งแบบที่ยังสมบูรณ์ ไม่ก็เหลือแต่ซากปรักให้เราได้จินตนาการถึงวันแห่งความยิ่งใหญ่ในอดีต

 

 

และอีกหนึ่งในชนชาติโบราณที่ขึ้นชื่อเรื่องการก่อสร้าง เห็นทีไรอึ้งทุกทีอย่าง ชาวอินคา นั้น ก็มีซากสิ่งก่อสร้างปริศนา อย่างเช่นหินทรงตัว H ที่ Puma Punku แม้แต่ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้อยู่เหมือนกัน ถึงขั้นที่บางคนเชื่อว่า มันถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยกว่าที่มนุษย์ยุคนั้นจะมีด้วยซ้ำ ราวกับว่าเป็นฝีมือ มนุษย์ต่างดาว !

 

 

พูมาพันกู (Puma Punku) ซากปรักหักพังของกำแพงขนาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารขนาดมหึมา ติวานากู (Tiwanaku) ในประเทศโบลิเวีย คาดกันว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยของกษัตริย์ ไอมารา (Aymara) ก่อสร้างเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของอาณาจักรอินคา

 

 

พูมาพันกู มีความหมายว่า ประตูแห่งเสือพูม่า เป็นแนวกำแพงหินขนาดใหญ่ ลักษณะการสร้างคือใช้หินบล็อกมาวางต่อๆ กัน กำแพงฝั่งทิศเหนือ-ใต้ มีความยาว 167.36 เมตร ฝั่งทิศตะวันออก-ตะวันตก ยาว 116.7 เมตร หินแต่ละก้อนไม่มีชิ้นไหนหนักน้อยกว่า 1 ตัน และก้อนที่ใหญ่ที่สุดนั้นมีน้ำหนักถึง 131 ตันเลยทีเดียว

 

 

ทีนี้ลองซูมเข้าไปดูใกล้ๆ กับก้อนหินทรงตัว H ดูบ้าง จะเห็นได้ว่ารอยตัดนั้นช่างราบเรียบราวกับถูกตัดด้วยของมีคม ไม่มีกระทั่งรอยแตกรอยร้าวสักนิดเดียว เหมือนเอาเส้นด้ายไปตัดก้อนเต้าหู้ยังไงยังงั้น ยังไม่รวมถึงการวางสลักหินแต่ละก้อนี่เข้ากันได้แม่นยำราวจับวาง

 

By Brattarb – Own work, CC BY-SA 3.0

 

เคยมีการทดลองตัดหินให้เรียบได้เหมือนกันนี้ขึ้น ด้วยการใช้ความร้อน และน้ำ ก็พบว่ารอยตัดที่ทำได้ก็ยังไม่เรียบเนียนเท่ากับที่ชาวอินคาทำไว้เลย นักวิทยาศาสตร์ได้แต่ลงความเห็นกันว่าคงต้องใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เท่านั้น ถึงจะตัดหินได้เนี้ยบ และสัดส่วนเที่ยงตรงได้ขนาดนี้ (แต่ก็ไม่แน่ คนสมัยก่อนอาจจะมีวิธีที่ฉลาดกว่านี้ก็เป็นได้) ทีนี้เลยเข้าทางเหล่านักทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับเรื่อง มนุษย์ต่างดาว อาจนำวิทยาการที่ทันสมัยมาช่วยคนโบราณสร้างมันขึ้นมาก็เป็นได้

 

สุดท้ายแล้ว ก็ยังไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าหินเหล่านี้สร้างยังไง ขนมาจัดวางได้ยังอย่างไร วัตถุประสงค์คืออะไร ก่อนจะจากกันไปเพียงเท่านี้ เราได้รวมข้อเท็จจริง 8 ข้อ เอาไว้ให้คุณได้ตัดสินใจเองดีกว่า ว่าพูมาพันกูน่าจะสร้างโดยชาวอินคา หรือมนุษย์ต่างดาวจริงๆ

 

 

1. พูมาพันกู เป็นอารยธรรมโบราณที่สร้างความฉงนให้นักโบราณคดีมากที่สุด เพราะแทบจะหาคำตอบอะไรไม่ได้ซักอย่าง ขนาดที่ที่มหึมาอย่าง มหาพีระมิดแห่งกิซา เองยังพอจะบอกได้ว่าสร้างมาเพื่ออะไร สร้างอย่างไร ฯลฯ

2. ถ้าลองมองดูการแกะสลักลวดลายเข้าไปในหินแต่ละก้อน จะเห็นว่าทำได้เนียนเหมือนมีแม่พิมพ์ออกมาจากบล็อคเดียวกัน ดูดีเกินกว่าจะใช้การแกะสลักทั่วๆ ไป

3. หินส่วนใหญ่ถูกตัดออกมาจากเหมืองที่อยู่ห่างจากวิหารไปราว 60 ไมล์ เทียบเป็นกิโลเมตรจะเท่ากับ 96 กิโลเมตร ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าขนกันมาด้วยวิธีไหน

4. พูมาพันกู นั้นอยู่บนพื้นที่สูง 12,800 ฟุต ไม่มีต้นไม้ใหญ่ในแถบนั้นที่จะถูกตัดเพื่อเอามาทำล้อเลื่อนในการขนย้ายก้อนหินได้เลย

5. นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เมืองโบราณ เทียฮัวนาโค (Tiahuanaco) ที่อยู่ห่างออกไปจากพูมาพันกูไม่ไกลนักน่าจะเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมในแถบนี้ มีประชากรราว 40,000 คน

6. จากการขุดสำรวจโครงกระดูกของชาวเทียฮัวนาโค พบว่าสภาพกระโหลกนั้นมีหลายรูปแบบ อาจของคนหลากหลายเชื้อชาติมารวมกัน ทั้งกะโหลกที่มีผ้าโพกหัว กะโหลกแบบที่มีความยาวมากกว่าปกติ แบบที่มีโครงจมูกกว้าง แบบที่มีจมูกบาง แบบที่มีปากหนา ฯลฯ

 

 

7. วัตถุโบราณอีกชนิดที่พบในเทียฮัวนาโค และพูมาพันกู ก็คือชามโบราณ Fuente Magna ที่มีตัวอักษรรูปลิ่ม หรือ คูนิฟอร์ม ซึ่งเป็นตัวอักษรที่ถูกใช้มาตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมีย ในยุคหลายพันปีก่อนคริสตกาล

8. พูมาพันกู เป็นหนึ่งใน Megalith ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Megalith เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งก่อสร้างด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ เช่น สโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ, โมอาย เกาะอีสเตอร์ , หรือ นาบตา พลายา อียิปต์ เป็นต้น