โทยามะ (Toyama) เป็นจังหวัดในภูมิภาคชุบุ (Chubu) มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดทะเล ขณะอีกด้านหนึ่งติดเทือกเขา จึงเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านสู่ธรรมชาติสำหรับนักท่องเที่ยว หากตัวจังหวัดโทยามะเองมีจุดเด่นเรื่องการสร้างสรรค์งานศิลปะจากแก้ว จนได้รับฉายาเมืองแห่งแก้ว (The City of Glass) ซึ่งนิตยสารนิวยอร์กไทม์ได้เลือกเมืองโทยามะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ควรไปเยือนในปี 2025 และหนึ่งในเหตุผลสนับสนุนการเป็นเมืองน่าไปเยือนคือการเป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะจากแก้วที่น่าสนใจ ฉายาเมืองแห่งแก้วของโทยามะเริ่มจากการเป็นแหล่งผลิตขวดแก้วเป่าสำหรับบรรจุยาตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สานต่อจนปัจจุบันมีชื่อเสียงในฐานะเมืองสร้างสรรค์ศิลปะจากแก้วโดยเป็นที่ตั้งสถาบันศิลปะแก้วโทยามะ (Toyama Institute of Glass Art) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1991 โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนางานศิลปะแก้วให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล มุ่งเน้นการอนุรักษ์และสืบทอดเทคนิคการเป่าแก้วแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแก้วร่วมสมัย ตัวสถาบันเอง เป็นทั้งโรงเรียน สตูดิโอ และพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวมผลงานศิลปะแก้วไว้ในที่เดียว สถานที่ที่โดดเด่นเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของตัวเมืองอยู่ที่อาคารโทยามะ คิราริ (Toyama Kirari) ซึ่งเป็นที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์งานศิลปะแก้วโทยามะ (Toyama Glass Art Museum) รวมไปถึงห้องสมุดของตัวเมือง ตัวอาคารออกแบบโดยเค็นโกะ คุมะ (Kengo Kuma) ศิลปินชื่อดังระดับโลกชาวญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงด้านการผสมผสานวัสดุธรรมชาติเข้ากับงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เน้นความเรียบง่ายและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ อาคารโทยามะ คิราริ จากสถานีรถไฟตัวเมืองโทยามะ สามารถนั่งรถรางได้ทั้งสาย 1 สีเขียว สาย 2 สีส้ม และสาย 3 สีฟ้า ไปลงที่สถานี Nakamachi (กระซิบนิดนึงว่า สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทางจังหวัดโทยามะให้ตั๋วสำหรับนั่งรถแทรมในเมืองฟรีได้สองครั้ง โดยแจ้งที่โรงแรมเพื่อรับสิทธิ์ดังกล่าว รายละเอียดดูได้ที่เว็บไซต์ของจังหวัด) จากนั้นมองหาตัวอาคารโทยามะ คิราริ ซึ่งง่ายมาก เพราะผนังด้านหน้าตัวอาคารนั้นใช้วัสดุจากกระจกเป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย อลูมิเนียม และหิน ทำให้ตัวอาคารมีประกายแวววาวสะดุดตา เรียกว่ากวาดสายตาไปรอบ ๆ อย่างไรก็ต้องสะดุดแลเห็นตัวอาคารนี้ เมื่อเข้าไปด้านใน ห้องโถงกลางด้านในเปิดโล่งเชื่อมทุกชั้นภายในอาคารเข้าด้วยกันตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงชั้นบน ทำให้เมื่อยืนอยู่บนบันไดเลื่อนที่เคลื่อนขึ้นลง จะเห็นบรรยากาศการจัดวาง ตกแต่ง กิจกรรมของทุกชั้นภายในตัวอาคาร โดยเฉพาะห้องสมุดของจังหวัดที่ครองพื้นที่สองชั้น การตกแต่งที่ใช้แผ่นไม้ระแนงทั้งตัวผนังและเพดาน นอกจากช่วยควบคุมความร้อนและแสงธรรมชาติที่สาดเข้ามาแล้ว ยังสร้างบรรยากาศอบอุ่นชวนเข้าไปนั่งอ่านหนังสือเป็นที่สุด ยิ่งเมื่อได้เดินเข้าไปด้านในสำรวจหนังสือที่วางในชั้นพบว่าสันปกหนังสือของญี่ปุ่นออกแบบสวยงามน่าหยิบจับออกมาอ่านเป็นที่สุด แม้จะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นก็ตาม Toyama Public Library สันหนังสือสวย