หากคุณกำลังประสบปัญหากดเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มในต่างประเทศไม่ได้ และกำลังหาสงสัยหรือกำลังหาวิธีกดให้ได้อยู่ ลองมาอ่านบทความนี้และลองทำตาม เผื่ออว่ามันอาจจะช่วยคุณได้ สำหรับสาเหตุที่กดในต่างประเภทไม่ได้ทั้งๆ ที่ธนาคารเจ้าของบัตรส่วนใหญ่ก็นั่งยันยืนยันว่ากดได้นั้นมันก็มีสาเหตุอยู่ แต่เป็นสาเหตุที่ตัวเราอาจจะมองข้ามกันไปเอง หรือเข้าใจผิด หรือธนาคารบอกเราไม่หมด บอกแบบกำกวม อะ เดี๋ยวไปดูกันเลยดีกว่าว่ามันที่กดไม่ได้นั้นมาจากสาเหตุอะไร และแก้อย่างไร รีวิวบัตร Travel Card ที่นักเดินทางควรมี พร้อมบอกวิธีใช้ในต่างประเทศ 1. ประเภทตู้ไม่รองรับประเภทบัตร ข้อนี้บางคนอาจมองข้าม หรือลืม หรืออาจจะขอลองหน่อย แบบว่ารีบบ้าง เหนื่อยจะเดินหาเลยเลือกเอาตู้เอทีเอ็มใกล้ตัว แต่มันไม่ใช่ว่าทุกตู้จะกดได้ มันต้องเป็นตู้เอทีเอ็มที่รองรับบัตรต่างชาติ ดังนั้นเราต้องมองหาตู้เอทีเอ็มที่มีสัญลักษณ์ Visa หรือ Plus หรือบางตู้อาจไม่มีทั้งสองอย่างแต่มีเขียนกำกับว่า international Card ส่วนใหญ่ก็จะเป็นธนาคารใหญ่ๆ หรือธนาคารที่เราทำธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศได้ ยกตัวอย่างอินเดีย เวลาจ่ายค่า e-Visa ออนไลน์จะมี 2 ธนาคารขึ้นมาให้เราคลิกเลือกหนึ่งในนั้นคือธนาคาร SBI และเวลาเราเที่ยวอินเดีย ตู้ของธนาคารนี้ก็กดได้ทุกครั้งไม่มีปัญหาสักครั้ง 2. เลือกประเภทบัญชีไม่ถูกต้อง เลือกตู้ที่มีสัญลักษณ์ Visa หรือ Plus แล้วก็อาจจะยังกดไม่ได้ถ้าเราเลือกประเภทบัญชีของบัตรไม่ถูกต้อง เหมือนเวลากดเงินในไทยนั่นแหละค่ะ เวลาจะกดเงิน เราก็ต้องไปเลือกว่ามันคือ สะสมทรัพย์ ออมทรัพย์ หรือเครดิต บางบัตรอาจจะง่ายสามารถเลือกเครดิตหรือตัวเลือกอื่นได้ แต่บางบัตรต้องเลือกตามประเภทบัญชีให้ถูกต้องตรงตัว เช่น บัตรกรุงไทยทราเวล ต้องเลือก current หรือก็คือ กระแสรายวันเท่านั้น จากประสบการณ์ เราเคยใช้ SCB Planet กดได้ทุกตู้ไม่ยุ่งยากเลย แต่พอใช้กรุงไทยทราเวล ตู้ที่เคยกดได้ก็กดไม่ได้เฉย พอลองอ่านคู่มือ ภายในคู่มือก็ระบุว่าต้องเลือก current เท่านั้น หลังจากนั้นก็กดได้ 3. กดเงินพอดีกับเงินในบัญชีเป๊ะๆ ถ้าคุณรู้สึกว่าฉันก็ทำทั้ง 2 ข้อบนแล้วก็ยังกดไม่ได้ ลองมาเช็กข้อนี้ คุณกดเงินพอดีกับเงินที่มีในบัญชีเลยหรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่มันจะกดตามเงินในบัญชีแป๊ะๆ เลยไม่ได้ เพราะมันมีค่าธรรมเนียมการกด ต่อให้ธนาคารบอกว่าไม่มีค่าธรรมเนียม เชื่อเถอะค่ะว่ามันมี ตั้งแต่ใช้มาไม่ว่าจะเดือนแรกที่สมัครหรือปัจจุบันก็ยังเสียค่าธรรมเนียมการกดทุกครั้งนะ ธนาคารไม่ได้โกหกหรอกค่ะ ธนาคารไทยไม่ชาร์จแต่ธนาคารต่างประเทศอาจจะชาร์จไง ดังนั้นลองเหลือเงินคงค้างไว้ในบัญชีเพื่อหักค่าธรรมเนียมการกดด้วยจะดีกว่าค่ะ 4. ตู้มีเงื่อนไขเฉพาะ อันนี้ไม่แน่ใจว่าตู้ประเทศอื่นๆ จะมีเงื่อนไขแปลกๆ เหมือนตู้เอทีเอ็มบางตู้ในอินเดียหรือเปล่านะคะ ครั้งหนึ่งเราเคยเที่ยวเมืองชนบทในอินเดียแล้วก็จะกดเงินแต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะกดยังไงก็กดไม่ได้ เลยลองให้คนอินเดียกด เขาก็กดไม่ได้ เขาก็ลองกดอยู่นาน ในท้ายที่สุดเขาก็กดได้ในจำนวนเป็นหมื่นรูปีเลยค่ะ เขาหันมาบอกเราว่าคิดว่าตู้กำหนดขั้นต่ำหมื่นรูปี เราก็งงว่ามันมีแบบนี้ด้วยหรอ ก็เลยไม่กดเพราะเราเที่ยวคนเดียวไม่อยากถือเงินเยอะๆ แต่พอลองเดินเที่ยวต่อและพบตู้อื่น ก็กดได้ปกติไม่มีขั้นต่ำ 5. ตู้ ATM อาจจะมีเงินไม่เพียงพอ แม้ว่าเราจะเลี่ยงข้อ 1 ถึง 4 หมดแล้วแต่ก็อาจจะกดไม่ได้ นั่นก็อาจจะเพราะตู้เอทีเอ็มนั้นมีเงินไม่เพียงพอหรือมีประเภทธนบัตรไม่เพียงพอ เช่นเดียวกับประเทศไทยนั่นแหละค่ะ ตู้มีเงินไม่เพียงพอแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาให้คุณ ดังนั้นถ้าเช็กแล้วว่า ตู้มีสัญลักษณ์ที่กำหนด เลือกประเภทบัญชีถูก เหลือเงินสำหรับค่าธรรมเนียมแล้ว ลองกดเงินที่ละเยอะๆ แล้วแต่ก็ยังกดไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าตู้เอทีเอ็มอาจจะมีธนบัตรไม่เพียงพอจะจ่ายคุณ ทั้งข้อ 4 และ 5 อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอตู้ที่กดได้ ทางที่ดีก็ทำไว้หลายๆ บัตรเพื่อความอุ่นใจก็ดี แต่จริงๆ แล้วหากใครไม่อยากต้องหาตู้เอทีเอ็มบ่อยๆ ก็ลองเลือกหาที่พักหรือร้านอาหารที่แตะหรือรูดจ่ายได้ก็จะง่ายและสบายยิ่งขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายนี้หากใครชอบบทความนี้ก็สามารถแชร์ออกไปได้เลยนะคะ หรือถ้าอยากติดตามเรื่องอื่นๆ ของเราก็สามารถแวะไปติดตามกันได้ที่ twitter ที่ Artinime ค่ะ https://x.com/supamas_kpr/status/1872195475652444246 เรียบเรียงเนื้อหาและถ่ายภาพโดย หญิงเถื่อน อยากไปเที่ยวไหนหรือเปล่า? หาข้อมูลที่เที่ยวสุดปังได้ที่ App TrueID โหลดเลย ฟรี !