รีเซต

สถานีรถไฟหัวลำโพง เที่ยวกรุงเทพ ย้อนวันวาน หยุดเวลาไว้ที่ สถานีรถไฟกรุงเทพ สุดคลาสสิก

สถานีรถไฟหัวลำโพง เที่ยวกรุงเทพ ย้อนวันวาน หยุดเวลาไว้ที่ สถานีรถไฟกรุงเทพ สุดคลาสสิก
เอิงเอย
16 มีนาคม 2563 ( 12:00 )
23.2K
2

      จะนั่งรถไฟไปจังหวัดไหน สถานีต้นทางหลักของกรุงเทพฯ คงจะบอกว่าให้ไปขึ้นรถไฟที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง ที่เราจะนึกถึงอาคารทรงสูง โค้ง หลังคาครึ่งวงกลม มีนาฬิกาขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางหลังคา แต่จริงๆ แล้วสถานีนี้ไม่ได้ชื่อว่าหัวลำโพงนะคะ แต่มีชื่อเรียกว่า สถานีรถไฟกรุงเทพ คิดตามแล้วงงๆ ใช่ไหมล่ะ! ตามเราไปทำความรู้จักที่นี่กันให้มากขึ้นกว่าเดิมกันดีกว่าค่ะ

 

 

 

รู้จัก หัวลำโพง สถานีรถไฟกรุงเทพ

 

       สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันว่า หัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟเก่าแก่อยู่คู่กับประเทศไทย นับร้อยปี ก่อตั้งขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชกาลที่ 6 ค่ะ 

 

 

      สถานีกรุงเทพ และ สถานีหัวลำโพง เรามักจะได้ยินคุ้นหูรู้จัก สถานีหัวลำโพงมากกว่า แต่ทั้งสองสถานีนี้ ไม่ใช่สถานีเดียวกันนะคะ สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นรถไฟเอกชน เส้นทางเดินรถไปทางตะวันออก ทางรถไฟสายปากน้ำ ชื่อของสถานีหัวลำโพง สันนิษฐานว่ามาจากชื่อทุ่งกว้างบริเวณนั้น จึงเรียกว่า "ทุ่งวัวลำพอง" ก่อนจะเพี้ยนเป็นหัวลำโพง และมีข้อมูลอีกว่า หัวลำโพงเป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อ "ต้นลำโพง" โดยสถานีเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2436 ถูกยกเลิกเมื่อปี พ.ศ. 2503 ปัจจุบันได้เป็นถนนพระราม 4

      สำหรับ สถานีรถไฟกรุงเทพ เป็นเส้นทางเดินรถไปทางทิศเหนือ และไปยังสถานีของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยค่ะ แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบันเราทุกคนต่างเรียกที่นี่ว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง ไปแล้วนั่นเอง

 


       ลักษณะของสถานีรถไฟของที่นี่จะแตกต่างจากที่อื่นๆ ด้วยตัวอาคารทรงโดมโค้งสไตล์อิตาเลียน ผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ คล้ายกันกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ (Mario Tamagno) ประดับด้วยหินอ่อน เพดานสลักลายนูนต่างๆ มีนาฬิกาขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ ตั้งอยู่กึ่งกลางหลังคาโค้งของสถานี ผนังโครงสร้างหลังคาเป็นกระจก เมื่อมองออกไปแสงสว่างจากด้านนอกสะท้อนเข้ามาเห็นสีสันของกระจกสลับไปมา ระหว่างสีฟ้า สีเหลือง สีขาว

 

หัวลำโพง เที่ยวกรุงเทพ

 

พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย


      ด้านหน้าของสถานีรถไฟ ฝั่งตะวันตก มี พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กซ่อนตัวอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาแลกเปลี่ยน วิวัฒนาการของรถไฟไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่ะ เมื่อเปิดประตูเข้ามาก็จะพบกับคุณลุงเจ้าหน้าที่ที่คอยต้อนรับผู้มาเยือน มาพูดคุยกับลุงได้ค่ะ คุณลุงใจดีมากๆ

 


      ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์ มีของเก่าสะสมเกี่ยวกับรถไฟจัดแสดงอยู่ในตู้ไม้ เครื่องใช้เซรามิค ตั๋วแข็งหลากสีรุ่นเก่า เครื่องตราทางสะดวก นาฬิกาไขลาน โทรศัพท์แบบหมุน เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องส่งโทรเลข โมเดลรถไฟที่เหมือนมากๆ มีของที่ระลึกจำหน่ายด้วยค่ะ ตั๋วแข็งของหายากเป็นไอเท็มที่ต้องซื้อเก็บไว้เลยทีเดียว

 

 

       ส่วนชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงภาพภาพโปสเตอร์เตือนระวังภัยในการเดินรถไฟ เหรียญที่ระลึกของการรถไฟ ตั๋วรถไฟแบบเก่า รวมไปถึงจัดแสดงพระเก้าอี้ในสมัยรัชกาลที่ 7

 

หัวลำโพง ที่เที่ยวกรุงเทพ

 

เส้นทางการเดินรถ


      สถานีกรุงเทพมีรถไฟประมาณ 200 ขบวนต่อวัน มีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดสำคัญ จะมีผู้โดยสารจนแทบล้นสถานี มีเส้นทางที่ออกจากสถานี จำนวน 4 สาย

 


• ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทาง 751.42 กิโลเมตร

• ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ
- ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี ระยะทาง 575.10 กิโลเมตร
- ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ระยะทาง 621.10 กิโลเมตร

• ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
-ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ ระยะทาง 254.50 กิโลเมตร
-ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ระยะทาง 184.03 กิโลเมตร

• ทางรถไฟสายใต้ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรีเมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ
-ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย ระยะทาง 973.84 กิโลเมตร (นับถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์)
-ปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก ระยะทาง 1,142.99 กิโลเมตร



สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟในอนาคต

 


      สถานีกลางบางซื่อ จะเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2564 จะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้สถานีกรุงเทพจะต้องลดสถานะจากสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสถานีรองลงมาจากสถานีกลางบางซื่อ

      สถานีกรุงเทพจะเป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง, รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และจะถูกพัฒนาพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยและศูนย์การเรียนรู้ค่ะ

 

  • ที่อยู่ : ถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
  • พิกัด : https://goo.gl/maps/ifyouoasYHEP2Gf77
  • เปิดให้บริการ : 04.00–23.30 น.
    พิพิธภัณฑ์รถไฟ เปิดอังคาร-อาทิตย์ 08.00-17.00 น.
  • โทร : -
  • เว็บไซต์ : -