ๆ บนชั้น พิพิธภัณฑ์งานศิลปะแก้วโทยามะที่เป็น hilight ของตัวอาคารและตัวจังหวัด จัดแบ่งการแสดงงานออกเป็นสามส่วน มีทั้งที่ต้องเสียค่าเข้าชมและไม่ต้องเสียค่าเข้าชม ส่วนที่ไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแสดงตรงล็อบบี้ทางเดินบนชั้น 2 ถึงชั้น 4 เรียกงานแสดงส่วนนี้ว่า “Glass Art Passage” แสดงผลงานศิลปะจากแก้ว ตั้งแต่ภาชนะ ถ้วย ชาม ไปจนถึงงานประติมากรรมจากศิลปินที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองโทยามะ ส่วนที่ต้องเสียค่าเข้าชมแสดงในห้องนิทรรศการชั้น 4 เรียกงานแสดงส่วนนี้ว่า “The Collection Exhibition” แสดงผลงาน ศิลปะร่วมสมัยที่จังหวัดสะสมเป็นเวลากว่า 30 ปี มีทั้งผลงานของศิลปินญี่ปุ่น และต่างชาติ หลาย ๆ ชิ้นแสดง หากงานที่ชวนตื่นตาตื่นใจคือส่วนจัดแสดงบนชั้น 6 ที่เรียกว่า “Glass Art Garden” แสดงผลงานของเดล ชิฮูลี (Dale Chihuly)ศิลปินแก้วชื่อดังระดับโลก ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแก้วสวยงามตระการตาไว้มากมาย และวางจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก ผลงานของเดล ชิฮูลี นั้นจะเน้นการสร้างสรรค์ชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยแก้วหลากสีที่ถูกเป่าและขึ้นรูปด้วยมือ กลายเป็นผลงานที่มีชีวิตชีวา ละเอียดอ่อน และสวยงาม งานแสดงของเดล ชิฮูลีที่แสดงในห้องจัดแสดง Glass Art Garden มีด้วยกัน 5 ชุด ชุดแรกตรงบริเวณทางเดินเข้าชมงาน เป็นเหมือนงานเรียกน้ำย่อยนั่นคือชุดที่เรียกว่า “Chandeliers” งานเป่าแก้วขึ้นรูปเป็นโคมไฟระย้าแก้วขนาดใหญ่ รูปทรง สีสัน สดใส งานแก้ว "Chandeliers" ผลงานชุดที่ 2 “Blue Reed” เป็นการนำเอาแก้วสีน้ำเงินมาเป่าและดัดเป็นเส้นสายยาวคล้าย ๆ กก หรืออ้อ จัดเรียงเป็นกลุ่มก้อน งานแก้ว "Blue Reel" ผลงานชุดที่ 3 "Persia Ceiling" ผลงานประติมากรรมแก้วขนาดใหญ่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโคมไฟระย้าจากเปอร์เซีย ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระจกหลากสีสันจำนวนมาก ถูกจัดเรียงให้มีรูปทรงคล้ายดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ โดยถูกติดตั้งบนเพดาน ทำให้ผู้ที่มองขึ้นไปจะรู้สึกเหมือนกำลังมองท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดาวหรือดอกไม้ที่กำลังเบ่งบาน งานแก้ว "Percia Ceiling" ผลงานชุดที่ 4 "Toyama Float Boat" เป็นผลงานประติมากรรมแก้วขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระจกหลากสีสันจำนวนมาก ถูกจัดเรียงให้มีรูปทรงคล้ายเรือลอยอยู่กลางอากาศ งานแก้ว "Toyama Float Boat" ผลงานชุดที่ 5 "Toyama Mille" งานประติมากรรมแก้ว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของโทยามะ ที่มีภูมิประเทศผสมผสานไม่ว่าจะเป็นภูเขา หุบเขา และทะเล งานกระจกบางชิ้นจึงทำให้นึกถึงทะเล โดยเฉพาะงานแก้วที่เป่าและขึ้นรูปเป็นเปลือกหอยขนาดใหญ่ ทำให้นึกถึง ภาวาดกำเนิดวีนัส ของซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) ที่โด่งดัง บางชิ้นทำให้นึกถึงภูเขา รายละเอียด สีสัน ที่ปราณีตและแตกต่างของชิ้นแก้วแต่ละชิ้นที่นำมาจัดวาง ทำให้คนเข้าชมเดินวนดูแล้ว ดูอีก ยิ่งใครชอบถ่ายรูป ถ่ายได้ทุกมุม จนแทบไม่อยากเดินจากไปเลยทีเดียว งานแก้ว "Toyama Mille" หลังจากชมงานแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแก้วโทยามะ ฉันไม่สงสัยเลยว่าทำไม นิตยสารนิวยอร์ก ไทมส์จึงเลือกจังหวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในหมุดหมายการเดินทางสำหรับนักท่องโลกในปี 2025 ภาพประกอบบทความทั้งหมดโดย "วันอาทิตย์" เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !