รีเซต

เกษตรอินทรีย์ แบบชีววิถี ที่ศรีสวัสดิ์

เกษตรอินทรีย์ แบบชีววิถี ที่ศรีสวัสดิ์
ไทยรัฐ
23 กุมภาพันธ์ 2562 ( 22:01 )
1.9K
1

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้เล่าถึงสถานที่ท่องเที่ยวและอาหารการกินในเขื่อนศรีนครินทร์

 

แล้วทิ้งท้ายไว้ว่าอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจอีก เพื่อ ไม่ให้ต้องรอนานจึงขอนำเรื่องราวที่ว่ามาเล่าต่อในเดือนนี้

จั่วหัวว่า “เกษตรอินทรีย์” คำนี้หลายท่านคงคุ้นหูคุ้นตากันมาบ้าง แต่คำว่า “ชีววิถี” อาจเป็นคำที่ยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก “โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบหน่วยงานของ กฟผ.มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี กฟผ.จึงจัดทำโครงการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ปลูกต้นปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด.
คุณยอดมนู ภมรมนตรี กับคุณพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ.

โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ กฟผ.ส่งเสริม มี 4 ด้าน ได้แก่ การ เพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์น้ำ การปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยทั้งสี่ด้านนี้เน้นว่าต้องปลอดสารพิษ

ที่ อำเภอศรีสวัสดิ์ มีฟาร์มต้นแบบเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ ชื่อ “ฟาร์มพีระพล” ของคุณพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ ก่อนที่จะมาเป็นฟาร์มต้นแบบอย่างในวันนี้ คุณพัฒน์พงษ์เคยปลูกข้าวโพด ปลูกพริก เหมือนๆกับที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกกัน ต้องลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ฯลฯ เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตขาย ราคาก็มักจะตกต่ำ ขายได้ไม่เท่ากับที่ลงทุนไป ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาลงทุนสำหรับการปลูกรอบต่อไป เป็นวัฏจักรที่วนเวียนซ้ำๆอย่างนี้มาหลายปี

เมื่อเจ้าหน้าที่จากเขื่อนศรีนครินทร์นำ แนวทางชีววิถีมาบอกเล่าให้ฟัง คุณพัฒน์พงษ์เกิดความสนใจ จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการ ตัดสินใจเลิกใช้สารเคมี หันมาใช้จุลินทรีย์ ทำการเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยในช่วงแรกได้ทดลองทำในพื้นที่ 5 ไร่

จากที่เคยปลูกข้าวโพดและพริกเพื่อส่งขายให้พ่อค้าคนกลาง เปลี่ยนมาปลูกพืชผักสำหรับกินเองในครอบครัวก่อน ยึดหลักว่า เราจะกินอะไร เราก็ปลูกพืชชนิดนั้น เน้นว่าปลูกพืชเพื่อเลี้ยงชีพ พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ทำเองได้ ไม่ต้องซื้อ ปรับสภาพดินโดยปลูกต้นปอเทือง แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เมื่อดินดีปลูกอะไรก็ได้ผลดี หากได้ผลผลิตมากเกินความต้องการบริโภค ก็นำไปแบ่งปัน นำไปขายได้

มะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย.
สวนไผ่.

คุณพัฒน์พงษ์เล่าให้ คุณยอดมนู ภมรมนตรี และทีมงานรายการครอบจักรวาลฟังว่า หลังจากตั้งใจทำตามแนวทาง ชีววิถี มาได้สามปี จึงมั่นใจว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว เชื่อมั่นว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางที่จะสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ต่อไปอย่างตลอดรอดฝั่ง จากพื้นที่ 5 ไร่ในสามปีแรก ขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 21 ไร่ในปีที่หก

ปัจจุบันมีที่ดินสำหรับทำการเกษตรตามแนวชีววิถี 39 ไร่ โดยสมาชิกในครอบครัว 4 คนช่วยกันลงมือทำงานในไร่ในสวนเอง เล่ามาถึงตอนนี้คุณพัฒน์พงษ์พูดอย่างติดตลกว่า จริงๆ เหมือนจะทำแค่สามคนครึ่ง เพราะตัวเองไม่ได้ทำงานในสวนอย่างเต็มเวลา เนื่องจากมีภารกิจเดินทางไปเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรต่างๆ ที่สนใจ และทำงานเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินด้วย

ผลจากการลงมือทำอย่างตั้งใจ ทำให้ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ประจำปี 2557 รางวัลเกษตรกรต้นแบบจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เนื่องในวันอาหารโลกในปี 2557 รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประจำปี 2559 และรางวัลอื่นๆ อีกหลายรางวัล

รางวัลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือการมีความสุขในชีวิต สุขภาพดี มีกินมีใช้อย่างพอเพียง มีอาหารปลอดภัยไว้กินเองและจำหน่าย

คุณพัฒน์พงษ์บรรยายเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์.
ใช้สารธรรมชาติแทนสารเคมี.

