ซาฟารีเมืองไทย พาฝรั่งไปดูช้างป่าที่กุยบุรี ถ้าพูดคำว่า ซาฟารี นักเที่ยวชาวไทยเกือบทั้งหมดคงคิดถึงทวีปอาฟริกา ที่มีทุ่งหญ้าสีน้ำตาลไหม้ ฝูงวัวป่า ม้าลาย กวางหน้าตาแปลก ๆ วิ่งเกลื่อนทุ่ง มีสิงโตจ้องตะปบเหยื่ออยู่ริมแนวป่า ไท ตะลอนเชื่อว่า นี่คือภาพชินตาในคำว่า ซาฟารี ตามความรู้สึกของคนไทย และถ้าบอกว่า ในเมืองไทยก็มีการท่องซาฟารีเหมือนกันนะ !! คุณผู้อ่านจะเชื่อไหม ?? ป่าเมืองไทยรกจะตายจะมีอะไรให้ดู และที่สำคัญ ไปดูอะไร ดังนั้น ประเดี๋ยวก่อน อย่าพึ่งจองตั๋วเครื่องบินไปอาฟริกา มาตามไปกับไท ตะลอน แล้วคุณจะรู้ว่า เมืองไทยก็มีโปรแกรมส่องสัตว์ป่าซาฟารีเหมือนกัน ที่ไหนนั้น อดใจซักครู่ครับ สัตว์ในป่าฝนเขตร้อน สัตว์ลึกลับรอการค้นพบ ภูมิประเทศในบ้านเรา มีลักษณะพิเศษโดนเด่นไม่เหมือนใคร เป็นพื้นที่ที่มีเพียงแค่ 7 % ของพื้นที่โลกทั้งหมด ถูกเรียกในชื่อของ ป่าฝนเขตร้อน กระจายตัวอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรรอบโลก ป่าฝนเมืองไทยมีชื่อเสียงอย่างยาวนานทั้งพันธุ์สัตว์เรือนพัน พันธุ์พืชเรือนหมื่น เป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้หลงไหลในธรรมชาติได้มาเยือนผืนป่าเมืองไทยเพื่อมาดูความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะบรรดาเหล่าสัตว์ป่าที่แอบซ่อนตัวในป่าฝนเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยมีสัตว์ป่านับร้อยชนิด แต่เป็นดาวเด่นที่ชาวต่างชาติอยากเห็นด้วยตาซักครา คือ ช้างป่าเมืองไทยครับ ซึ่งมีฝรั่งต่างชาติจัดทัวร์มาดูช้างป่าในบ้านเราเยอะมาก กวาดเงินจากบ้านเราไปไม่น้อย อย่ากระนั้นเลย มาทำความรู้จักกับของดีเมืองไทยที่ขนาดคนต่างชาติยังต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาดูช้างป่า แห่งกุยบุรีครับ ช้างป่าแห่งกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เรื่องราวของช้างป่ากุยบุรีถือว่ามีมาเนิ่นนาน ข่าวคราวของช้างกุยบุรีในการรับรู้ของคนไทยครั้งแรกคือ โขลงช้างที่ลงมากินไร่สับปะรดของช้าวบ้าน จนเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนกับช้าง จนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตช้างป่าและมนุษย์ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง จนกระทั่งความทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำรัสว่า ช้างป่าควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารช้างในป่าเป็นแปลงเล็ก ๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า ต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า ดังนั้นในวันที่ 1 สิงหาคม 2542 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ช้างป่ากุยุบรี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วนคือ พื้นที่แปลงเกษตรกรรมของผู้ใดอยู่ในพื้นที่ตอนใน ทางอุทยานของกันพื้นที่เหล่านั้นคืน ส่วนพื้นที่ด้านนอกได้จัดให้มีพื้นที่กันชน มีการปลูกพืชอาหารช้าง เพื่อไม่ให้ช้างเข้าไปทำลายพืชผลของชาวบ้านอีก นับแต่นั้น ความขัดแย้งบาดหมางระหว่างคนกับช้างจึงลดลง และก่อเกิดอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ นั่นคือการพาดูช้างแห่งกุยบุรีนั่นเอง ซาฟารีกุยบุรี ผมมาพร้อมคณะนักท่องเที่ยวที่เป็นนักเรียนนานาชาติกลุ่มใหญ่โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ดูช้าง“ เป็นหลัก การมาดูช้างที่กุยบุรีมีเวลาจำกัดนะครับ เริ่มให้เข้าไปชมช้างได้ตั้งแต่ 14:00 – 17:00 โดยจะต้องนั่งรถของชาวบ้านเข้าไปเท่านั้น โดยค่าเข้าขมรวมค่ารถและค่าอุทยานตกคนละประมาณ 400 บาท เมื่อพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะต้อนช้างไปขึ้นรถ เอ้ย พาพวกเราไปขึ้นรถ โดยรถหนึ่งคันนั่งได้ 6 คน ครับ จากนั้น รถก็จะพาเราวิ่งผ่านพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเข้าไปเป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร โดยจุดที่ดีที่สุดในการชมช้างคือ จุดที่สี่ พุยายสาย และ จุดที่ห้า จุดชมสัตว์ หรือที่หลาย ๆ คนชอบเรียกว่าสนามกอล์ฟช้าง เพราะเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่เรามีโอกาสได้พบฝูงช้าง แม้กระทั่งฝูงกระทิงลงมาหากินหญ้าในพื้นที่แถบนั้น “แดดร้อนมาก ช้างไม่ออก น้องเหลือมาถูกวันละ “ เสียงเจ้าหน้าที่บอกให้ผมทราบถึงโอกาสที่เราจะได้เจอฝูงช้าง วันนี้แดดร่มลมตก อากาศไม่ร้อนมากนัก และแล้ว เมื่อมาถึงพุยายสาย เดิมเป็นแปลงสับปะรดเก่า เราก็ได้เจอกับฝูงช้าง สัตว์เป้าหมายที่เราต้องการเจอแล้ว ยอมรับเลยว่า ไท ตะลอน เจอช้างมาก้อมาก แต่ความรู้สึกของการเห็นช้างในป่า มันให้ความรู้สึกตื่นเต้น ตื้นตันมากกว่าเห็นช้างในคอก ช้างน้อยใหญ่มากกว่า 20 ตัว ยืนโยกตัวไปมา โดยมีลูกเล็ก ๆ วิ่งเล่นอยู่เคียงข้าง ในสังคมของช้าง ช้างตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงลูกจนเติบใหญ่ โดยมีช้างแม่แปรก ช้างตัวเมียอายุแก่สุดเป็นจ่าฝูง และมีเหล่าแม่เลี้ยงคอยปกป้องช้างน้อย เราใช้เวลาดื่มด่ำบรรยากาศแห่ง ซาฟารีกันนานมาก จนกระทั่ง ร่างดำทะมึน พร้อมเขาโง้งกลุ่มใหญ่เดินออกมา ยิ่งกว่าแจ็คพอตแตก ฝูงกระทิงอีกนับสิบลงมาหากินพร้อมกับฝูงช้าง บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของป่ากุยบุรีได้เป็นอย่างดี นับเป็นพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่พระราชดำรัสของพระผู้เป็นที่รักยิ่ง ได้ถูกสานต่อ ก่อเกิดเป็นแผ่นดินที่สงบสุขต่อผู้คนและสัตว์ป่า เป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซาฟารีที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองไทย