เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 มีละครเรื่องหนึ่งได้ออกฉาย นั่นคือ ‘กาหลมหรทึก’ ซึ่งเราได้ติดตามมาตั้งแต่ตอนเป็นหนังสือ เรื่องราวน่าสนใจ น่าค้นหามาก โดยเฉพาะเรื่องของการสืบสวนคดีฆาตกรรมที่เชื่อมโยงกับบทกลอน และฉากต่างๆในเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ต่างๆที่มีอยู่จริง และชวนให้ไปเยือน กว่าจะมีเวลาไปเที่ยวชมตามรอยสถานที่ ละครก็จบไปแล้วหลายเดือน พึ่งมีเวลาได้ไปเมื่อช่วงกลางปี 2562 เริ่มเดินทางจากชลบุรีไปลงที่เอกมัย จากนั้นขึ้น BTS ไปอนุสาวรีย์ฯ เพื่อต่อรถประจำทางสาย 8 (แว๊นสุดๆ) ไปลงที่สะพานพุทธ ถามว่าต่อรถหลายต่อมาก เหนื่อยมั้ย??? คำตอบคือ ไม่จ้า ชอบมากกว่าเวลาได้นั่งรถ ได้ชมสองข้างทาง ได้ซึมซับบรรยากาศระหว่างการเดินทางด้วย ถึงสะพานพุทธเราก็ไม่รอช้า เดินขึ้นไปด้านบนสะพานเพื่อข้ามฝั่งไปยังสถานที่แรก คือ ‘วัดประยุรวงศาวาส’ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกกันว่า ‘วัดรั้วเหล็ก’ เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดบางตอน ซึ่งฉากในละครเป็นตอนที่เกิดคดีรอยสักของพระในวัดนี้นั่นเอง ภายในวัดยังมี ‘เขามอ’ ซึ่งเป็นภูเขาจำลองขนาดเล็ก ก่อด้วยศิลาตั้งอยู่กลางสระน้ำบริเวณหน้าวัด เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และสวนบริเวณรอบเป็นที่พักผ่อน ออกจากวัดประยุรวงศาวาส เราเริ่มเดินเข้าไปใน ‘ชุมชนกุฎีจีน’ ในสมัยก่อนพระเจ้าตากสินได้รวมกำลังไพร่พลทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวโปรตุเกสมาอาศัยแถบนี้ มีการค้าขายกันเกิดขึ้น รวมถึงเกิดการผสมผสานกันในเรื่องของวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆที่อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ‘โบสถ์ซางตาครู้ส’ สถาปัตยกรรมอิตาลี โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์ในชุมชน ในชุมชนนอกจากสถาปัตยกรรมสวยงามแล้ว อาหารยังอร่อยอีกด้วย เราแวะชิม ‘ขนมจีนน้ำยาไก่’ ส่วนใหญ่จะทำกันในงานฉลองพระแม่ไถ่ทาส และเป็นอาหารมงคลดั้งเดิมของชาวโปรตุเกสด้วย เติมพลังเสร็จแล้ว เราเดินเข้าไปในชุมชนตามซอกซอยต่างๆ ไปที่ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน’ แหล่งรวมประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชุมชน ด้านล่างของพิพิธภัณฑ์เป็นร้านกาแฟและขายของที่ระลึก ออกจากพิพิธภัณฑ์เราไปตามหาร้านขนมฝรั่งกุฎีจีนขึ้นชื่อ คือ ‘ร้านธนูสิงห์’ ขนมฝรั่งกุฎีจีน คล้ายๆขนมไข่ ใส่พวกฟัก ลูกเกด ลูกพลับ เป็นขนมที่ได้รับอิทธิพลมาจากโปรตุเกส ออกจากชุมชนเราเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรื่อยๆจุดหมายที่สุดท้าย คือ ‘วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร’ ก่อนถึงวัด เราแวะที่ ‘ศาลเจ้าเกียนอันเกง’ ชมสถาปัตยกรรมจีน ปูน-ไม้ อายุมากกว่า 100 ปี ที่ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น เมื่อปี พ.ศ.2551 และเป็นหนึ่งในฉากของละครด้วย จะเห็นได้ว่า ‘ชุมชนกุฎีจีน’ แห่งนี้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมที่หลากหลายจริงๆ ทั้งวัดไทย ศาลเจ้าและโบสถ์ ซึ่งคนในชุมชนก็อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ภายในชุมชนก็สงบ ร่มรื่นและสวยงาม Facebook: Times Travel เธอ ฉัน เรา เที่ยว YouTube: Nari’s Wander