จากที่ตอนแรกคิดสงสัยว่าจะนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปขายใคร ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าผลิตออกมาเท่าไรก็ขายได้หมด มีไม่เพียงพอต่อความ ต้องการของผู้รับซื้อ ซึ่งนำไปจำหน่ายต่อทั้งในประเทศและส่งไปต่างประเทศ

พูดถึงเรื่องการส่งผลผลิตออกไปยังต่างประเทศ คุณพัฒน์พงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า บางประเทศที่เป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงส่งออกมาจำหน่ายในเมืองไทย เวลาที่เขาสั่งซื้อพืชผลทางการเกษตรจากไทย เขากลับเลือกซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์ไปบริโภค

หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ต่อเนื่องมาหลายปี การให้ความสำคัญกับ เรื่องอาหารปลอดภัย โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตพืชผักผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารต่างๆก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ควรส่งเสริม เพื่อให้ครัวไทยก้าวสู่ครัวโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทีมงานรายการครอบจักรวาลได้ไปเดินชม ฟาร์มพีระพล ได้เห็นว่าในสวนมีพืชผักผลไม้สารพัดอย่าง มีทั้งพืชที่ให้ผลตลอดปี และพืชที่ให้ผลตามฤดูกาล บางชนิดมีผลมียอดให้เก็บขายได้ทุกวัน เช่น กล้วยน้ำว้า ชะอม ผักกูด

ปลูกหญ้าแฝกช่วยอุ้มน้ำให้ต้นมะม่วง.­­
ชมพู่เป็นพี่เลี้ยงผักกูด.

นอกจากนี้ยังมี มะพร้าวน้ำหอมต้นเตี้ย มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ มะละกอพันธุ์ฮาวาย มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ แก้วมังกร เงาะ ฝรั่ง ลำไย มะเฟือง ส้มโอ ละมุด ชมพู่ ทุเรียน กาแฟโรบัสต้า มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ บางชนิดเพิ่งทดลองปลูกไม่กี่ต้น ปลูกแทรกไประหว่างแถวต้นกล้วย ส่วนที่แนวรั้วก็มี ต้นเสาวรส ต้นอัญชัน เลื้อยพันตลอดแนว

คุณพัฒน์พงษ์ปลูกพืชแต่ละชนิดด้วยความรู้ ความเข้าใจ นำความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดจากแหล่งต่างๆมาประยุกต์ใช้ มีการทด-ลองเพื่อศึกษาว่าพืชแต่ละชนิดควรปลูกในพื้นที่ลักษณะใด เช่น ผักกูด ซึ่งเป็นพืชตระกูลเฟิร์น ชอบน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ก็ทำพื้นที่เป็นแอ่งเพื่อปลูกผักกูด โดยปลูกต้นชมพู่เป็นต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาแก่ผักกูด เพราะต้นชมพู่ก็ชอบอยู่ใกล้ๆแหล่งน้ำเหมือนกัน อธิบายให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานเข้าใจง่ายและจำได้แม่นยำว่าให้ ชมพู่เป็นพี่เลี้ยงผักกูด

พื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นบริเวณที่ลาดเอียง ก็ นำหญ้าแฝกมาปลูกล้อมต้นมะม่วงไว้ เพื่อให้หญ้าแฝกช่วยอุ้มน้ำ ช่วยชะลอน้ำ เวลาที่รดน้ำให้ต้นมะม่วงน้ำจะได้ไม่ไหลลงไปตามความลาดเอียงของพื้นที่เสียทั้งหมด นอกจากช่วยอุ้มน้ำแล้วยังช่วยรักษาหน้าดินไม่ให้ถูกน้ำพัดพาไปด้วย

การปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยอุ้มน้ำให้ต้นมะม่วง ต้องปลูกในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ได้ไปปลูกชิดโคนต้น แต่ต้องดูความกว้างของพุ่มใบเป็นหลัก ปลูกหญ้าแฝกล้อมตามรัศมีทรงพุ่มของต้นไม้ เพราะรากของต้นไม้แต่ละต้นก็แผ่ขยายไปใต้ดินในรัศมีพอๆกับพุ่มใบที่เราเห็น

นำชมสวนกล้วยน้ำว้า.
ผลผลิตเกษตรอินทรีย์.

การปลูกแก้วมังกร เคยเห็นเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้เสาปูนซีเมนต์เป็นหลักให้ต้นแก้วมังกร แต่คุณพัฒน์พงษ์ทดลองนำ ต้นแก้วมังกรไปปลูกไว้กับต้นมะกอก ใช้ต้นมะกอกเป็นหลัก ระหว่างที่แก้วมังกรยังไม่ออกผล ต้นมะกอกแตกยอด ก็สามารถเก็บยอดมะกอกไปขายได้

ต้นไผ่ที่ปลูกไว้มีประโยชน์หลายอย่าง ตัดลำไผ่ขายสำหรับนำไปใช้งานต่างๆ ตัด ลำไผ่เป็นท่อน นำไปชำ ขายสำหรับคนที่ต้องการซื้อไปปลูก เมื่อต้นไผ่มีหน่อ ก็เก็บ หน่อไม้ขายได้ทั้งหน่อไม้สด และนำไป แปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง บางคนไม่กินหน่อไม้ดองเพราะกลัวว่าจะมีสารเคมีเจือปน คุณพัฒน์พงษ์บอกว่าที่ฟาร์มทำหน่อไม้ดองโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้วิธีธรรมชาติ นำหน่อไม้ไปเคล้ากับเกลือก่อน ทำให้หน่อไม้ดองไม่ดำ

กล้วยน้ำว้า ปลูกไว้หลายต้น มีผลให้เก็บ ขายได้ตลอดปี หากมีผลสดมากเกินความ ต้องการของตลาด ก็นำไปแปรรูปเป็น กล้วยตาก ตากในโดมที่ ทาง กฟผ.ช่วยสนับสนุน ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ อบอยู่ในโดม

ไม่ต้องกลัวฝุ่นหรือแมลงรบกวน

โดมตากกล้วย.
กล้วยตาก.

กล้วยตากของที่นี่ใครได้ชิมแล้วเป็นต้องติดใจ รสชาติที่ได้เป็นความหวานตามธรรมชาติของกล้วยอย่างแท้จริง ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลแต่อย่างใด มีเทคนิคในการทำให้รสหวานธรรมชาติในผลกล้วยออกมาทั่วถึง สม่ำเสมอทั้งผล ด้วยการค่อยๆทุบผลกล้วย ไม่ใช้วิธีหนีบหรือทับจนแบน

นอกจากปลูกพืชผักผลไม้ ยังเลี้ยงสัตว์ มีทั้ง ไก่ เป็ด หมู ปลา ที่เอื้อประโยชน์ต่อการปลูกพืช เช่น ไก่ ช่วยจิกกินหนอนและแมลงศัตรูพืช กล้วย มะละกอที่ผลไม่สวยต้องคัดออก ก็นำไปเป็นอาหารสัตว์ได้

เวลาที่มีผู้สนใจไปดูงานที่ฟาร์ม คุณพัฒน์พงษ์จะพาเดินชม พร้อมบรรยายเทคนิคต่างๆในการปลูกพืชและการแปรรูปให้อย่างละเอียด มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบอกเล่าให้สารพัดอย่าง ถ้าตั้งใจไปเพื่อรับความรู้ เพื่อนำมาลงมือปฏิบัติตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง รับรองว่าไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

มีคนถามว่าทำไมถึงไม่หวงวิชา คุณพัฒน์พงษ์ ตอบว่าวิชาที่ตนเองได้มาก็ไม่ต้องซื้อ จึงไม่เคยหวงวิชา มีแต่อยากจะเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้นำไปลงมือทำจริงๆ เพราะอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีกินมีใช้โดยมีสุขภาพดีและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ได้ยินอย่างนี้แล้วรู้สึกชื่นใจ และชื่นชมคุณพัฒน์พงษ์ที่ทำการเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางชีววิถีได้ประสบความสำเร็จ และยินดีแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจแนวทางนี้

สนใจไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มพีระพล ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ติดต่อนัดหมายล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-4527-6227

.....สวัสดี

ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์